ธรรมชาติของชนผู้มีการศึกษา ย่อมมีความปรารถนาให้ตนได้ประสบกับความสำเร็จใจชีวิต แต่ทำไมความสำเร็จในชีวิตที่ปรารถนานั้นจึงเป็นสิ่งที่ดูห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกิน
เคยสังเกตชีวิตของผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่? ว่าเขาเหล่ามีสิ่งใดที่แตกต่างจากตนเองบ้าง?
อย่าคิดถึงคำตอบในเรื่องบุญเก่าที่เขาได้ทำมาดี เพราะจะทำให้เกิดความท้อถอยขึ้นในจิตใจตน
ลองพินิจเรือยนต์ที่มีกัปตันบังคับหางเสือดู ลำหนึ่งกัปตันเป็นคนมีวินัย ตั้งใจบังคับเรือให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่วแน่ ไม่หวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ส่วนอีกลำหนึ่งกัปตันเป็นคนสบายๆ บังคับเรือไปตามอารมณ์ของตนเอง ไม่ใส่ใจในจุดหมายปลายทาง ยามพบอุปสรรคก็หยุดเรือ หรือไม่ก็ผาดโผนเร่งเครื่องเรือฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไป คิดว่าเรือสองลำนี้ ลำไหนจะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย?
ถ้าเปรียบชีวิตคนเราเป็นเรือยนต์ คิดว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นเรือยนต์ลำไหน? และเราเลือกจะเป็นเรือลำไหน?
เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็คงทราบด้วยตนเองว่า ความสำเร็จในชีวิตที่ประสงค์นั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และย่อมตระหนักได้ดีในที่สุดว่า ความมีวินัยในการดำเนินชีวิต คือตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิตที่ปรารถนา เหตุนี้จึงอยากปรารภถึงวินัยชีวิตตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สาธุชนได้มีความกล้าหาญในการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จในจุดมุ่งหมายที่ประสงค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเรื่องวินัย แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ความว่า
“...ข้าพเจ้าได้พูดกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้ ถึงเรื่องวิชาการกับวินัย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญคู่กันในการสร้างความเจริญ คือวิชาความรู้เป็นปัจจัยสำหรับใช้ทำงาน วินัยเป็นฐานรองรับความรู้ และประคับประคองส่งเสริมให้ใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์แท้จริงแต่ฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงวินัยในการปฏิบัติงานไว้สามข้อ ข้อแรก ให้ตั้งใจทำงานให้จริง ให้จนสำเร็จด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งถึงผลอันเป็นประโยชน์แท้จริงของงานเป็นสำคัญ
ข้อสอง ให้ศึกษาขอบเขตความมุ่งหมายของงาน ตลอดถึงความเกี่ยวเนื่องถึงสิ่งอื่นๆ ให้แจ่มแจ้งทั่วถึง เพื่อสามารถวางรูปงาน วางขั้นตอนการปฏิบัติงาน และนำวิชาการไปใช้ได้โดยถูกต้อง
ข้อสาม ให้ทำความคิดเห็นให้กระจ่าง ว่างานของแต่ละคนที่ทำนั้น เป็นเพียงงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในส่วนรวม และงานทุกสิ่งทุกสาขาย่อมเกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันและกันอยู่
ทุกคน ทุกฝ่าย จำเป็นจะต้องรู้จักประสานประโยชน์กันอย่างเฉลียวฉลาดและเหมาะสม งานทุกๆสาขาจึงจะก้าวหน้าไปพร้อมเสมอกัน และสร้างความเจริญมั่นคงให้เกิดขึ้นได้
วันนี้จะขอตั้งข้อสังเกตในลักษณะของวินัย ให้เป็นเครื่องเตือนใจว่า วินัยนั้น เมื่อนำมาฝึกหัดปฏิบัติ จะเป็นดังข้อบังคับ ที่ควบคุมบุคคล ให้ประพฤติปฏิบัติเป็นระเบียบ จึงอาจทำให้เกิดความอึดอัดลำบากใจ เพราะต้องฝืนกระทำ
แต่เมื่อปฏิบัติไปให้ชิน จนรู้สึกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติแล้ว ก็จะสำเร็จผล ทำให้เป็นคนมีระเบียบและเป็นระเบียบ คือคิดเป็นระเบียบ ทำก็เป็นระเบียบ ตามลำดับขั้นตอน ตามกาลเทศะ ตามความพอเหมาะพอควร หายสับสน หายลังเล และหายขัดแย้ง ทั้งในความคิด ทั้งในการทำงาน
สามารถนำวิชาความรู้และความชำนาญทุกๆประการไปใช้ได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว สำเร็จผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์บริบูรณ์ตามจุดหมาย ทั้งจะเกื้อกูลรักษาผู้มีวินัยให้เจริญสวัสดีทุกเมื่อ..”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ “วินัย” ว่า ข้อปฏิบัติ, ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ทำให้สามารถจำแนกลักษณะของวินัยได้ ๒ ลักษณะ คือ ข้อปฏิบัติ ๑, การอยู่ในแบบแผน ๑
เมื่อพิเคราะห์จะพบว่า วินัยจะมีลักษณะแฝงอยู่ ๓ ประการคือ ๑. ในลักษณะที่เป็น “การควบคุมตนเอง” (Self - control) ซึ่งอาจเรียว่า “อัตวินัย” (Self - discipline) ๒. ในลักษณะที่เป็น “เงื่อนไขที่ทำให้มีพฤติกรรมอันเป็นระเบียบเรียบร้อย” (condition for orderly behavior) ๓. ในลักษณะที่เป็น “กระบวนการทางนิติธรรม” (judicial due process)
การปฏิบัติตนให้มีวินัยจึงเป็นการสร้างปทัสถาน (NORM) และการสร้างพฤติกรรม (BEHAVIOR) ให้กับตนเอง ในที่นี้จักขอจำแนกวินัยเป็น ๒ ประการคือ วินัยในตนเอง ๑, วินัยในสังคม ๑
เราจะสร้างวินัยในตนเองได้อย่างไร? คำตอบก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางวิชาการที่แต่ละคนได้ศึกษามา ในฐานะพุทธศาสนิกชน กรอบแห่งวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติในขั้นต้น เพื่อให้ดำเนินชีวิตไปด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่นทางกายและวาจา ก็คือ ศีล ๕ ซึ่งเมื่อสามารถปฏิบัติตนได้ตามหลักของศีล ก็ย่อมเป็นแนวทางสำหรับประพฤติความดี และสามารถปฏิบัติตามคุณธรรมอย่างอื่นได้ยั่งยืน ไม่แปรผัน
บุคคลที่มีศีล ๕ เป็นวินัยในตนเอง ย่อมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
๑. มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่หลอกลวงตนเองและผู้อื่น ด้วยมีจิตใจไม่คิดจะเบียดเบียนเขา
๒. มีความรับผิดชอบ ความตั้งใจที่จะทำงานและติดตามผลงานที่ได้กระทำแล้ว
๓. เคารพในสิทธิของผู้อื่น
๔. มีระเบียบและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม
๕. มีลักษณะมุ่งอนาคต
๖. มีความเป็นผู้นำ สามารถนำ ชักจูง แก้ปัญหา และดำเนินกิจกรรมของกลุ่มไปสู่เป้าหมายที่กำหนด และรับผิดชอบต่อกลุ่มได้
๗. มีความตรงต่อเวลา รู้จักกาลเทศะ
๘. มีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่ออำนาจภายในตนเอง
๙. มีความอดทนขยันหมั่นเพียร มีจิตใจเข้มแข็งไม่ยอมแพ้อุปสรรคที่เกิดขึ้น
๑๐. รู้จักเสียสละและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๑๑. ยอมรับการกระทำของตน
เราจะสร้างตนเองให้มีวินัยในสังคมได้อย่างไร? ลองพิจารณาวินัยในการปฏิบัติงานที่ทรงแนะนำดู อาจจะขยายความนำให้เข้าถึงคำตอบที่พึงประสงค์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งวินัยในการปฏิบัติงานนี้มี ๓ ประการ คือ
๑. ให้ตั้งใจทำงานให้จริง ให้จนสำเร็จด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งถึงผลอันเป็นประโยชน์แท้จริงของงานเป็นสำคัญ เมื่อนึกถึงหลักธรรมที่ควรนำมาเป็นข้อปฏิบัติในความประพฤติของตนเองในการปฏิบัติงาน ตามที่ทรงแนะนำ ทำให้คิดถึง สัมมัปปธานธรรม การมุ่งมั่นทำความชอบหรือความเพียรชอบ ๔ ประการ คือ
(๑) สังวรปทาน คือ เพียรระงับการกระทำอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ( เพียรระวัง) สิ่งที่เป็นข้อขัดขวางความสำเร็จของงาน จัดว่าเกิดจากอกุศลทั้งสิ้น เช่น ความเกียจคร้าน ความหลงใหลในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน เป็นอาทิ
เมื่อตั้งใจมั่นที่จะทำงานอย่างจริงจัง จึงต้องระวังตนเองไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในชีวิต
(๒) ปหานปทาน คือ เพียรละเลิกอกุศลที่กำลังกระทำอยู่ (เพียรละ) แต่สิ่งที่เป็นอกุศลนั้น ในขณะนี้ถ้ากำลังประพฤติอยู่ ก็ต้องละเลิกให้หมดไปจากจิตใจ อย่าเก็บให้เป็นนิสัยขัดขวางการทำงานของตน
(๓) อนุรักขปทาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (เพียรรักษา) สิ่งที่เป็นข้อสนับสนุนความสำเร็จของงาน จัดว่าเกิดจากกุศลทั้งสิ้น เช่นความพอใจในงานที่ทำ ความขยันในการทำงานอย่างไม่ย่อท้อ เป็นอาทิ ควรที่จะต้องรักษากุศลเหล่านี้ให้เป็นอุปนิสัย ที่จะทำให้มีความตั้งใจทำงานอย่างแท้จริง
(๔) ภาวนาปทาน คือ เพียรฝึกฝนบำรุงกุศลธรรม ให้เจริญยิ่งขึ้น (เพียรเจริญ) หมั่นทบทวนอุปนิสัยของตนเอง ให้ดำรงอยู่ในส่วนที่เป็นกุศลอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติตนในกรอบของสัมมัปปธานธรรม ก็ยังให้สัมฤทธิผลดังที่ทรงพระราชทานคำแนะนำไว้ในข้อนี้ทุกประการ
๒. ให้ศึกษาขอบเขตความมุ่งหมายของงาน ตลอดถึงความเกี่ยวเนื่องถึงสิ่งอื่นๆ ให้แจ่มแจ้งทั่วถึง เพื่อสามารถวางรูปงาน วางขั้นตอนการปฏิบัติงาน และนำวิชาการไปใช้ได้โดยถูกต้อง
เมื่อนึกถึงหลักธรรมที่ควรนำมาเป็นข้อปฏิบัติในความประพฤติของตนเองในการปฏิบัติงาน นำให้คิดถึง อิทธิบาทธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องให้บรรลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ อันได้แก่
(๑) ฉันทะ คือความพอใจ หมายถึงความต้องการที่จะทำงานที่ตนรับผิดชอบ ใฝ่ใจรักที่จะทำงานนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้งานของตนได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป ซึ่งจะทำให้มีการเปิดใจกว้างในการศึกษา วิวัฒนาการงานของตนให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดอยู่เสมอ
(๒) วิริยะ คือความพากเพียรในงาน ที่จักต้องตั้งใจทำงานอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ประสบ และมีความขยันหมั่นทำงานด้วยความบากบั่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพยายามอย่างเข้มแข็งอดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
(๓) จิตตะ ความมีจิตใจตั้งมั่น หมายถึง ความตั้งจิตใจรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตใจฝักใฝ่ในงาน ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย มีสมาธิ เอาใจใส่รับผิดชอบกับงานที่ทำอย่างเต็มที่
(๔) วิมังสา ความไตร่ตรอง หมายถึง การหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบในงานที่ทำนั้น มีการวางแผนวัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ ทำให้เกิดความรอบรู้ชำนาญในงานนั้น อันจักทำให้งานนั้นสำเร็จผลตามที่มุ่งหมาย
เมื่อปฏิบัติตนในกรอบของอิทธิบาทธรรม ก็ยังสัมฤทธิผลดังที่ทรงพระราชทานคำแนะนำไว้ในข้อนี้ทุกประการ
๓. ให้ทำความคิดเห็นให้กระจ่าง ว่างานของแต่ละคนที่ทำนั้น เป็นเพียงงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในส่วนรวม และงานทุกสิ่งทุกสาขาย่อมเกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยเกื้อกูลกันและกันอยู่
เมื่อนึกถึงหลักธรรมที่ควรนำมาเป็นข้อปฏิบัติในความประพฤติของตนเองในการปฏิบัติงาน นำให้คิดถึง สังคหวัตถุธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ๔ ประการ คือ
(๑) ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของของตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นคุณธรรมที่ช่วยให้ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว รู้จักแบ่งปันความรู้ในการทำงานแก่ผู้อื่น ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขอยู่เสมอ
(๒) ปิยวาจา มีการพูดจาด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความจริงใจ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ อันก่อให้การสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน
(๓) อัตถจริยา คือทำตนให้เป็นประโยชน์แก่งาน บางครั้งในการทำงานอาจขาดกำลัง แต่ถ้าเราช่วยกันทำ งานที่ว่ายากก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความผูกพันของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม
(๔) สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย เป็นคนมีจิตใจหนักแน่น ไม่โลเล ซึ่งจะทำให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้อื่นอีกด้วย
เมื่อปฏิบัติตนในกรอบของสังคหวัตถุธรรม ก็จะบรรลุถึงผลดังที่ทรงพระราชทานคำแนะนำไว้ในข้อนี้ทุกประการ
การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีวินัยในการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จที่ปรารถนา ย่อมต้องอาศัยความชัดเจนของเป้าหมายชีวิตที่ปรารถนาเป็นหลักสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดกำลังใจในการบังคับ ควบคุมตนเอง ให้ประพฤติตนในกรอบแห่งวินัยอย่างเคร่งครัด
เหมือนดังกัปตันที่เดินเรือไปสู่จุดหมายอย่างแน่วแน่ตามแผนการเดินเรือที่ได้กำหนดไว้ ความอึดอัด ลำบากใจในการทำตนให้อยู่ในกรอบของวินัยที่ตนเองกำหนดขึ้นในระยะเริ่มต้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายตนเองว่า จะมีความสำเร็จในชีวิตหรือไม่
ด้วยเหตุนี้จึงทรงแนะนำไว้ว่า “ วินัยนั้น เมื่อนำมาฝึกหัดปฏิบัติ จะเป็นดังข้อบังคับ ที่ควบคุมบุคคล ให้ประพฤติปฏิบัติเป็นระเบียบ จึงอาจทำให้เกิดความอึดอัดลำบากใจ เพราะต้องฝืนกระทำ แต่เมื่อปฏิบัติไปให้ชิน จนรู้สึกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติแล้ว ก็จะสำเร็จผล”
ถ้าสามารถสร้างวินัยในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ ก็จักประสบผลดังที่ทรงแนะนำไว้ว่า “ช่วยให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์บริบูรณ์ตามจุดหมาย ทั้งจะเกื้อกูลรักษาผู้มีวินัยให้เจริญสวัสดีทุกเมื่อ” อันตรงกับอานิสงส์ของการรักษาศีล ที่ว่า
สีเลน สุคตึ ยนฺติ ผู้จะถึงสุคติทั้งชาตินี้ชาติหน้า ก็ด้วยอำนาจศีล
สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จะสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ ก็ด้วยอำนาจศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ผู้จะถึงพระนิพพาน อันดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์ทั้งปวง ก็ด้วยอำนาจศีล
ตสฺมา สีลํ วิโสธเย เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา ปรารถนาความสุขแก่ตน ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า พึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เป็นการชอบยิ่ง
บุคคลผู้มีความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นผู้มีวินัยชีวิตที่เขาได้ลิขิตไว้ เป็นเครื่องพาชีวิตของเขาไปสู่ความสำเร็จที่ปรารถนา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)