xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นความดีของ ขรก. : ซื่อตรง มั่นคง และภักดี

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ตำแหน่งแต่ละตำแหน่งคือหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่ง ในทำนองเดียวกัน ชื่อทางสังคมตามวาทะของขงจื๊อที่ว่าชื่อของแต่ละคนคือหน้าที่ของแต่ละคน

ชื่อตามนัยของขงจื๊อหมายถึงสถานภาพทางสังคม ตัวอย่างนายแดง และนางสาวดำ แดงก็ดี ดำก็ดี เป็นชื่อตัวบุคคลมีไว้เพื่อเรียกขาน แต่เมื่อนายแดง และนางสาวดำแต่งงานกันก็มีชื่ออันเป็นสถานภาพทางสังคมเกิดขึ้นสองชื่อคือ สามี และภรรยา ทั้งสองชื่อนี้มีหน้าที่และความรับผิดชอบกำกับอยู่ด้วยคุณธรรม และจริยธรรมว่าสามีมีหน้าที่ต้องทำอะไร และภรรยามีหน้าที่ต้องทำอะไร และถ้าไม่ทำหรือทำไม่ครบถ้วนก็ถือว่าบกพร่องในหน้าที่

ในทำนองเดียวกัน ชื่อของตำแหน่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งผู้ดำรงตำหน่งต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งของข้าราชการในส่วนราชการ และส่วนงานอื่นๆ ของรัฐจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบกำกับอยู่ในทุกตำแหน่ง

ดังนั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทุกคนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ซื่อตรง มั่นคงในคุณธรรม และจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดที่ผู้คนในสังคมให้ความเคารพนับถือ เทิดทูน มิฉะนั้นแล้ววงราชการจะวุ่นวายไร้ระเบียบวินัย และเป็นที่พึ่งพาของประชาชนไม่ได้ ทั้งจะเป็นเหตุให้ประเทศล่มจมด้วย

ในยุคที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครอง ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์โดยใช้หลักราชสังคหวัตถุ 4 ประการคือ

1. สะสะเมธัง (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร)

2. ปุริสะเมธัง (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)

3. สะสะมาปะสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนกู้ยืมเป็นทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น)

4. วาจาเปยยัง (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือรู้จักพูด รู้จักปราศรัยไพเราะ นุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความนิยมเชื่อถือ

นอกจากธรรม 4 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงไว้ซึ่งธรรม 10 ประการ หรือที่เรียกทศพิธราชธรรมคือ

1. ทาน (การให้คือ สละทรัพย์สินสิ่งของ บำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)

2. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือสำรวมกาย และวจีกรรม ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)

3. ปริจาคะ (การบริจาคคือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

4. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ให้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน)

5. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย กระด้างถือองค์ มีความสง่างามเกิดจากท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไมให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง

6. ตปะ (ทรงเดช คือแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจไว้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ และความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำให้กิจสมบูรณ์)

7. อักโกธะ ( ความไม่โกรธ คือไม่กริ้วกราดลุอำนาจ ความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความ และกระทำต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความ และกระทำด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตัวเอง)

8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด)

9. ขันติ (ความอดทน คืออดทนต่องานที่ตรากตรำถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางเพียงใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)

10. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรมคือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรมคือ ระเบียบแบบแผน หลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ในยุคก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าราชการไทยมีเพียงข้าราชการประจำ ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยตรง

ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมั่นคง แน่นแฟ้น และมีเอกภาพ เนื่องจากมีองค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ เป็นศูนย์กลางความสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อประเทศอันเป็นส่วนรวม

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์มิได้ทรงบริหารราชการโดยตรง แต่ทรงใช้พระราชอำนาจในการปกครองประเทศผ่าน 3 องค์กรหลักคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ข้าราชการประจำในระดับตั้งแต่ปลัดลงมาต้องขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามรูปกรอบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ในยุคใดสมัยใดที่ฝ่ายข้าราชการการเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาล หรือฝ่ายบริหารเป็นคนดีมีคุณธรรม และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าราชการประจำก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และภักดีต่อสถาบันโดยไม่เดือดร้อน แต่ในยุคใดสมัยใด ข้าราชการการเมืองไม่ซื่อสัตย์ และมุ่งใช้ข้าราชการประจำเป็นกลไกแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง

ในยุคนั้นสมัยนั้นข้าราชการประจำก็เดือดร้อน ถ้ายังทำงานเพื่ออุดมการณ์ของข้าราชการประจำคือ ทำเพื่อชาติ ราชบัลลังก์ แต่ถ้าจะอยู่ไม่ให้เดือดร้อน และได้ดิบได้ดีก็จะต้องยอมเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ ดังที่ข้าราชการบางคนเป็นอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ความจริงประการหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ภายใต้กระแสทุนนิยมที่เข้าครอบงำสังคม และขับไล่ระบบคุณธรรมออกไปจากระบบราชการได้เกิดขึ้นแล้วในวงราชการ โดยในยุคที่ระบอบทักษิณครองเมือง จะเห็นได้ดังหลักธรรมที่นำมาเสนอในข้อเขียน จะช่วยแก้ความขัดแย้งได้ ถ้าผู้ไกล่เกลี่ยเรียนรู้เกี่ยวกับธรรม 10 ประการนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น