xs
xsm
sm
md
lg

ยันโรคไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง “ตาย” ไม่สูง แต่มากกว่า ขรก.- ประกันสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หัวหน้าสาขาโรคไต ม.ขอนแก่น ยันอัตราตายผู้ป่วยไต “บัตรทอง” ไม่สูง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติเพียง 10% แต่รับตายสูงกว่าสิทธิข้าราชการและประกันสังคม เหตุเป็นผู้สูงอายุพ่วงป่วยโรคเรื้อรัง แต่ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยจากเดิมที่เข้าไม่ถึงการรักษา

รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีอัตราการเสียชีวิตสูงเช่นกัน ว่า ก่อนที่จะมีการบรรจุสิทธิประโยชน์รักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในสิทธิบัตรทองเมื่อปี 2551 พบว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิตลงเกือบทั้งหมด มีเพียงแค่ร้อยละ 10 ที่ดิ้นรนรักษาแต่ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะล้มละลาย แต่เมื่อบรรจุสิทธิประโยชน์แล้ว การรักษาครอบคลุมทั้งการฟอกไตด้วยเครื่อง และการปลูกถ่ายไต โดยเฉพาะการล้างไตผ่านช่องท้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาจำนวนมากและมีชีวิตยืนยาว มีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากันกับหลายประเทศที่ใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้อง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเกณฑ์ของนานาชาติ

ยืนยันว่า อัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องไม่ใช่ตัวเลขที่สูง เพราะผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้องเป็นผู้สูงอายุและป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ต้องเสียชีวิตลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยระบบบัตรทองส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยยากจนร้อยละ 80 - 90 การดูแลในด้านสุขอนามัยไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า และผู้ป่วยระบบข้าราชการจะมีเศรษฐานะดีกว่า ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น แม้จะไม่มีระบบบัตรทองผู้ป่วยเหล่านี้ก็มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าอยู่แล้ว แต่ไม่ได้สูงผิดปกติ จึงต้องบอกว่าการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทองนี้ใช้ได้” รศ.นพ.ทวี กล่าว

รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับตัวเลขอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบบัตรทองสูงถึงร้อยละ 70 - 80 นั้น เป็นตัวเลขการเสียชีวิตสะสม 7 - 8 ปี หากจะวัดผลในเรื่องอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยไตในระบบบัตรทองจะต้องลบด้วยอัตราการเสียชีวิตในคนปกติก่อนและนำมาใช้คำนวณได้ ส่วนกรณีวิจารณ์ไม่ควรกำหนดการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นการรักษาวิธีแรกในสิทธิบัตรทองนั้น ต้องอธิบายว่าเพราะเป็นปัญหางบประมาณ และมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการดูแลผู้ป่วย เพราะต้องมาโรงพยาบาลเดือนละ 8 - 9 ครั้ง เพื่อฟอกไตจะเกิดปัญหารองรับและการเข้าถึงการรักษา แต่ด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องทำให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการดูแลทั้งหมด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น