หนึ่งในพิธีกรรมงานอวมงคล หรืองานศพนั้น ก็คือ การบังสุกุล ซึ่งจะกระทำในช่วงพิธีเผาศพ โดยพระสงฆ์จะสวดมาติกา คือสวดพระบาลีเฉพาะหัวข้อธรรมในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งขึ้นต้นด้วยบทว่า “กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา...” ก่อน แล้วจึงประกอบพิธีบังสุกุล
โดยเจ้าภาพจะลากสายโยง หรือภูษาโยง แล้วทอดผ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ตั้งตาลปัตรพิจารณาผ้าบังสุกุล แล้วจับผ้าบังสุกุลด้วยมือขวา พร้อมกับกล่าวคำพิจารณาผ้า เมื่อกล่าวเสร็จจึงชักผ้ามา
ดังนั้น จึงเรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพว่า “ผ้าบังสุกุล” และเรียกกิริยาที่พระภิกษุทำพิธีชักผ้าจากศพ ด้วยการปลงกรรมฐานว่า “ชักบังสุกุล”
• “บังสุกุล” ผ้าเปื้อนฝุ่น ไม่ใช่ “บังสกุล”
ในพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ ชุดคำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ได้อธิบายคำว่า “บังสุกุล” ไว้ว่า
บังสุกุล แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น, เปื้อนฝุ่น เป็นคำใช้เรียกผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดไว้บนด้ายสายสิญจน์ หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐานว่า “ผ้าบังสุกุล” โดยเรียกกิริยาที่พระชักผ้าหรือพิจารณาผ้าเช่นนั้นว่า ชักผ้าบังสุกุล หรือ พิจารณาผ้าบังสุกุล
ในสมัยพุทธกาล ภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะหรือจากป่าช้ามาทำจีวรใช้ ผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเปื้อนฝุ่นหรือสกปรก จึงเรียกว่าผ้าบังสุกุล
ปัจจุบันมักเขียนหรือพูดผิดเพี้ยนไปว่า “บังสกุล” ด้วยออกเสียงง่ายกว่า
คำว่า “บังสุกุล” นั้น มาจากคำภาษาบาลีว่า ปํสุ (อ่านว่า ปัง-สุ) แปลว่า ฝุ่น และคำว่า กุล (อ่านว่า กุ-ละ) แปลว่า เปื้อน, คลุก สมาสคำทั้งสองเข้าด้วยบทวิเคราะห์เป็น ปํสุกุล (อ่านว่า ปัง-สุ-กุ-ละ) แปลว่า ผ้าที่เปื้อนฝุ่น
เมื่อมาเป็นคำไทย เปลี่ยน “ปอ ปลา" เป็น “บอ ใบไม้” และปรับเสียงเป็นรูปแบบภาษาไทยที่มีตัวสะกด เป็น บังสุกุล อ่านว่า บัง-สุ-กุน ดังนั้น คำว่า “บังสุกุล” จึงต้องเขียนว่า “บังสุกุล” เท่านั้น ไม่สามารถเขียนเป็นอย่างอื่นได้ หากเขียนเป็น “บังสกุล” ถือเป็นคำที่เขียนผิด อันเกิดจากการเทียบเคียงผิดกับคำว่า “สกุล” ที่หมายถึง ตระกูลวงศ์
• บังสุกุลครั้งพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับผ้านุ่งห่มจากฆราวาส แต่ให้เก็บผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามร้านตลาด หรือผ้าห่อศพ มาซักล้างให้สะอาด แล้วนำมาตัดเย็บเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่ง เช่น ผ้านุ่งหรืออันตรวาสกหรือผ้าสบง ผ้าห่มหรือผ้าจีวรหรือผ้าอุตตราสงค์ หรือผ้าห่มซ้อนหรือสังฆาฏิ
มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปพักในโรงบูชาไฟของอุรุเวลกัสสป ณ ตำบลอุรุเวลา ทรงมีพระประสงค์จะนำผ้าขาวที่ห่อศพ มาซักย้อมทำเป็นผ้าสังฆาฏิ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปพิจารณาปฏิกูลสัญญา แล้วทรงชักผ้าบังสุกุลนั้นมา
เมื่อพระองค์ได้ผ้ามาแล้ว ก็ทรงดำริว่าจะซักผ้าบังสุกุลที่ไหน ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ ทรงทราบพระดำรินั้น จึงได้ขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ของตนเอง เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงซักผ้าในสระนี้
จากนั้นเมื่อทรงดำริต่อไปว่า จะขยำผ้านี้ที่ไหนดี ท้าวสักกะจึงได้ยกศิลาแผ่นใหญ่มาให้ เพื่อให้ทรงขยำผ้าบนศิลานี้ หลังจากซักแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงดำริต่อ ว่าจะพาดผ้าไว้ในที่ใดหนอ เมื่อเทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบกรับรู้พระดำรินั้น จึงน้อมกิ่งของกุ่มบกลงมา เพื่อให้พระพุทธองค์พาดผ้า
เมื่อชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และเห็นสระน้ำ รวมทั้งแผ่นศิลาใหญ่ และกิ่งต้นกุ่มบกที่โน้มลงมา ก็เกิดความสงสัย เพราะที่นี่ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้มาก่อน สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ฟังแล้ว จึงคิดว่า พระพุทธองค์ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงขนาดที่ท้าวสักกะจอมเทพได้ลงมาทำการช่วยเหลือด้วยตนเอง
จากพุทธประวัติสำคัญในตอนนี้ จึงได้มีผู้สร้างพระพุทธรูปปางปลงกัมมัฏฐาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปางชักผ้าบังสุกุล เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร(ไม้เท้า) ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลง เบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล
อนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาไม่เคยประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกรูปใดเลย แต่ภายหลังได้ประทานบังสุกุลจีวรผืนนี้ที่ทรงครองมาตลอดแก่พระมหากัสสปะ เพราะท่านได้บำเพ็ญธุดงค์ในการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เรียกว่า ปังสุกูลิกังคะ
พระมหากัสสปะรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาคุณและพระเมตตาคุณ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ 13 ข้อจนตลอดชีวิต ซึ่งต่อมาพระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์
สมัยต่อมาจึงมีพระพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจากฆราวาสได้ เพื่อเจริญศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาผู้เลื่อมใส และบรรเทาความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ในการแสวงหาผ้าอีกทางหนึ่งด้วย
• “บังสุกุลเป็น” เป็นแบบไหน
ในพจนานุกรม ชุดคำวัด อธิบายว่า “บังสุกุลเป็น” เป็นคำเรียกวิธีบังสุกุลคนที่ยังไม่ตาย
บังสุกุลเป็น เช่นคนป่วยหนัก คนที่มีเคราะห์ เป็นการเอาเคล็ด วิธีทำก็คือ ให้คนที่จะทำพิธีนอนหงายประนมมือเหมือนคนตาย แล้วใช้ผ้าขาวคลุมร่างผู้นั้นให้มิดทั้งตัว พระสงฆ์ที่มาทำพิธีจับชายผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ที่ผูกมาจากชายผ้า แล้วกล่าวคำสำหรับบังสุกุลคนตาย ที่ขึ้นต้นว่า “อนิจจา วะตะ สังขารา..”
จบแล้วให้ผู้นั้นนอนหันศีรษะไปทิศตรงข้ามกับครั้งแรก คลุมด้วยผ้าขาวเหมือนเดิม พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้ง โดยกล่าวคำสำหรับบังสุกุลคนเป็นที่ขึ้นต้นว่า “อะจิรัง วะตะยัง กาโย..” เป็นการถือเคล็ดว่า กลับฟื้นขึ้นมาใหม่แล้ว
บังสุกุลเป็น นิยมทำกันทั่วไป ด้วยเชื่อว่าเป็นการต่ออายุ โดยเฉพาะคนที่ป่วยหนัก หรือทำกันในงานวันเกิดแม้จะไม่เจ็บป่วยก็ตาม
• บทสวดบังสุกุลตาย (พร้อมคำแปล)
อะนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
อุปปาทะวะยะธัมมิโน มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปปัชชิตฺวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสัง วูปะสะโม สุโขฯ ความเข้าไปสงบแห่งสังขารเหล่านั้นได้ ย่อมนํามาซึ่งความสุข
สัพเพ สัตตา มะรัน ติจะ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่ตายไปแล้วก็ดี
มะริงสุ จะ มะริสสะเร ที่กําลังตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี ที่จะตายต่อไปอีกก็ดี
ตะเถวาหัง มะริสสามิ แม้ตัวของเราก็จะตายอย่างนั้นเหมือนกันนั่นแล
นัตถิ เม เอตถะสังสะโยฯ ความสงสัยในเรื่องความตายนี้ย่อมไม่มีแก่เราเลย
• บทสวดบังสุกุลเป็น (พร้อมคำแปล)
อะจิรัง วะตะยัง กาโย ร่างกายของเรานี้คงไม่นานหนอ
ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ จะต้องลงไปทับถมซึ่งแผ่นดิน
ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโน เมื่อวิญญาณได้ปราศจากตัวเราทิ้งไปเสียแล้ว
นิรัตถังวะ กะลิงคะลังฯ เปรียบเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน หาประโยชน์มิได้ดังนี้แล
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)