การได้มองดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างพินิจ อาจนำให้เกิดความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อการดำเนินชีวิตของเราได้ ลองมองดูความสว่างไสวในยามราตรี แล้วใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนของตนเอง อะไรคือสัจธรรมในแสงสว่างนั้น?
เมื่อสามารถหาสาระจากคำถามนี้ได้ นี่ก็อาจจะเป็นกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประสงค์
แสงสว่างเหล่านั้นมาจากไหน? คำตอบน่าจะตรงกันว่า มาจากหลอดไฟหลากหลายชนิดที่มีไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้น ลองคิดต่อไปอีกสิว่า กว่าจะเป็นหลอดไฟที่ทันสมัยนี้ ต้องผ่านวิวัฒนาการมามากน้อยเพียงไร? ชื่อของ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบนี้
เพราะเหตุที่ โทมัส อัลวา เอดิสัน คำนึงถึงการนำหลอดไฟฟ้ามาใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง จึงทำให้เขาค้นคว้าหาวิธีทำให้อายุการใช้งานของหลอดไฟฟ้า ยาวนานพอที่จะนำไปใช้ได้อย่างสะดวกสบายในบ้านเรือนหรือร้านค้า ตลอดถึงการสร้างระบบผลิตและแจกจ่ายไฟฟ้าอีกด้วย
ซึ่งต่อมาเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก และก่อตั้งอีกหลายบริษัทในด้านไฟฟ้า นี่จึงเป็นส่วนสำคัญของวิวัฒนาการหลอดไฟฟ้า
นอกจากนี้ โทมัส อัลวา เอดิสัน ยังเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น เขามีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของตนเองเป็นจำนวนถึง ๑,๐๙๓ ชิ้น นิตยสารไลฟ์ (Life)ได้ยกย่องให้เอดิสันเป็น ๑ ใน “๑๐๐ คนที่สำคัญที่สุดในช่วง ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา”
ด้วยผลงานที่มากมาย ทำให้เอดิสันถูกนักข่าวรุมถามเสมอว่า “คุณคิดอย่างไรกับการที่คนทั่วไปเรียกคุณว่าอัจฉริยะ ?” เอดิสันตอบว่า “คำว่า อัจฉริยะ ในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง ๑% ส่วนอีก ๙๙% มาจากความพยายาม”
วันนี้หลายคนได้ทราบแล้วว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน และทีมงานของเขา ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการพิชิตอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการประดิษฐ์สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์
ซึ่งนี่ก็สอดคล้องกับพระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งว่า
“...เมื่อทำงานอะไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะมีต่อส่วนรวมทั้งนั้น จะเป็นความคิดอะไร หรือเป็นลัทธิอะไร ต้องทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา
เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสมองที่จะคิดที่จะหาค้นความรู้เพื่อให้ก้าวหน้า สู่อะไรเราก็ยังไม่ทราบ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็เข้าใจว่าจะต้องพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ เพื่อให้ได้ทำหน้าที่ตามที่เราเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์
เราจะต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งได้รายงานว่า มีบางสิ่งบางอย่าง มีจุดประสงค์บางอย่างยังไม่บรรลุ เพราะว่ามีอุปสรรค
อุปสรรคเหล่านั้นเป็นสิ่งธรรมดาของโลก เราเกิดมาต้องมีอุปสรรคตามที่เป็นหลักของชีวิต คือเกิดมาแล้วต้องมีอุปสรรค คือความเจ็บ ความลำบาก ความตายในที่สุดทั้งนั้น
เราจะมาบ่นไม่ได้ว่ามีอุปสรรค แต่ว่าทุกคนจะต้องมีความคิดที่จะปฏิบัติด้วยความตั้งใจ ถ้าตั้งใจบริสุทธิ์และสุจริต จึงจะไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง...”
ลองมาตรึกตรองดูว่า อุปสรรคในชีวิตของเรามีอะไรบ้าง? คำตอบอาจจะเป็นขาดความพร้อมในการทำงาน ไม่ชำนาญในงานที่ทำเวลาที่เจอกับงานยาก รู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจ ด้วยคิดว่าไม่มีความสามารถในการทำงาน ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ขาดการทำงานเป็นทีม ไม่กล้าเริ่มต้น ไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ชอบการเสี่ยง ชอบหาพื้นที่ปลอดภัย ไร้อุปสรรค หรืออุปสรรคน้อย ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่ตื่นเต้นกับการเติบโต ไม่ปรารถนาความสำเร็จระดับสูง ชอบทำงานในระดับพอเพียง ไม่ต้องการเด่นเกินหน้าใคร ฯลฯ คำตอบก็มีหลากหลายไปตามความคิดของแต่ละคน
เราจะเอาชนะอุปสรรคของชีวิตอย่างไร? คำตอบนี้คือกุญแจที่ไขประตูแห่งความสำเร็จ
ถ้าเป้าหมายในพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน อุปสรรคของพุทธศาสนิกชนย่อมเป็นสรรพกิเลสทั้งปวง ที่ขวางกั้นไม่ให้เกิดการบรรลุเป้าหมายได้
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด ภิกษุเจริญพละ ๕ กระทำให้มากซึ่งพละ ๕ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน”
พละ ๕ ควรเป็นกุญแจที่พึงประสงค์ในการเอาชนะอุปสรรคของชีวิต พละ ๕ คือธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง ได้แก่ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. สติ ความระลึกได้ ๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๕. ปัญญา ความรอบรู้
๑. ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะความเชื่อ ๔ ประการ คือ
(๑) เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อในพระธรรมวินัยอันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ด้วยการศึกษาข้อธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
(๒) เชื่อกรรม คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป
(๓) เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
(๔) เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของกรรมที่ตนทำ จะต้องรับผิดชอบผลที่เป็นไปตามกรรมของตน
เมื่อมีศรัทธาเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้รู้จักเหตุ-ผลในการดำเนินชีวิต ยามเมื่อเกิดอุปสรรคขึ้น ก็สามารถวิเคราะห์ถึงเหตุ-ผลของอุปสรรคนั้นได้ ทำให้มีกำลังการควบคุมความสงสัยที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคได้
๒. วิริยะ ความเพียร มีความขยันบากบั่นไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระ สามารถดำเนินชีวิตให้มีความต่อเนื่องไปจนบรรลุถึงเป้าหมาย ด้วยความมุ่งมั่นอดทน
ยามเมื่อประสบอุปสรรคในชีวิต เมื่อพิเคราะห์หาเหตุ-ผล ได้แล้ว ก็ละเหตุที่จะทำให้เกิดอุปสรรคเสีย และพยายามป้องกันไม่ให้อุปสรรคเกิดขึ้นอีก
นี่เป็นกำลังการควบคุมความเกียจคร้านอันเป็นอุปสรรคที่สำคัญ นำให้เกิดความท้อถอยในชีวิต
๓. สติ ความระลึกได้ หมั่นระลึกถึงเป้าหมายชีวิตที่ประสงค์อยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต มีความรู้ตัวอยู่ทุกขณะ จะคิด จะทำ จะพูด ก็อยู่ในกรอบที่สร้างสรรค์
นี่จึงเป็นกำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ อันก่อให้เกิดอุปสรรคของชีวิต
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ทำจิตใจให้มั่นคง มีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยกำหนดแน่วแน่อยู่กับเป้าหมายของชีวิต ทำงานไปด้วยความตั้งใจมั่นที่จะให้งานนั้น เป็นวิถีนำตนไปสู่ความสำเร็จ
นี่เป็นกำลังการควบคุมการวอกแวก ไขว้เขว ฟุ้งซ่าน อันเป็นอุปสรรคให้เกิดความท้อถอยในชีวิต
๕. ปัญญา ความรอบรู้ คือ ความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีประสบการณ์ มีวิจารณญาณที่ดี มีความสามารถเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ และมีการตัดสินใจที่ดี
นี่เป็นกำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ หลงงมงาย อันเป็นอุปสรรคให้เกิดการดำเนินชีวิตที่ผิดทาง ปัญญาเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการแก้ไขอุปสรรคของชีวิต
เมื่อเกิดอุปสรรคในชีวิตขึ้น จงปฏิบัติดังนี้
๑. พึงใช้ปัญญาวิเคราะห์หาสาเหตุของอุปสรรคนั้น ด้วยใจเป็นธรรม ตามหลักศรัทธา
๒. เชื่อมั่นในเหตุผล ที่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว
๓. หมั่นพิเคราะห์อุปสรรคและการแก้ไขของคนอื่น เช่น การเผชิญอุปสรรคในการแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า หรือการค้นคว้าของ โทมัส อัลวา เอดิสัน ซึ่งจะทำให้เห็นซึ้งในคุณค่าของพละ ๕ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
๔. อย่าอายที่จะต้องสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อน หรือขอคำปรึกษากับผู้ใหญ่ ต้องยอมรับว่าปัญญาของเราอาจไม่กว้างขวางพอสำหรับการแก้ไขอุปสรรคที่ประสบอยู่
๕. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งการได้สนทนากับคนที่มีประสบการณ์ตรง จะให้คุณประโยชน์ต่อการแก้ไขอุปสรรคได้อย่างเด่นชัด
๖. เปิดใจให้กว้าง ยอมเปลี่ยนทัศนคติในการมองอุปสรรคของตน นี่คือการเพิ่มวิจารณญาณในการกำหนดแนวทางการแก้ไขอุปสรรคของตน
๗. ดำเนินการแก้ไขอุปสรรคตามแนวทางที่พิจารณาแล้ว นี่ก็คือการดำเนินชีวิตในยามเผชิญอุปสรรคอย่างมีเหตุผล ผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่สิ่งที่ได้คือการเอาชนะอุปสรรคด้วยพละ ๕ ของตนเอง
๘. อย่าเครียด เมื่อใช้ปัญญาไตร่ตรองมาตามลำดับแล้ว อย่าไปกังวลกับผลที่เกิดขึ้น ให้ผ่อนคลายตนเอง ทำสภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ เพื่อเผชิญกับอุปสรรคที่มีอยู่หรือที่จะเกิดขึ้นอีก
๙. อย่ายอมแพ้ เมื่อประสบกับความล้มเหลวในการแก้ไขอุปสรรค ก็มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขใหม่ โดยไม่ท้อถอย ด้วยมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
๑๐. เริ่มต้นใหม่ เมื่อไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคนั้นได้ด้วยแนวทางที่กำหนดไว้ ก็เริ่มต้นแก้ไขอุปสรรคนั้นใหม่ด้วยปัญญาที่ได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น
แนวทางทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นการนำเสนอถึงวิธีแก้ไขอุปสรรคของชีวิตด้วยปัญญาวิธีหนึ่ง
ความสมดุลของพละ ๕ นี้ เป็นสิ่งที่พึงรู้ ศรัทธาต้องปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มาก เนื่องจากเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าพละ ๕ ไม่สมดุล จะทำให้เกิดนิวรณ์ ๕ ธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่บรรลุถึงเป้าหมายชีวิต หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป เช่น
ศรัทธาพละมากกว่าปัญญาพละ จะทำให้มีความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่ อาจจะทำให้มีความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
ปัญญาพละมากกว่าศรัทธาพละ จะเกิดความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆกลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
วิริยะพละมากกว่าสมาธิพละ จะเกิดความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ
สมาธิพละมากกว่าวิริยะพละ จะเกิดความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีสติพละกำกับควบคุมพละทั้ง ๔ ให้สมดุล เพื่อให้เกิดกำลังในการแก้ไขอุปสรรคของชีวิต
เมื่อปฏิบัติตนในธรรมคือ พละ ๕ นี้แล้ว จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่เชื่อมั่นในตนเอง เป็นผู้มีกำลังใจดี มีความเพียรพยายามสูง มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ มีสมาธิในการทำงานดี และมีสติปัญญาดี จะทำการสิ่งใดย่อมประสบความสำเร็จดังใจปรารถนาเสมอ
อุปสรรคใดๆ ก็ไม่เป็นปัญหาของชีวิต สามารถดำเนินชีวิตไปดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสว่า “...เราจะมาบ่นไม่ได้ว่ามีอุปสรรค แต่ว่าทุกคนจะต้องมีความคิดที่จะปฏิบัติด้วยความตั้งใจ ถ้าตั้งใจบริสุทธิ์และสุจริต จึงจะไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง...”
และจะเห็นความจริงเหมือนกับที่โทมัส อัลวา เอดิสัน กล่าวว่า “ คำว่า อัจฉริยะ ในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง ๑% ส่วนอีก ๙๙% มาจากความพยายาม”
ดังนั้น การเอาชนะอุปสรรคของชีวิต จึงขึ้นอยู่กับ พละ ๕ ของเรานั่นเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)