ความเชื่อของคนในโลกนี้ ว่าตายเกิดน่าจะมากกว่าตายสูญมากนัก และเมื่อเชื่อว่าตายเกิด จึงมีคติความเชื่อต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องเกิดอีกมาก เช่น ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนถึงกลุ่มใหญ่ในอดีตชาติ ซึ่งให้เกิดผลสืบมาถึงปัจจุบันชาติ และความเชื่อว่ามีสิ่งหรือเครื่องกำหนดให้เกิดมา เพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากอดีตนั้นเอง
แม้ความเชื่อในเรื่องอวตารก็แสดงว่ามีอดีต คำว่า “อวตาร” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำแปลว่า “การลงมาเกิด การแบ่งภาคมาเกิด”
ตามคำแปลหลังแสดงว่า ไม่ได้มาทั้งหมด แต่แบ่งภาค คือแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งมาเกิด คือยังมีตัวเดิมอยู่ในที่ของตน
สมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่ง ส่วนที่มาเกิดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเดิม เมื่อสิ้นวาระในโลกนี้แล้ว ก็กลับไปรวมเข้ากับตัวเดิม จะแปลความอย่างนี้ หรือจะแปลความว่าแบ่งภาค ก็คือแบ่งภาค (ส่วน) ของเวลามาเกิด หมายความว่า เวลาของตนในที่นั้นสมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่งนั้นยังไม่หมด ยังจะอยู่ต่อไปอีกนานหรืออยู่ไปเป็นนิรันดร ตามความเชื่อของบางลัทธิ เช่น พระนารายณ์ของฮินดู
แต่แบ่งเวลาส่วนหนึ่งลงมาเกิดในมนุษย์ โดยตัวเดิมนั่นแหละลงมาเกิด ไม่ใช่แบ่งตัวเล็กตัวน้อยลงมา เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ตัวเดิมก็กลับไปยังที่ของตน คำว่า “แบ่งภาค” จึงยังมีปัญหาจนกว่าจะมีผู้รู้มาแสดงให้เชื่อว่าอย่างไรแน่
คัมภีร์พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าจะให้ตอบตามคัมภีร์ ก็ควรจะกล่าวก่อนว่า คัมภีร์ต่างๆ แต่งกันหลายยุคหลายสมัย ปรากฏว่ามีคติความเชื่อต่างๆ แทรกเข้ามาเป็นอันมาก แต่ก็ยังไม่พบเรื่องแบ่งภาคมาเกิด เรื่องทำนองแบ่งภาค เวลา มีอยู่เรื่องหนึ่งในอรรถกถาธรรมบท ถึงดังนั้นก็ไม่ทิ้งหลักกรรมและความตั้งปรารถนา
นิทานธรรมบทนั้นมีความย่อว่า เทพธิดาองค์หนึ่งกำลังชมสวนกับเทพบุตรผู้เป็นสามี กับหมู่เทพธิดาทั้งปวง จุติลงมาเกิดเป็นนางมนุษย์ในขณะนั้น ระลึกชาติได้ จึงตั้งความปรารถนาไปเกิดอยู่กับสามีตามเดิม และได้ทำบุญกุศลต่างๆ ถึงแก่กรรมแล้วก็ไปเกิดในสวนสวรรค์นั้นอีก ขณะที่ไปเกิดนั้น หมู่เทพก็ยังชมสวนกันอยู่ แสดงว่าเวลานานหลายสิบปีในมนุษย์เท่ากับครู่หนึ่งของสวรรค์
เรื่องนี้เข้าทำนองแบ่งภาคแบ่งเวลามาเกิดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็กล่าวว่า ได้อธิษฐานใจตั้งความปรารถนา (นับว่าเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง) และทำบุญกุศลเพื่อให้ไปเกิดเป็นเทพ (นับว่าเป็นกรรมที่เป็นชนกกรรมคือกรรมที่ให้เกิด) จึงเข้าหลักพระพุทธพจน์ที่แปลความว่า “ตัณหายังคนให้เกิด โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม”
• ทำไมต้องเกิด?
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า “ตัณหา (ความอยาก) ยังคนให้เกิด” และว่า “โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม”
จึงสรุปกล่าวได้ว่า “เราเกิดมาเพื่อสนองความอยาก และสนองกรรมของตนเอง” แต่การกล่าวดังนี้ เป็นการกล่าวครอบคลุมทั้งหมด เหมือนอย่างที่เรียกว่า พูดอย่างกำปั้นทุบดิน เพราะยังอาจกล่าวจำแนกออกไปได้อีกหลายลักษณะหลายประการ
ตัวอย่างในด้านดี เช่น บางคนเป็นผู้เหมือนอย่างที่คำเก่าเรียกว่า ฟ้าดินส่งให้มาเกิด เพื่อดับทุกข์ยุคเข็ญในโลก หรือเพื่อเป็นประมุขแห่งประชาชน
ในคติของพราหมณ์ก็มีเรื่องนารายณ์อวตาร เมื่อเกิดยุคเข็ญแก่เทพและมนุษย์ ไม่มีใครจะแก้ไขได้ พระนารายณ์ก็ได้รับอัญเชิญให้อวตารลงมาเกิดในโลก เพื่อปราบยุคเข็ญเสียคราวหนึ่ง
ในเรื่องทางพระพุทธศาสนาเอง ก็มีแสดงว่า พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงได้รับอัญเชิญจากทวยเทพให้จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลก
ในประวัติของชาติไทยเอง ถึงคราวที่ประเทศชาติเกิดยุคเข็ญ ก็ได้เกิดคนดีเข้ามาแก้ไขเป็นคราวๆ เช่น เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกครั้งแรก ก็ได้สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับพระเอกาทศรถ พระอนุชาธิราช ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติกลับคืนมาได้ และทรงรวบรวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นแข็งแรง
ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกเผาพินาศ ก็ได้เกิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้ และได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นใหม่ ทรงรวบรวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นแข็งแรงขึ้นอีก จึงได้มีคำกล่าวว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”
แม้ในสมัยต่อมาถึงปัจจุบันก็ปรากฏว่า ได้มีบุคคลที่เหมือนอย่างเป็นผู้ที่ดินฟ้าส่งมาให้เกิด เพื่อป้องกันหรือแก้หรือปราบ และเพื่อดำรงรักษาประเทศชาติสืบต่อกันมา
ส่วนตัวอย่างในด้านร้าย เช่น บางคนเป็นผู้เหมือนผีปีศาจร้ายมาเกิด เพราะก่อยุคเข็ญเดือดร้อนขึ้นมากมาย ดังที่กล่าวในทางคติชาวจีนว่า ดาวร้ายจุติมาเกิด หรือปีศาจหนีมาเกิด
ดูเหตุการณ์ในโลก จะเห็นว่ามีดีกับร้าย หรือร้ายกับดีเกิดเป็นคู่กันอยู่เสมอ
ว่าถึงคน มีคนดีเกิดมาทำประโยชน์เกื้อกูล ก็มีคนร้ายมาก่อทุกข์โทษเดือดร้อน แล้วมีคนดีมาปราบมาแก้ให้สงบเรียบร้อย แล้วก็มีคนร้ายมาก่อความเดือดร้อนขึ้นอีก
เหตุการณ์เหล่านี้ส่องให้เห็นเหมือนกับว่า คนร้ายย่อมมีกำหนดให้เกิดมาเพื่อก่อการร้าย ส่วนคนดีย่อมมีกำหนดให้เกิดมาเพื่อปราบหรือแก้ไขให้กลับคืนดี เมื่อทำกิจเหมือนดังที่ได้รับกำหนดมาเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ ได้รับการพักผ่อนอยู่ในโลกนี้หรือต้องกลับไปถ้าว่าตามคติอวตาร
สำหรับคนดีก็กลับไปสู่ทิพยสถานตามเดิม สำหรับคนร้ายเช่นผีปีศาจก็ถูกมาตามพบและถูกจับตัว(วิญญาณ)กลับไปสู่สถานที่ที่ตนหนีมา จึงได้มีคติความเชื่อของคน ดังเช่นที่กล่าวมานี้ก็มี
(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตลิขิตได้)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)