xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ “ยาแก้ปวดข้อ” เกินขนาด เสี่ยงโรคไตเรื้อรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระวังใช้ยาแก้ปวดข้อเกินขนาด เสี่ยงโรคไตเรื้อรัง แพทย์เตือนควรปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดอาหารเค็มจัด ออกกำลังกาย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมี.ค. เป็นวันไตโลก ซึ่งปัญหาโรคไตเรื้อรังถือว่าเพิ่มสูงขึ้น เพราะรักษาไม่หายขาด สาเหตุสำคัญมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคพันธุกรรมทางไต หรือใช้ยามากเกินปริมาณที่กำหนด โดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปมักเข้าใจว่ายาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านยา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเป็นยาที่ปลอดภัย เพราะไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่ความเป็นจริงยาเหล่านี้อาจสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้

“ปกติร่างกายคนเราจะมีไต 2 ข้าง ทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดและควบคุมจำนวนน้ำ เกลือแร่ และสารต่างๆ ในร่างกายให้สมดุล หากไตเสื่อมสภาพลงเหลือเพียง 25% จะแสดงอาการของโรค คือ ปัสสาวะบ่อยหรือขัด ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และความดันโลหิตสูง หากพบอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนที่รั่วออกมา หรือตรวจเลือดหาสารที่เป็นของเสียที่คั่งอยู่ ซึ่งไตไม่สามารถกรองออกมาได้ตามปกติ การตรวจภาพทางรังสีเพื่อเอกซเรย์ดูไต ทั้งนี้ หากเป็นระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของไตให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติได้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า หากไม่ได้รับการรักษาไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึง 10 - 15% จนเกิดอาการไตวายระยะสุดท้าย ต้องรักษาด้วยการล้างไตหรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งหากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิต ผู้ที่ควรตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมไปถึงผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต สำหรับการดูแลสุขภาพไตคือ ปรับพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารเค็มจัด ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6 - 8 แก้ว งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที เลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ และหมั่นตรวจสุขภาพทุกปี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น