ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับแต่ทรงบรรพชาอุปสมบทจนถึงวันที่ทรงละสรีระสังขารไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นี้เพียบพร้อมไปด้วยวัตรปฏิบัติและปฏิปทาอันงดงาม
ทรงเป็น “พระผู้เจริญพร้อม” ทั้ง “ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ” สมกับเป็นผู้สืบทอดบวรพระพุทธศาสนาจากองค์พระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2552 ได้ให้ความหมายของคำทั้ง 3 คำไว้ว่า
ปริยัติ หมายถึง การเล่าเรียนพระไตรปิฎก
ปฏิบัติ หมายถึง การดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน การกระทำเพื่อให้เกิดความชำนาญ
ปฏิเวธ หมายถึง เข้าใจตลอด ลุล่วงผลปฏิบัติ
ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ไม่เพียงเฉพาะแต่ในประเทศไทย หากแต่ตลอดรวมไปถึงทั่วโลก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีความใฝ่เรียนและใฝ่รู้ที่มั่นคงสม่ำเสมอในตัวพระองค์ท่าน โดยเฉพาะในทาง พระพุทธศาสนานับแต่สมัยเป็น พระภิกษุหนุ่มจากต่างจังหวัด กระทั่งเข้ามาถวายตัวศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ภายในปีแรกที่เข้ามาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งเป็นสามเณรสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ถัดมาปี พ.ศ.2473 อายุ 18 ปี สอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ.2475
ขณะที่เปรียญธรรม 5 ประโยคเป็นต้นไป เจ้าประคุณสมเด็จฯ สอบได้ชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ชนิดแทบจะเรียกได้ว่า “ปีเว้นปี” กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคอันถือเป็นระดับชั้นสูงสุดในปี พ.ศ.2484 ขณะมีอายุได้ 29 ปีและมีพรรษาได้เพียง 9 พรรษาเท่านั้น
ไม่เพียงแต่ด้านปริยัติเท่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังมีความถึงพร้อมทางด้าน “ปฏิบัติ” อีกด้วย โดยเจ้าประคุณสมเด็จ ทรงเจริญสมาธิกรรมฐานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องแม้ว่าพระองค์จะประทับอยู่ในพระอารามที่อยู่ท่ามกลางบ้านเมืองที่เรียกว่า “คามวาสี” แต่ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามอย่างของพระที่ประจำอยู่ในวัดท่ามกลางป่าเขาที่เรียกว่า “อรัญวาสี”
นอกจากนั้นนับแต่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักเสด็จไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดป่าในภาคอีสานช่วงปลายปีเสมอ จึงทรงได้รับการยอมรับจากพระสายวัดป่าว่า พระกรรมฐานกลางกรุง
คำถามที่ 32 ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือ “99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช” ถามเอาไว้ว่า “หลายคนบอกว่าทรงสื่อสารทางจิตได้”
คำตอบที่หนังสือเล่มนี้ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติเจริญพระชันษา 99 พรรษา วันที่ 3 ตุลาคม 2555 บันทึกเอาไว้ว่า “มีบางคนเข้าใจเช่นนั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ผู้ที่จะตอบเรื่องนี้ได้ก็ต้องมีจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมในระดับเดียวกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ”
ขณะเดียวกันเมื่อรับทราบข้อมูลจากบรรดาพระลูกศิษย์ ก็ยิ่งตอกย้ำให้ เห็น ชัดเจนว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ถึงพร้อมทางด้านปฏิบัติ
พระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่าพระองค์เป็นพระนักปฏิบัติกรรมฐาน ถึงแม้ช่วงเวลาที่ใกล้สิ้นพระชนม์ก็ยังทรงกรรมฐานอยู่ ถือว่าพระองค์เป็นพระนักปฏิบัติโดยแท้ ถือเป็นต้นแบบของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
และข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้หนังสือ “พระเครื่องสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ซึ่งอ้างอิงจาก “หนังสือมนต์พระปริตร” โดยคุณหลวงและคณะ
“เรื่องที่ทราบกันดีในหมู่ศิษย์เจ้าประคุณฯ ว่าหลังจากอาการอาพาธของเจ้าประคุณฯ ดีขึ้นนั้นแพทย์และบุรุษพยาบาล รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้เจอกับเรื่องประหลาดกันบ้างพอหอมปากหอมคอ กล่าวคือตามปกติเวลาที่ลูกศิษย์ไม่ว่าจะทำอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าประคุณฯ นั้น เป็นที่รู้กันว่า ต้องขออนุญาตทุกครั้งไป แต่สำหรับแพทย์ที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียม เวลาเจาะพระโลหิตไปตรวจ หากมีลูกศิษย์อยู่ด้วย ลูกศิษย์ก็จะกราบเรียนขออนุญาตจากเจ้าประคุณฯ ว่าจะขออนุญาตเจาะพระโลหิต และเมื่อพระองค์พยักหน้าอนุญาต แพทย์จึงจะเข้ามาเจาะพระโลหิต ซึ่งเหตุการณ์ก็น่าจะเป็นปกติ
“บ่ายวันที่เกิดเหตุการณ์ แพทย์ได้เข้ามาที่ห้องและบอกกับลูกศิษย์ว่าจะเจาะพระโลหิตเจ้าประคุณฯ เพื่อทำการตรวจ ลูกศิษย์ที่เฝ้าอยู่ได้บอกว่าต้องขออนุญาตเจ้าประคุณฯ ก่อน แพทย์มองหน้าและทำสีหน้างงพร้อมกับกล่าวว่า ไม่ต้องรบกวนพระองค์หรอก เพราะทรงบรรทมอยู่ เจาะตรวจนิดเดียว พระผู้ทำหน้าที่ดูแลอยู่ตรงนั้นซึ่งตามปกติอยู่ที่วัด พระรูปนี้ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าว ได้ต่อว่าลูกศิษย์ผู้นั้นว่า "เรื่องแค่นี้ก็ต้องกวนท่าน ยุ่งไม่เป็นเรื่อง เชิญคุณหมอเลย"
“พระรูปนั้นพูดจบ แพทย์ก็นำเข็มเจาะเลือดเล่มเล็กๆ ที่ติดอยู่กับอุปกรณ์คล้ายปากกาวางลงตรงนิ้วของเจ้าประคุณฯ อย่างแผ่วเบา แล้วกดเพื่อให้เข็มเจาะทะลุชั้นผิวหนัง แต่เข็มก็ไม่สามารถเจาะลงผิวหนังเจ้าประคุณฯได้ เดิมทีแพทย์ผู้นั้นใช้มือเค้นที่นิ้วท่านเพื่อให้เลือดหยดออกมา แต่ก็ไม่มีเลือด แพทย์ได้เปลี่ยนเข็มอยู่ 2-3 ครั้งแต่ก็ยังไม่สามารถเจาะเลือดได้
“ในขณะที่ทุกคนมองหน้ากันอยู่นั้น ลูกศิษย์คนเดิมได้เดินไปที่ข้างเตียงพร้อมกล่าวว่า "เจ้าประคุณฯ ครับคุณหมอขออนุญาตเจาะเลือดได้ไหมครับ"
“เจ้าประคุณฯไม่ได้ลืมตา แต่ได้กล่าวเป็นเชิงอนุญาตว่า "อืม.....ได้" ซึ่งทำให้ได้ทราบกันว่าท่านไม่ได้หลับตามที่เข้าใจกันแต่เดิมว่าหลับเพราะฉันยา จากนั้นเมื่อแพทย์ได้ใช้เข็มเล่มจิ๋วเจาะลงที่ปลายนิ้วของท่าน เลือดของเจ้าประคุณฯก็ออกมาตามปกติ”
และที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ก็คือพระนิพนธ์ของเจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ให้ความรู้ทั้งภาคปริยัติ(ภาคทฤษฎี) และภาคปฏิบัติที่มีอยู่อย่างมากมายและเป็นพระนิพนธ์ที่นับว่ามีคุณค่าในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก
กล่าวเฉพาะพระนิพนธ์ภาคปฏิบัตินั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นิพนธ์ไว้จำนวนไม่น้อย เช่น หนังสือเรื่องแนวปฏิบัติในสติปัฏฐานและการปฏิบัติทางจิต ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต เป็นต้น
หนังสือเหล่านี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ตระหนักรู้ได้ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกทรงเป็นทั้งนักปริยัติคือทรงสำเร็จเปรียญธรรม 9 ประโยค และนักปฏิบัติคือทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงสามารถอธิบายภาคปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้งแดงชัด
และด้วยเหตุนี้ที่ทรงเป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติ จึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถึงพร้อมและเข้าใจในหัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งนำไปสู่การหลุดพ้นคือปฏิเวธได้อย่างสมบูรณ์
ดังคำกล่าวที่ว่า “ปริยัติที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ปฏิบัติที่ถูกต้อง ปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ปฏิเวธที่ถูกต้อง”