เราอยู่ในโลกนี้ ในแต่ละวันอารมณ์เกิดขึ้นกับเรามากเกินไป เดี๋ยวดีใจ เสียใจ วุ่นวายไม่จบ จิตเราจึงไม่ค่อยสงบ ความรู้สึกของคนจึงเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ เราอยู่ด้วยอารมณ์ ท่านจึงให้เอาอารมณ์ให้จิตเล่น ใช้อารมณ์มาเป็นอุปกรณ์ในการฝึกสมาธิ
เช่นการกำหนดอารมณ์อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก เราจะนึกคำว่า “พุท” ขณะหายใจเข้า นึกคำว่า “โธ” ขณะหายใจออกก็ได้ หรือจะไม่กำหนด “พุท-โธ” ก็ได้
เพราะที่จริงแล้ว พุทโธ แปลว่า “ผู้รู้” เมื่อเราเฝ้าดูลมเข้า-ออกให้รู้ชัดเจน ความรู้นี่แหละเรียกว่าพุทโธ ดังนั้น เราจะไม่ว่าพุทโธในใจก็ได้ เดี๋ยวว่าไปว่ามาบางคนก็ขี้เกียจว่าอีกนั่นแหละ เมื่อเราตั้งใจทำไปจะเป็นพุทโธ คือผู้รู้ขึ้นเอง คือรู้อยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์อื่นไม่แปลกปลอมเข้ามา จิตจะสงบขึ้นเรื่อยๆ
หรือบางคนอาจจะนึกในใจว่า “ยุบหนอ...พองหนอ” อันนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ถึงเราไม่ว่ายุบหนอพองหนอ เมื่อเราหายใจเข้า-ออก ท้องมันก็ยุบเองพองเองของมัน ไม่ต้องไปว่ายุบว่าพองก็ได้ แต่ที่ท่านให้นึกคำเหล่านี้ในใจนั้น เพื่อให้เราตั้งใจทำเท่านั้นเอง ถึงจะว่า “พุทโธ” “ยุบหนอ-พองหนอ” หรืออะไรก็ตาม รวมแล้วคือการกำหนดให้จิตมีอารมณ์เดียว ให้รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก
การทำกรรมฐานชนิดนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมาก ให้รู้ลมเข้า-ออกเท่านั้น กำหนดดูลมให้สบายๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเมื่อไหร่หนอจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าคิดเลยมันจะวุ่นวาย
ขณะนั่งสมาธิ ให้เราตั้งใจดูลมเข้า-ออกตลอดเวลา แล้วพยายามตั้งสติขึ้นไว้ให้รู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ลืม ให้นึกได้อยู่เสมอ จดจ่ออยู่กับอารมณ์อันนั้น ใจเราจะผ่องใส ไม่ง่วงเหงา ไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะเห็นอารมณ์ชัดเจน เมื่อไม่ง่วง ไม่รำคาญ ไม่วุ่นวาย เราก็จะรู้จักจิตและอารมณ์ตามความเป็นจริง
จิตคืออะไร? จิตอยู่ตรงไหน? อยู่อย่างไร? ใครรู้จักไหม?
เราจะฝึกจิต ต้องรู้ก่อนว่า จิตคืออะไร? อยู่ที่ไหน? โดยมากเราไม่ค่อยรู้จักกัน เมื่อรู้สึกวุ่นวายขึ้นมาก็ว่าจิตวุ่นวาย ไม่รู้ว่าทำไมจิตถึงวุ่นวาย?
ถ้าพูดให้ชัดเจน จิตนี้ก็ไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน จิตคือความรับรู้ แต่สมมติเรียกความรับรู้นั้นว่าจิต เลยงงกันใหญ่ จิตคืออะไรหนอ? พากันคิดมากไป ถ้าพูดง่ายๆ สิ่งที่รับรู้อารมณ์ดีอารมณ์ชั่ว นั่นแหละเรียกว่าจิตหรือผู้รับรู้ แต่จะเรียกว่าผู้รู้จริงยังไม่ได้ เพราะยังมีความหลงปนเปกันอยู่ในความรู้นั้น
ถ้ามีจิตที่รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทุกข์ คือจิตที่ฝึกแล้วจะรู้จักแยกอารมณ์ออกจากจิต อารมณ์ทั้งหลายจะทำให้จิตรู้สึกดีใจเสียใจไม่ได้ แต่จิตที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม ถ้ารู้อารมณ์แล้วชอบก็รู้สึกดีใจ ถ้าไม่ชอบก็เสียใจ
ดังนั้น จึงให้เราเอาความรู้ตามความเป็นจริงนั้นมาอบรมจิต เพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านมาผ่านไป ให้รู้เรื่องของอารมณ์จนกว่าจิตจะสงบ
เมื่อจิตสงบลงไปพักหนึ่งแล้ว เราจะเพ่งให้ความสงบไปไหนมันก็ไม่ไปนะ มันขี้เกียจไปเหมือนกัน เมื่ออาการจิตเป็นอย่างนี้เรียกว่า “จิตมีสมาธิ” แต่ยังไม่มีปัญญา มันสงบอยู่เฉยๆ อาการนี้เกิดเป็นบางครั้งไม่แน่นอน นานๆจะเป็นสักทีหนึ่ง
บางทีวันนี้สงบ พรุ่งนี้ทำอีกกลับไม่สงบ บางคนก็แปลกใจ เอ!...เมื่อวานทำไมสงบดี วันนี้ไม่ได้เรื่องได้ราวเลย มันเป็นเพราะอะไรหนอ? ก็วุ่นวายอยู่กับความคิดสงสัยตลอดเวลา
อาการสงบที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ ให้เข้าใจเลยว่า เป็นความสงบที่ยังไม่แน่นอน เช่น หูเรามีอยู่ เมื่อมีใครด่าถ้าเราไม่ได้ยิน เราก็ยังสบาย ความโกรธไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าอีกวันหนึ่ง เขามาด่ากรอกหูเราซิ ความโกรธเกิดขึ้นทันทีเลย
ความสงบในขั้นนี้ก็เหมือนกัน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากจิตปราศจากอารมณ์ เหมือนหูไม่ได้ยินคนด่า มันสงบอยู่เฉยๆ แต่เมื่อมีอารมณ์มาพัวพันแล้ว ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นเลย ทั้งดีใจ เสียใจ ชอบไม่ชอบ วุ่นวายขึ้นมาทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องโกรธตัวเองว่าปฏิบัติแล้ว ทำไมยังเป็นคนอย่างนี้ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชังวุ่นวายไปหมด อย่าไปคิดอย่างนั้น
ความสงบในขั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ยังไม่แน่นอน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นเพราะไม่ได้เห็นอะไร ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน จึงเป็นความสงบที่ยังไม่เด็ดขาด เพราะยังไม่รู้ตามความเป็นจริง เหมือนกับเรายังไม่ได้เห็นได้ยินคนด่าเรานั้นแหละ มันก็เลยสงบ หรือเหมือนกับใบไม้ยังไม่ถูกลมพัดก็สงบนิ่ง ถ้ามีลมพัดมาใบก็กวัดแกว่งไปตามแรงลม
จิตที่สงบขนาดนั้น เหมือนกับใบไม้บนต้นไม้ เมื่อลมพัดมาก็กวัดแกว่ง เป็นความสงบที่มีอายุสั้นมาก ความสงบขั้นนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยการกำหนดจิตจดจ่อไว้กับอารมณ์เดียว คือลมหายใจเข้า-ออก ท่านเรียกว่า สงบจิตไม่ใช่สงบกิเลส กิเลสสิ่งที่ทำให้วุ่นวายยังอยู่เยอะ ขั้นต่อไปจึงต้องสร้างปัญญาให้เกิด เพื่อให้จิตสงบอยู่เสมอ
เมื่อก่อนความสงบเกิดขึ้นเพราะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่พอมีใครมาด่าว่ากระทบกระทั่งก็วุ่นวายขึ้นมาอีก คราวนี้เราจะทำขั้นต่อไป คือ แม้ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง อะไรก็ตาม เราจะให้มีความสงบอยู่ ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นการทำให้จิตรู้ขึ้นมากกว่าเดิม เป็นการรู้ชัดด้วยปัญญา แล้วสงบด้วยปัญญา ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้น เราต้องหล่อเลี้ยงให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร? ให้อาหารมันซิ เหมือนเราโตขึ้นมานี่ ก็เพราะได้กินข้าวกินน้ำ
การทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ต้องอาศัยกำหนดอารมณ์ขึ้นเหมือนกัน แต่อาหารของปัญญาไม่เหมือนกับอาหารของการทำสมาธิเบื้องต้นที่ว่า พุท-โธ หรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกอย่างเดียว เราต้องเปลี่ยนอาหารใหม่ให้จิต คือ เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นในจิตใจ เราก็นึกตลอดเวลาว่า อันนี้ไม่เที่ยง อันนั้นก็ไม่เที่ยง อะไรๆก็ไม่แน่ จะสงบหรือวุ่นวายแค่ไหน ก็บอกจิตตัวเองว่า เออ!...อันนี้ไม่แน่ จะชอบจะชังอะไรขนาดไหนก็ตาม บอกตัวเองอยู่เสมอว่า...อันนั้นมันไม่แน่
บอกจิตแค่นี้แหละ ปัญญาจะโตขึ้นมาเรื่อยๆ ทำไมถึงโตขึ้น ทำไมจิตจึงมีความรู้เท่าทันอารมณ์มากขึ้น เพราะจิตเห็นตามความเป็นจริง คือความไม่เที่ยงตามที่เราบอกให้พิจารณาอยู่นั่นเอง
เมื่อก่อนจิตเราหลงอารมณ์ เชื่ออารมณ์มากเกินไป อารมณ์ดีเกิดขึ้นมาก็ตะครุบไว้ อารมณ์ไม่ดีก็ตะครุบไว้มันจึงกัดเอา ดีมันก็กัด ไม่ดีมันก็กัด
ถ้าเราบอกจิตว่า อย่าไปตะครุบมัน อารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาก็ว่า เออ!...อันนี้ไม่แน่หรอก ถ้าเราไม่ไปตะครุบมัน มันก็ไม่กัดเราหรอก
บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนสักอย่าง ทุกข์เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสุข สุขแล้วทุกข์ สงบแล้ววุ่นวาย ดีใจแล้วเสียใจ ชอบแล้วเบื่อแล้วชังไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เมื่อเรารู้เรื่องชัดเจนเช่นนี้ รู้ว่าอารมณ์ทุกอย่างมันมีของมันอยู่อย่างนั้น ที่มันให้ทุกข์ให้โทษเราก็เพราะเราไปยุ่งกับมัน ไปยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ความจริงมันไม่ได้เป็นของใคร มันเกิดแล้วก็ดับไป
ถ้าเราเห็นชัดเจนเช่นนี้ ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง ต่อไปก็เห็นอารมณ์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ชอบก็สักแต่ว่าชอบ ไม่ชอบก็สักแต่ว่าไม่ชอบ สุขก็สักแต่ว่าสุข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ มีแต่เรื่องธรรมดาทั้งนั้นแหละ จะไปยึดถือให้มันวุ่นวายทำไม? นี่เรียกว่าปัญญาโตขึ้นแล้ว
เมื่อมีปัญญา จิตก็รับรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อก่อนอารมณ์เกิดขึ้นมา เราก็ยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้จิตของเรารู้จริงแล้ว คือรู้ว่าอารมณ์เป็นอย่างไร แล้วก็วาง รู้แล้ววาง ไม่ตะครุบอารมณ์อีกแล้ว เพราะตะครุบเมื่อไหร่มันก็กัดเอาเมื่อนั้น
ที่จิตไม่ตะครุบอารมณ์เหมือนก่อน ก็เพราะจิตเรารู้ว่า อะไรก็ไม่เที่ยงไม่แน่ ทำไมจะต้องให้มันมาทำให้เราวุ่นวาย การรู้เห็นเช่นนี้เรียกว่า ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีปัญญารู้จักความจริงของจิต ของอารมณ์ ของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นเด็กก็เรียกว่ามันโตขึ้นมาบ้างแล้ว
การทำกรรมฐาน การฝึกสมาธิเจริญปัญญา อย่าไปแยกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลย จะเรียกสมถะวิปัสสนาอะไรก็ตามเถอะ ไม่ต้องเถียงกันว่าอันนั้นถูกอันนี้ผิด บางคนทำสารพัดอย่าง ไม่ได้ผลสักที
ความเป็นจริงทำแบบไหนก็ได้ให้มันถูกกับจริตของเรา และที่สำคัญคืออย่าทำด้วยความงมงาย ต้องทำด้วยการพิจารณาและปัญญา
การฝึกจิตให้สงบและเกิดปัญญา ด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกนี่สะดวกที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะยืนเดิน นั่ง นอน หรือทำอะไรก็ต้องหายใจอยู่แล้ว ถ้าไม่หายใจก็ตายเท่านั้นเอง
เราไม่ต้องไปคว้าอย่างนั้นอย่างนี้มาให้ยุ่งยาก วิธีนี้ง่ายที่สุด เพราะเรามีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว จะทำที่ไหนก็ได้ นั่งทำงานหรือพักผ่อนอยู่ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออกได้ทั้งนั้น เมื่อทุกอย่างพร้อม คือเรามีความตั้งใจจะทำ มีวิธีที่ถูกต้อง มีลมหายใจอยู่ มันก็ง่ายและสงบขึ้นเรื่อยๆ
เราไม่ต้องสงสัยว่า ความสงบมีอยู่หรือไม่ เพราะบางคนทำไปจิตใจยังไม่สงบสักที มีแต่ง่วง ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย
ความจริงความสงบมีอยู่ อย่าเข้าใจว่าไม่มี หรืออย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ จะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น เราไปสอบวิชาหนึ่ง เขาเขียนปัญหาให้เราตอบ พออ่านปัญหาแล้วก็ร้องโอ๊ย!...ตอบไม่ได้หรอก ทำไมจึงตอบไม่ได้? ความจริงทุกปัญหามีคำเฉลยทั้งนั้น ถ้าเฉลยไม่มี ปัญหาไม่มีหรอก
เรายังไม่สบาย ก็เพราะทำยังไม่ถึงที่ของมัน ให้เราค้นคว้าหาความสงบตรงนี้ ตรงที่มันฟุ้งซ่าน รำคาญ วุ่นวายนี่แหละ ความสงบมันมีอยู่ ไม่หนีไปไหนหรอก
พระพุทธเจ้าของเรา ท่านปฏิบัติครั้งแรก การเรียนของท่านก็ไม่มีอะไรมากหรอก ท่านพิจารณาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวนี่แหละ ท่านเกิดสลดใจที่เห็นคนเจ็บคนตาย จึงคิดว่ามีเกิดแล้วก็มีตาย เพราะเกิดมาจึงมีความทุกข์มาก แล้วไม่เกิดก็น่าจะมีเหมือนกัน มืดแล้วยังมีสว่าง มันต้องมีทางแก้กันได้
ท่านคิดเปรียบเทียบเท่านี้ แล้วก็พิจารณาไปจนเห็นชัดขึ้นมาว่า ความทุกข์มีขึ้นเพราะความเกิด ท่านรู้เหตุของความทุกข์ว่าคืออุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ปรุงแต่งเป็นความเกิด
ความเกิดมีขึ้นเพราะอะไร? เพราะอุปาทานคือการที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เช่น ลำไยต้นหนึ่งอยู่หน้าบ้านของเรา นี่เรียกว่าของเรานะ เราดูแลมันทุกวัน ลำไยต้นนี้เป็นของเรา นั่นอุปาทานเกิดแล้ว
ถ้าบ้านถัดไปมีต้นลำไยเหมือนกัน เราก็คิดว่านั่นไม่ใช่ของเรา วันต่อไปมีคนมาตัดต้นลำไยหน้าบ้านเรา เราก็เกิดความทุกข์หรือความโกรธขึ้นมา นี่!...ความเกิดมีขึ้นแล้ว
วันรุ่งขึ้นเขาไปตัดต้นลำไยบ้านคนอื่น เราไม่เป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่ลำไยของเรานี่ เรื่องเท่านี้แหละที่ทำให้สุข-ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเขาตัดของเรา เราก็เป็นทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของเรา อุปาทานเป็นอย่างนี้ ความเกิดอยู่ตรงนี้...เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดอะไรขึ้นมาเพราะอุปาทานนี้เอง
พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นว่า อุปาทานเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ฯลฯ เกิดทุกข์ขึ้นมา
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เรียกว่าการฝึกจิต จิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคน ถ้าจิตหลงแล้ว อะไรๆก็หลงไปหมด ท่านจึงให้ฝึกจิตกัน จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ จิตที่กวัดแกว่งหวั่นไหวไปตามอารมณ์ดีอารมณ์ร้าย เป็นจิตที่ยังไม่ได้รับการอบรมทำให้เราวุ่นวายอยู่เสมอ
การฝึกทำกรรมฐาน จึงเป็นการอบรมจิต แต่ก็ไม่ใช่ของทำง่ายๆ มันทำลำบากเหมือนกัน แต่ว่าความง่ายก็อยู่ในที่มันยากนั่นแหละ ตั้งใจทำไปด้วยความสม่ำเสมอ จะค่อยๆง่ายขึ้นมา
ความลำบากยากแค้นอันเป็นปัญหาของเรา อยู่ในความคิดผิดนั่นเอง ไม่ใช่ว่าทำกรรมฐานแล้วมันจะหายไปอย่างรวดเร็วเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเราไม่รู้เรื่องจิตและอารมณ์มานานแล้ว เรายึดมั่นว่าอะไรก็เป็นของเรา นั่นตัวเรา นั่นบ้านเรา นี่ลูกเรา มันจึงวางใจลำบาก จนกว่าจะเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาคือไม่มีเขาไม่มีเรานั่นแหละ จึงจะสบายขึ้นมา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)