xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ห่วยจริง! SME หนี้เน่าพุ่ง บสย.จำใจลดเป้าค้ำสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยสภาพ ศก.แย่ชัดเจน สัญญาณชัดเอสเอ็มอีกว่า 30% ส่อเป็นหนี้เน่า บสย.จำนนปรับลดเป้าค้ำสินเชื่อใหม่จาก 1 แสนล้านบาท เหลือ 5.7 หมื่นล้านบาท หรือลดลงถึง 40% แนะผู้ประกอบการเร่งลดค่าใช้จ่ายด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนบาดแผลลามจนต้องปิดกิจการ
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปีที่แล้ว (2556) ทาง บสย.มียอดค้ำประกันสินเชื่อใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 8.7 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยวงเงินกู้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจภาคบริการ โดยช่วงปลายปีที่แล้วทาง บสย.ได้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อใหม่ในปีนี้ (2557) มูลค่า 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจจริงในปัจจุบันที่เกิดการชะลอตัวอย่างชัดเจน สถาบันการเงินต่างๆ ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง อีกทั้งจากการคาดการณ์เศรษฐกิจมวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะเติบโตเพียง 3% จากที่เดิมคาดจะโต 4-5% รวมถึงยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในช่วง 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวน 3.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้ 6.5 พันล้านบาท นอกจากนั้น ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีเอสเอ็มอีเริ่มมีปัญหาขาดความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น 30%

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เห็นชัดเจนว่า สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของปีนี้ชะลอตัวอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดสินเชื่อใหม่ ดังนั้นทาง บสย.จึงจำเป็นต้องปรับเป้าการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ในปีนี้มาอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท หรือลดลงถึง 40%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ บสย.เอง แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจะชะลอตัว และรัฐบาลรักษาการขาดอำนาจในการตัดสินใจผลักดันโครงการต่างๆ ทว่า การดำเนินงานของ บสย. ยังสามารถเดินต่อไปได้ตามปกติ เนื่องจาก บสย.มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 (พีจีเอส 5) ซึ่งรัฐบาลตั้งวงเงินค้ำประกันให้ บสย.ไว้แล้ว จำนวน 2.4 แสนล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บสย.ใช้ไปเพียง 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ยังสามารถช่วยค้ำประกันให้เอสเอ็มอีได้อีกมาก

นอกจากนั้น บสย.ยังเน้นสร้างความรับรู้บทบาทของ บสย.เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยประสานกับสถาบันการเงินต่างๆ ในการทำหน้าที่ช่วยแนะนำ อีกทั้งจับมือสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการให้ความรู้ และสร้างผู้ประกอบการใหม่ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 40 ราย

นายวัลลภกล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ชัดเจนแล้วว่าปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัวแน่นอน ในส่วนของเอสเอ็มอีเอง แนวทางปรับตัวนั้นทำได้ 2 ทาง คือ 1. เพิ่มยอดขาย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้คงเป็นเรื่องยาก และ 2. ลดรายจ่าย ซึ่งแนวทางที่ทำได้ดีที่สุดคือ ทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ต่อสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ทันที และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

“ตอนนี้การเพิ่มรายได้เพิ่มยอดขายเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นผมขอแนะนำให้เอสเอ็มอีลดรายจ่ายด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการเดินเข้าไปพูดกับแบงก์เลย ไม่ต้องอาย ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องจนกลายเป็นภาระที่เกินรับได้ ในที่สุดกลายเป็นหนี้เสีย และจะทำให้ธุรกิจถึงขั้นปิดกิจการได้” นายวัลลภระบุ

หัวเรือ บสย.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยอดหนี้เสีย หรือเอ็นพีจี (Non Performing Loan Credit Guarantee) ในปี 2556 มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.6% ส่วนปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.2% จากสภาพเศรษฐกิจชะลอดังกล่าว ส่วนผลประกอบการของ บสย.ที่ปีที่แล้วมีกำไรกว่า 3 ร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อสร้าง บสย.มาที่มีผลประกอบการกลับมามีกำไร ส่วนปีนี้คาดผลประกอบการกำไรจะลดเหลือ 1.6 ร้อยล้านบาท จากเป้าเดิมที่คาดว่าจะถึง 4.5 ร้อยล้านบาท ส่วนค่าธรรมเนียมยังคงไว้ที่เดิมตามปกติในอัตรา 1.75% ต่อปี

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น