xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนกอปรด้วยสารัตถะแห่งพุทธธรรม ที่เมื่อได้อ่านพิจารณาแล้ว สามารถน้อมนำมาเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อย่างมากมาย

สำหรับครั้งนี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่ทรงกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติตน ให้สามารถสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ไว้ว่า

“...การสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีแนวทางปฏิบัติที่ใคร่จะแนะนำดังนี้

ข้อแรก ให้ระลึกถึงเกียรติภูมิของบัณฑิตเสมอ เพื่อป้องกันมิให้ประพฤติผิด คือประพฤติทวนหลักวิชา หลักการ เหตุผล และความถูกต้องชอบธรรม

ข้อสอง ให้ตั้งเป้าหมายในการงาน ในชีวิต ไว้แต่ในทางสุจริตดีงาม และเป็นประโยชน์ยั่งยืน แล้วมุ่งดำเนินสู่เป้าหมายนั้น อย่างเที่ยงตรงจริงใจ

ข้อสาม มีความเพียรพยายามกล้าแข็ง ไม่ขาดสาย ทั้งในการสร้างสรรค์งาน และการปฏิบัติปรับปรุงตน เพื่อให้มีความรอบรู้ ความจัดเจนชำนาญ และวิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น

ข้อสี่ ไม่ทำตัวทำใจให้คับแคบ หากให้กว้างขวางหนักแน่น สมบูรณ์ด้วยเมตตาและไมตรี เพื่อสามารถผูกสัมพันธ์ร่วมงาน ร่วมคิดอ่าน กับผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องคล่องตัว

เพียงเท่านี้ ก็เชื่อว่าจะช่วยให้แต่ละคนดำรงตนอยู่และปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งปวงได้โดยราบรื่น ทั้งสามารถบรรลุถึงความสำเร็จที่พึงประสงค์ทุกประการได้อย่างดงาม...”

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีความปรารถนาที่จะสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บุคคลผู้ฉลาดย่อมศึกษาประวัติของท่านผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นวีรบุรุษของตน แล้วพิเคราะห์หาแนวทางการปฏิบัติตนของท่าน เพื่อนำมาประยุกต์ให้ตนเองสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดความสำเร็จเหมือนท่าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรุปแนวทางการปฏิบัตินี้ไว้ ๔ ประการ ซึ่งจักได้นำมาขยายความบนพื้นฐานแห่งพุทธธรรม ที่สามารถน้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงดังนี้

ข้อแรก ให้ระลึกถึงเกียรติภูมิของบัณฑิตเสมอ เพื่อป้องกันมิให้ประพฤติผิด เมื่อพิจารณาถึงหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง นำให้นึกถึงธรรม ๒ ประการ คือ สติ ๑, สัมปชัญญะ ๑

สติ แปลว่า ความระลึกได้ นึกถึงตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยละเอียดถี่ถ้วน หมายถึงอาการที่เรานึกถึงสิ่งที่คิดจะทำจะพูดได้ แล้วก็รู้จักตริตรองสิ่งนั้นด้วยเหตุผล ไม่หลงลืม ทำให้รู้จักยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ไม่บุ่มบ่าม

สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัว ความรู้ชัด ความตระหนัก ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติและสม่ำเสมอ ด้วยความระมัดระวังมั่นคง

เมื่อมี สติ-สัมปชัญญะ แล้ว ย่อมนำให้เกิดมีความละอายต่อบาป (หิริ) ความเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปะ) ด้วยตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากบาปที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถเป็นผู้รักษาความเป็นปกติของตนเองได้อยู่ตลอดเวลา (ขันติ) ทำให้กิริยาวาจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความสง่างามในท่าทาง (โสรัจจะ)

ทั้งตระหนักถึงบุญคุณของท่านผู้มีพระคุณ(บุรพการี) เช่น บิดามารดา เป็นต้น ทำให้มีความมุ่งหวังที่จะตอบแทนคุณท่าน(กตัญญู) และเมื่อตั้งใจทำตามความมุ่งหวังนั้น (กตเวที) พึงเห็นได้จากความคิดที่จะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ด้วยการตั้งใจทำงานที่สุจริต ได้รับผลประโยชน์ที่ควรตามทำนองคลองธรรม

นี่จึงเป็นไปตามพระบรมราโชวาทตอนที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันมิให้ประพฤติผิด คือประพฤติทวนหลักวิชา หลักการ เหตุผล และความถูกต้องชอบธรรม

ข้อสอง ให้ตั้งเป้าหมายในการงาน ในชีวิต ไว้แต่ในทางสุจริตดีงาม และเป็นประโยชน์ยั่งยืน
แล้วมุ่งดำเนินสู่เป้าหมายนั้น อย่างเที่ยงตรงจริงใจ

เมื่อพิจารณาถึงหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง นำให้นึกถึงอธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ อันประกอบด้วย ๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ ๒. สัจจะ ความจริงใจคือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง ๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ ๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

ปัญญา ได้แก่ ความรู้ในวิชาการที่ได้ศึกษามา อันเป็นเหตุเกิดของทรัพย์ เกียรติยศ และความสุข การตั้งเป้าหมายของชีวิตย่อมต้องใช้ปัญญาเป็นตัวพิจารณากำหนดบนพื้นฐานของเหตุผล ตลอดถึงแผนการชีวิตที่จะนำตนให้ถึงเป้าหมายนั้น

ทรงแนะนำให้ตั้งเป้าหมายในการงาน ในชีวิต ไว้แต่ในทางสุจริตดีงาม และเป็นประโยชน์ยั่งยืน ดังนั้น ย่อมต้องพิจารณาเป้าหมายบนพื้นฐานของศีลธรรม และความชอบธรรมตามจารีตประเพณี ทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์อันพึงมีอย่างยาวนาน ปัญญานี้จึงเป็นประดุจเสาเข็มของชีวิต เพราะเป็นรากฐานของความสำเร็จในชีวิตที่ปรารถนา

สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง เมื่อสามารถกำหนดแผนการชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ก็ต้องมีความจริงใจอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินชีวิตไปตามแผนการชีวิตที่กำหนดขึ้นอย่างไม่ท้อถอย แม้จะมีอุปสรรคใดๆมาขวางกั้น ก็ต้องฟันฝ่าไปจนถึงที่สุด

นี่ก็จะเป็นไปตามที่ทรงแนะนำว่า แล้วมุ่งดำเนินสู่เป้าหมายนั้น อย่างเที่ยงตรงจริงใจ นี่คือส่วนที่ยากที่สุดของความสำเร็จในชีวิต

จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ ความจริงใจมักจะไม่ต่อเนื่องยาวนาน ก็เพราะจิตใจของคนเรานั้นมีกิเลสพื้นฐานครองอยู่ คือ ความอยากได้(โลภะ) ความโกรธ(โทสะ) ความหลง ไม่รู้(โมหะ)

ดังนั้น คนที่ละทิ้งเป้าหมายชีวิตที่ตนกำหนดไป ก็เพราะกิเลสทั้งสามนี้ บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงพอใจที่จะสละกิเลสทั้งสามนี้ออกไปจากจิตใจของตนเอง ด้วยอาศัยความจริงใจที่มุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จในชีวิต

อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ สิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ ก็คือ โลกธรรม ๘ อันประกอบด้วย ความมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ความสุข ความทุกข์ ความสรรเสริญ นินทา ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจ ในเชิงบวกคือ ทำให้ภูมิใจ ร่าเริงใจ ในเชิงลบคือ เศร้าหมอง หมดกำลังใจ ดังนั้น ควรที่จะสงบจิตใจของตนไม่ให้อ่อนไหวไปตามอำนาจของโลกธรรมทั้ง ๘ นี้

ลองคิดถึงการสร้างบ้านสักหลังดู เมื่อเราตั้งใจจะสร้างบ้าน นี่ก็คือ อธิษฐานธรรม เราก็ต้องปรึกษากับผู้รู้ และหาความรู้ในเรื่องแบบบ้านที่เราประสงค์ เพื่อกำหนดเป็นแผนการก่อสร้างบ้านขึ้น นี่ก็คือ การใช้ปัญญา

เมื่อได้แบบเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องจ้างช่างก่อสร้าง ผู้รับเหมา มาทำงานตามแบบให้สำเร็จ โดยเรามีความตั้งใจที่จะสร้างบ้านหลังนี้ตามแบบที่กำหนดอย่างไม่ท้อถอย นี่ก็คือสัจจะ

ในขณะสร้างบ้าน อาจเกิดปัญหาขึ้นจากตัวของเรา ด้วยความอยากได้ ความโกรธคนงาน ความไม่รู้ในงานก่อสร้าง เราก็ต้องสละสิ่งเหล่านี้ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบ้านเสีย นี่ก็คือจาคะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากดินฟ้าอากาศ คนงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา ล้วนเป็นเหตุจากผู้อื่น ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราก็ต้องสงบใจไม่ให้ดิ้นรนไปตามอำนาจของปัญหานั้น อันจักเป็นเหตุให้งานชะงักหรือล้มเหลว นี่ก็คืออุปสมะ

บ้านหรือเป้าหมายของชีวิต ย่อมสำเร็จได้ด้วยอำนาจแห่งอธิษฐานธรรม อันประกอบด้วยปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ดังนี้

ข้อสาม มีความเพียรพยายามกล้าแข็ง ไม่ขาดสาย ทั้งในการสร้างสรรค์งาน และการปฏิบัติปรับปรุงตน เพื่อให้มีความรอบรู้ความจัดเจนชำนาญ และวิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น เมื่อพิจารณาถึงหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง นำให้นึกถึงธรรมคือ อิทธิบาทธรรม ในมงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง

เมื่อกำหนดแผนการชีวิตแล้ว ก็ย่อมมีงานที่เกี่ยวข้องอยู่ ความก้าวหน้าในงาน จึงเป็นส่วนที่สำคัญของแผนการชีวิต ความสำเร็จของงาน จักเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของแผนการชีวิต คนที่ไม่บรรลุถึงเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ ก็เพราะทำงานไม่มีประสิทธิผล กลายเป็นตัวทำลายความสำเร็จของตนเอง

เหตุที่ทำให้การทำงานไม่ได้ผล ก็คือ ๑. ทำงานไม่ถูกกาล ยังไม่ถึงเวลาทำ ก็ใจร้อนด่วนไปทำ แต่พอถึงเวลาควรทำกลับไม่ทำ ๒. ทำงานไม่ถูกวิธี ทำผิดขั้นตอน ผิดลำดับ ทำให้เสียเวลาในการแก้ไข ๓. ไม่ยอมทำงาน ชอบผัดวันประกันพรุ่ง หรือหาเหตุต่างๆ นานามาอ้าง ผลที่ติดตามมาก็คือ งานคั่งค้างรอสะสางมากขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงอิทธิบาทธรรม ธรรมอันนำให้เกิดความสำเร็จ ไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ คือความรักงาน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเล็งเห็นผลดีของงานว่า ถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไร เมื่อตระหนักรู้เหตุผลแล้ว ก็จะเกิดความเต็มใจพอใจในทำงาน มุ่งหวังที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ

๒. วิริยะ คือความพากเพียร ความไม่ท้อถอย กล้าที่จะทำงานในความรับผิดชอบให้เกิดประสิทธิผล นี่จะตรงกับที่ทรงแนะนำว่า มีความเพียรพยายามกล้าแข็ง ไม่ขาดสาย ทั้งในการสร้างสรรค์งาน และการปฏิบัติปรับปรุงตน

๓. จิตตะ
คือความเอาใจใส่ หรือความตั้งใจทำ เป็นคนไม่ปล่อยปละละเลยกับงานของตน คอยตรวจตรางานอยู่เสมอ ใส่ใจกับงานที่ทำอยู่แล้ว ทำให้เป็นไปตามที่ทรงแนะนำว่า เพื่อให้มีความรอบรู้ความจัดเจนชำนาญ

๔. วิมังสา
การพินิจพิเคราะห์งานด้วยปัญญา เพื่อพัฒนางานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้งานเป็นไปตามที่ทรงแนะนำว่า วิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น

คนเราที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ในเป้าหมายของชีวิตหรือแผนการชีวิตที่กำหนดไว้ ก็เพราะขาดความเพียรในการดำเนินชีวิตไปตามแผนการชีวิตที่ตนได้กำหนดขึ้น ทำให้เกิดความท้อถอยล้มเลิกความมุ่งมั่นในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จ ความเพียรจึงเป็นเหมือนหัวใจของแผนการชีวิต ที่จะขับเคลื่อนเราไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง

ข้อสี่ ไม่ทำตัวทำใจให้คับแคบ หากให้กว้างขวางหนักแน่น สมบูรณ์ด้วยเมตตาและไมตรี เพื่อสามารถผูกสัมพันธ์ร่วมงาน ร่วมคิดอ่านกับผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องคล่องตัว เมื่อพิจารณาถึงหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง นำให้นึกถึง พรหมวิหารธรรม

พรหมวิหารธรรม
ธรรมของท่านผู้เป็นใหญ่ เป็นหลักธรรมประจำใจ ที่จะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ประกอบด้วยธรรมดังนี้

๑. เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

เมตตาสามารถแสดงทางกาย ด้วยการให้สิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแก่ผู้อื่น ทางวาจา ด้วยการพูดแนะนำให้เขาได้ถึงความสุขที่ตนปรารถนา ถ้าไม่สามารถแสดงทางกายวาจาได้ ก็คิดปรารถนาให้เขามีความสุขในใจ

๒. กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ยามเมื่อประสบพบว่าคนที่รู้จักก็ดี คนที่เราสามารถช่วยเขาได้ก็ดี กำลังมีความทุกข์เดือดร้อนในความเป็นอยู่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือเขาตามกำลังความสามารถของตน ด้วยการอุปถัมภ์เงินทองตามความเหมาะสมให้เขาสามารถรักษาตัวรักษาชีวิตให้เป็นปกติ หรือกล่าววาจาให้กำลังใจเขา

๓. มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข หรือมีความเจริญก้าวหน้า ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา เพราะความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน จงหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง

๔. อุเบกขา การรู้จักวางเฉย การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ

เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษ เราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่น ให้พ้นจากความทุกข์ ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

พรหมวิหารธรรมจึงทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ทำตัวทำใจให้คับแคบ หากให้กว้างขวางหนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเมตตาและไมตรี เพื่อสามารถผูกสัมพันธ์ร่วมงาน ร่วมคิดอ่านกับผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องคล่องตัว ตามที่ทรงแนะนำไว้

เหตุนี้ เมื่อผู้ประสงค์จะสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ก็พึงทำตนให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ตั้งอธิษฐานธรรม มีอิทธิบาทธรรมประจำใจ และดำรงมั่นคงในพรหมวิหารธรรม ก็ย่อมประสบผลตามคำที่ทรงแนะนำว่า

“...เพียงเท่านี้ ก็เชื่อว่าจะช่วยให้แต่ละคนดำรงตนอยู่และปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งปวงได้โดยราบรื่น ทั้งสามารถบรรลุถึงความสำเร็จที่พึงประสงค์ทุกประการได้อย่างดงาม”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 159 มีนาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น