คำว่า “มงคล” เป็นคำที่ได้ยินกันอยู่เสมอ เช่น งานมงคล วัตถุมงคล เป็นต้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายความหมายของคำ “มงคล” ไว้ว่า คือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล 38 หรือสิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่ และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “มงคล” คือ สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ตามหลักพุทธศาสนาหมายถึงธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือมงคลอันสูงสุด 38 ประการ
ที่มาของมงคล 38 ประการนี้มีกล่าวไว้ในมงคลสูตร ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐะ โดยพระอานนท์ได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรไว้ในคราวที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 ว่า ท่านได้สดับรับฟังมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี ซึ่งพระองค์ทรงมีรับสั่งให้นำไปเผยแผ่แก่ภิกษุทั้งหลาย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ได้มีเทวดาองค์หนึ่งเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องความเป็นมงคล เทวดาองค์นั้นได้กราบทูลว่า ได้เกิดความเห็นที่แตกต่างกันขึ้นทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในเรื่องที่ว่าอะไรคือมงคลของชีวิต เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกัน และยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 12 ปี ก็ยังไม่ได้คำตอบหรือข้อสรุป
ในที่สุด ท้าวสักเทวราชหรือพระอินทร์จึงให้เทวดาองค์หนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมวด นับได้ 38 ประการ และเมื่อแสดงจบแล้ว เหล่าเทวดาทั้งหลายก็ได้บรรลุธรรม
มงคลสูตรเป็นพระสูตรสำคัญบทหนึ่งที่มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธมงคลภายนอก ที่นับถือเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นมงคลหรือมีมงคล โดยอธิบายว่าในทัศนะพระพุทธศาสนานั้น มงคลของมนุษย์และเทวดาย่อมเกิดจากการกระทำอันได้แก่ มงคลภายใน คือต้องกระทำความดี และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามงคลเอง โดยไม่ต้องไปอ้อนวอนกราบไหว้ขอมงคลจากนอกตัว
• คาถาที่ 1
1. อเสวนา จ พาลานํ - ไม่คบคนพาล
2. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - คบบัณฑิต
3. ปูชา จ ปูชนียานํ - บูชาคนที่ควรบูชา
• คาถาที่ 2
4. ปฏิรูปเทสวาโส จ - อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
5. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา - ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
6. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ - ตั้งตนไว้ชอบ
• คาถาที่ 3
7. พาหุสจฺจญฺจ - เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
8. สิปฺปญฺจ - มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน
9. วินโย จ สุสิกฺขิโต - มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี
10. สุภาสิตา จ ยา วาจา - วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี
• คาถาที่ 4
11. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ - บำรุงมารดาบิดา
12. ปุตฺตสงฺคห - สงเคราะห์บุตร
13. ทารสงฺคห - สงเคราะห์ภรรยา
14. อนากุลา จ กมฺมนฺตา - การงานไม่อากูล ได้แก่ อาชีพการงาน ที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาธุระ รู้จักกาล ไม่คั่งค้าง ย่อหย่อน
• คาถาที่ 5
15. ทานญฺจ - รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์
16. ธมฺมจริยา จ - ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม
17. ญาตกานญฺจ สงฺคโห - สงเคราะห์ญาติ
18. อนวชฺชานิ กมฺมานิ - การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น การสมาทานอุโบสถ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน เป็นต้น
• คาถาที่ 6
19. อารตี วิรตี ปาปา - เว้นจากความชั่ว
20. มชฺชปานา จ สญฺญโม - เว้นจากการดื่มน้ำเมา
21. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ - ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
• คาถาที่ 7
22. คารโว จ - ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม
23. นิวาโต จ - ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน
24. สนฺตุฏฺฐี จ - ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
25. กตญฺญุตา - มีความกตัญญู
26. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ - ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์
• คาถาที่ 8
27. ขนฺตี จ - มีความอดทน
28. โสวจสฺสตา - เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, พูดกันง่าย ฟังเหตุผล
29. สมณานญฺจ ทสฺสนํ - พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส
30. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา - สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์
• คาถาที่ 9
31. ตโป จ - มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
32. พฺรหฺมจริยญฺจ - ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัตตามควร
33. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ - เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต
34. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ - ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน
• คาถาที่ 10
35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ - ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
36. อโสกํ - จิตไร้เศร้า
37. วิรชํ - จิตปราศจากธุลี
38. เขมํ - จิตเกษม
แต่ละคาถามีบทสรุปว่า “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” นี้เป็นมงคลอันอุดม และมีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง 38 นี้ว่า
“เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา
สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ”
แปลว่า เทวะมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวะมนุษย์เหล่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)