xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๑๘) วันขึ้นปีใหม่ในจิตตนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ศีลวินัยรักษาไตรทวาร หิริโอตตัปปะเป็นนครบาล

เพื่อแก้ไขความยุ่งยากของจิตตนคร ที่เกิดจากการคุมอำนาจของสมุทัยและพรรคพวก คู่บารมีได้แนะนำนครสามีให้เรียก ศีล หิริโอตตัปปะ เข้าพบด่วน เมื่อได้รับความยินยอมเห็นชอบจากนครสามีแล้ว คู่บารมีได้นำศีลและหิริโอตตัปปะเข้าพบนครสามีทันที

นครสามีได้สอบถามบุคคลทั้งสาม และบุคคลทั้งสามได้ตอบดังนี้

ถามว่า ไหนศีลจะทำอย่างไร
ตอบว่า ศีลจะทำให้เกิดความงดเว้นจากทุจริตทั้งหลาย ให้ประพฤติในทางสุจริตโดยไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ

ถามว่า ไหน หิริโอตตัปปะจะทำอย่างไร
ตอบว่า หิริจะทำให้จิตใจมีความละอายต่อบาปทุจริต รังเกียจบาปทุจริต เหมือนอย่างชายหนุ่มหญิงสาวผู้กำลังรักสวยรักงามรังเกียจต่อสิ่งสกปรกทั้งหลาย ไม่ปรารถนาจะถูกต้อง โอตตัปปะจะทำให้จิตใจมีความเกรงกลัวต่อผลของบาปทุจริต เหมือนอย่างคนกลัวต่ออสรพิษ คือกลัวต่อผลของการจะถูกงูกัดกล่าวคือความตาย

ถามว่า จะขอเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างเล่า
ตอบว่า ศีลจะขอผู้ช่วยชื่อว่าวินัย และขอไตรทวารเป็นที่ทำงาน ส่วนหิริโอตตัปปะจะขอความละอายและความกลัวของจิตใจมาเป็นเครื่องมือ

ถามว่า วินัยเป็นอะไร
ตอบว่า เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นไว้สำหรับบ้านเมือง ดังที่เรียกว่ากฎหมายก็มี เป็นบทบัญญัติของพระพุทธเจ้าก็มี

และคู่บารมีได้ช่วยชี้แจงว่า พระบรมครูได้ทรงตั้งหิริโอตตัปปะทั้งคู่นี้ให้เป็น “โลกบาล” ที่แปลว่า “ผู้คุ้มครองโลก” ฉะนั้น ก็ขอให้เจ้าเมืองจิตตนครรับศีลและวินัยมาเป็นผู้รักษาไตรทวารของจิตตนคร และตั้งให้หิริโอตตัปปะเป็น “นครบาล” ของจิตตนคร เจ้าเมืองก็ยินยอมตกลงในที่ต่อหน้าคู่บารมี

ครั้นได้รับหน้าที่แล้ว ศีลและวินัยก็เข้าตั้งสำนักงานรักษาไตรทวารของจิตตนคร วินัยก็รวบรวมกฎหมายของบ้านเมือง และพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า อันเหมาะแก่ภาวะสำหรับชาวจิตตนครปฏิบัติ ศีลชักนำส่งเสริมคนให้รักษาวินัย คือให้ปฏิบัติกฎหมายและพระบัญญัติของพระพุทธเจ้า คอยห้ามคนให้งดเว้นจากความล่วงเกินละเมิดกฎหมายและพระบัญญัติ ช่วยกันรักษาไตรทวารของจิตตนครไว้

ก่อนที่ศีลและวินัยเข้ามานั้น กฎหมายถึงจะมีก็เหมือนไม่มี พระบัญญัติของพระพุทธเจ้าไม่ต้องกล่าวถึง พวกโจรผู้ร้ายหรือทุจริตต่างๆ พากันเข้ามาทางไตรทวารของจิตตนคร คือทวารกาย ทวารวาจา ทวารใจ ที่เรียกตามภาษาของจิตตนครว่า กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร เข้าลักขโมยฉกชิงวิ่งราวปล้นสะดมชาวจิตตนครอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนระสํ่าระส่าย

ครั้นเมื่อศีลและวินัยเข้ามารักษาไตรทวารของเมืองอยู่ พวกผู้ร้ายต่างๆก็เข้ามาไม่ได้ และอาศัยนครบาลช่วยตรวจตราสอดส่องอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ที่จะคิดร้ายเกิดความละอายเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะทำความผิดต่างๆ ทำให้เกิดความอบอุ่นอยู่เย็นเป็นสุขทั่วจิตตนคร

วันขึ้นปีใหม่ในจิตตนคร

ปีใหม่แห่งชาวโลกทั่วไปได้ย่างมาถึง ได้มีการแสดงความยินดีรื่นเริงกันเป็นพิเศษ ฝ่ายในจิตตนครก็มีการขึ้นปีใหม่กันเช่นเดียวกัน และได้มีบุคคลต่างๆ กล่าวคำปราศรัยในโอกาสนี้ เป็นต้นว่า นครสามี ผู้เป็นเจ้าเมืองจิตตนครได้กล่าวคำปราศรัยว่า

จิตตนครได้ดำรงผ่านมาอีกปีหนึ่ง ในขวบปีที่ผ่านมานั้นได้มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมาก ทั้งในด้านสุข ทั้งในด้านทุกข์ ก็ได้พยายามแก้ไขเหตุการณ์ในด้านทุกข์ให้กลับเป็นสุขอย่างเต็มความสามารถ ขอขอบใจผู้ที่ช่วยทั้งหลาย เช่น สมุทัยและพรรคพวก และคู่บารมีกับพรรคพวก ในปีใหม่ก็ขอให้ช่วยกันต่อไปเพื่อความสุขความเจริญของจิตตนคร

สมุทัยได้กล่าวปราศรัยว่า สมุทัยเป็นตัวแห่งความสุข อย่าเข้าใจว่าสมุทัยเป็นเหตุแห่งทุกข์ สถานรื่นเริงบันเทิงสนุกทั้งปวงสมุทัยสร้างขึ้นทั้งนั้น ได้สร้างภาพยนตร์ให้ดูกันทั้งเมืองตลอดวันคืน ปีใหม่จะสร้างสิ่งที่บำรุงสุขสนุกสนานให้มากขึ้นไปอีก

และอย่าได้กลัวต่อโลโภ โทโส โมโห และพรรคพวก ต่างช่วยกันสร้างความมั่งมีศรีสุขทั้งนั้น มิใช่เพราะโลโภดอกหรือ จึงพากันรํ่ารวยเป็นเศรษฐีไปตามกัน ถ้าใครไม่คบหากับโลโภ ก็ยากที่จะเป็นเศรษฐี มิใช่เพราะโทโสดอกหรือ จึงมีเดชอำนาจเป็นที่กลัวเกรงของใครๆ มิใช่เพราะโมโหดอกหรือ จึงมีความสุขสนุกสนานอยู่ในโลกได้ ในปีใหม่ ใครปรารถนาสุขก็ให้หมั่นเชื่อฟังสมุทัย คบหากับโลโภ โทโส โมโห ให้มากขึ้นเถิด

ฝ่ายคู่บารมีได้กล่าวปราศรัยว่า ให้คิดทบทวนถึงเหตุการณ์ในปีเก่า พิจารณาดูให้เห็นเหตุผล อย่าด่วนเชื่อฟังใครง่ายๆ แม้ที่คู่บารมีได้กล่าวอยู่นี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อก่อน ให้พินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อน ทุกคนมีหัวคิดอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ยั้งคิด ทุกข์เดือดร้อนต่างๆในจิตตนครเกิดจากการที่ทำขึ้น และการที่ทำขึ้นนั้นเล่าเกิดจากอะไร ถ้ามิใช่จากจิตใจที่ประกอบด้วยโลภโกรธหลง ฉะนั้น ในปีใหม่ก็ให้รู้จักยับยั้งจิตใจ อย่ายอมต่อความโลภโกรธหลง จะมีความสุขกว่าปีเก่าแน่นอน

ส่วนศีลได้กล่าวปราศรัยให้พากันประพฤติงดเว้นทุจริตทางไตรทวาร หิริโอตตัปปะกล่าวปราศรัยให้พากันละอายรังเกียจความชั่ว ให้พากันเกรงกลัวต่อความชั่วร้ายทั้งปวง แต่อย่ากลัวต่อบุญที่เป็นความดีหรือการกระทำความดีทั้งหลาย ดังนี้จะมีความสุขยิ่งขึ้นในปีใหม่แน่นอน

ในนครต่างๆของโลก คำปราศรัยของใครๆ มักจะตบแต่งเป็นอย่างดี เช่นแม้จะอยากได้ก็ตบแต่งแสดงเป็นเหมือนไม่อยากได้ ถึงจะโกรธก็ตกแต่งแสดงเป็นเหมือนไม่โกรธ แต่ในจิตตนครต่างแสดงกันโดยเปิดเผย ดังจะเรียกว่าโดยสัญชาตญาณหรืออะไรทำนองนี้

ฝ่ายพระบรมครูก็ได้ประทานพระพุทธโอวาท ความว่า “พึงอบรมใจให้มีเมตตาแผ่ไปในโลกทั้งปวงเถิด” พระสุรเสียงดังไปทั่วจิตตนคร แต่ก็มีข้อแปลกว่า หาได้ยินกันทั่วไปไม่ ทั้งที่พระสุรเสียงก็ดังพอได้ยินถนัด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น