“ผมเหมือนคนตายแล้วเกิดใหม่ ผมโชคดีที่ได้รับบริจาคไต ได้ผ่าตัดเปลี่ยนไต ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ผมไม่รู้หรอกว่าผู้มีพระคุณบริจาคไตคือใคร ผมไม่เคยลืมบุญคุณ ท่านมาช่วยต่อชีวิตให้ยืนยาวขึ้นและหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยโรคไต วันนี้ผมสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป”
นี่คือคำพูดของ นายเอกฉันท์ บุนนาค หนึ่งในผู้ป่วยโรคไต ที่ใช้สิทธิบัตรทอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล่าว่า เมื่อปี 2549 รู้สึกว่าร่างกายมีอาการผิดปกติจึงไปตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ คุณหมอแจ้งว่าป่วยด้วยโรคไต คุณหมอแนะนำให้ฟอกเลือดซึ่งเราไม่สามารถไปต่อคิวหน่วยงานของรัฐได้เนื่องจากเครื่องมีจำนวนจำกัด แต่คนไข้เข้าคิวจำนวนมาก พูดง่ายๆ “ล้น” ต้องไปพึ่งบริการศูนย์ฟอกไตของเอกชน การฟอกไตของเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 2,500 บาท จะต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่ายากดภูมิ เมื่อรวมๆ กันแล้วนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ฟอกไตอยู่ 8-9 ปี ในระหว่างที่ฟอกไตก็ไปลงชื่อจองคิวขอรับบริจาคไตไว้ที่ รพ.จุฬาฯ ด้วย
ในช่วงแรกๆ ที่ป่วยยอมรับว่าตัวเองเครียด เพราะทำให้ครอบครัวลำบากมากต้องแบกรับค่ารักษาในแต่ละเดือนสูงมาก แทบจะหมดเนื้อหมดตัว จนกระทั่งโครงการบัตรทองครอบคลุมค่ารักษาโรคนี้ (จำไม่ได้ว่าปีไหน) รู้สึกว่าได้เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ มีหนทางรอดแล้ว
“คนป่วยโรคไตสมัยก่อนลำบากกันมาก บางรายไม่กล้ามาหาหมอเพราะกลัวไม่มีเงินจ่าย พอโครงการบัตรทองเข้ามาดูแลโรคไตโดยเฉพาะ ผมว่าเป็นข่าวดีของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยามากขึ้น ผมคนหนึ่งล่ะที่เข้ารับการรักษาและผ่าตัดเปลี่ยนไต เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากไม่มีโครงการบัตรทอง ผมคงแย่เหมือนกันต้องหาเงิน 3-4 แสนบาทมาเป็นค่าใช้จ่ายผ่าตัด และดูแลหลังผ่าตัด” นายเอกฉันท์กล่าว และว่าหลังรับการผ่าเปลี่ยนไต คุณหมอจะนัดตรวจอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกๆ จะค่อนข้างถี่ ช่วงหลังจะนัดห่างขึ้น 2-3 เดือนครั้ง ที่ผ่านมาผมจะปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอไม่ว่าจะเรื่องอาหาร กินยา ออกกำลังกาย พูดได้เต็มปากว่าวันนี้ผมใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ
นายเอกฉันท์กล่าวว่า ภายหลังได้รับการผ่าเปลี่ยนไต ตนและครอบครัวกลับมามีรอยยิ้มอันสดใส ที่สำคัญครอบครัวเราปรับทัศนคติมาเป็นผู้ให้ ช่วยเหลือสังคม ซื้อผ้าอ้อม น้ำยาซักผ้าเด็ก ของใช้เด็กไปบริจาคให้เด็กอ่อนในสลัม และสถานที่อื่นๆ อีกทั้ง ตน ภรรยา และสมาชิกในครอบครัวเห็นความสำคัญของการบริจาคร่างกายว่าหนึ่งร่างกายของเราอาจช่วยคนได้อีกหลายชีวิต จึงได้ลงชื่อบริจาคร่างกายไว้ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์แล้ว
ขณะที่ นายธนพล ดอกแก้ว ในฐานะประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การป่วยเป็นโรคไตไม่ต่างอะไรจากการล้มละลาย เงินที่ทำงานเก็บมาทั้งชีวิต บางรายต้องคอยหาเงินเพื่อมารักษาตัว ครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่การมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือบัตรทอง ทำให้ผมและผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา ช่วยให้ผมรอดชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อก่อนไม่มีโครงการ 30 บาท ผู้ป่วยโรคไต ใช้ชีวิตกันลำบากมาก เจ็บป่วยก็ไม่กล้าไปหาหมอ รักษากันตามมีตามเกิด พอมีโครงการบัตร 30 บาท ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และสิทธิในการรักษา สำหรับผู้ป่วยไตรื้อรังที่ถือบัตรทอง หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าจะการรักษาการล้างไตผ่านช่องท้อง วิธีการรักษานี้ถือเป็นการล้างไตที่เป็นมาตรฐาน อีกทั้งผู้ป่วยสะดวกสามารถล้างได้เองที่บ้าน เพียงแต่ต้องเน้นความสะอาดอย่าให้ติดเชื้อเท่านั้น หากใช้วิธีการฟอกเลือดจะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล หรือศูนย์ฟอกไต ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินทางมาคนเดียวได้ต้องมีญาติมาด้วย เพราะผู้ป่วยโรคไต ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ
นายธนพลกล่าวว่า ส่วนตัวให้เครดิตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษา จัดระบบส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งไม่ต้องรอคิวในการรักษานานเหมือนในอดีต
... การรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ทางที่ดีควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพมาให้ความรู้ สาเหตุของการเกิดโรค รู้ถึงพิษภัยของโรค เชื่อว่าเมื่อรู้กันแล้วคงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ผู้ป่วยไตอาจลดลง คนไทยสุขภาพดี ไม่มีโรครุมเร้า คุณภาพชีวิตคนไทยก็ดีขึ้นด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่