เมื่อมาระลึกถึงความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่มหาสมาคม ณ ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ว่า
"...บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง และร่มเย็นเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ
คนไทยทุกคนจึงควรจะได้ตระหนักในข้อนี้ให้มาก แล้วตั้งใจประพฤติตัว ปฏิบัติงาน ให้สมแก่ฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย ..."
ดังนั้น เมื่อประสงค์จะน้อมนำพระราชดำรัสนี้มาไว้เป็นหลักปฏิบัติตน จึงนำให้มีความสนใจค้นคว้าศึกษาถึงหลักการทำงาน ที่ทรงพระราชทานไว้ในพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัส
ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมอันชื่อว่า พละ ๕ คือ ธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ ที่ก่อให้เกิดความมั่นคงในการทำงาน อันประกอบด้วย ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. สติ ความระลึกได้ ๔. สมาธิ ความตั้งจิตมั่น ๕. ปัญญา ความรู้ชัด
ซึ่งจักได้อรรถาธิบายในหลักธรรมแต่ละข้อ และน้อมนำพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวเนื่องกับหลักธรรมข้อนั้นมาเสนอ ให้ได้อ่านพิจารณาเพื่อเกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในการปฏิบัติตนสืบไป
ศรัทธา ความเชื่อ ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกไว้เป็น ๔ ประการ คือ
๑. เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในพระพุทธองค์ ซึ่งจะนำให้เกิดการใฝ่เรียนรู้พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ ด้วยน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดสุขประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
๒. เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนาคือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีจักเกิดมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป
การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือรอคอยโชควาสนา เป็นต้น
๓. เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
๔. เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของกรรม จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ทรงกล่าวถึง “ศรัทธา” ในการทำงานไว้ว่า
"...จะพูดถึงวิธีปฏิบัติงานโดยแยบคายต่อไป ข้อแรก จะต้องสร้างศรัทธาให้มีขึ้นก่อน เพราะศรัทธา หรือความเชื่อมั่นในประโยชน์ของงานนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือทำให้มีการปฏิบัติด้วยใจในทันที แม้ก่อนที่จะลงมือทำ
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำการใดๆ จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นก่อน และการสร้างศรัทธานั้น จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วย ศรัทธาที่พึงประสงค์จะต้องไม่เกิดจากความเชื่อง่าย ใจอ่อนปราศจากเหตุผล หากจะต้องเกิดขึ้นจากความเพ่งพินิจ พิจารณา ใคร่ครวญแล้วด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนเห็นถ่องแท้ถึงคุณค่าและประโยชน์อันแท้จริงในผลของการปฏิบัติที่จะบังเกิดตามมา
ศรัทธาลักษณะนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมน้อมนำฉันทะ ความพอใจ ความกระตือรือร้น ความพากเพียรขวนขวาย ตลอดจนความฉลาดริเริ่มให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง แล้วสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานดำเนินก้าวหน้าไปโดยราบรื่นจนสัมฤทธิผล..."
วิริยะ ความเพียร การทำตนเองให้เป็นผู้มีความเพียรในการงานทั้งหลายนั้น จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปโดยลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ทอดทิ้งธุระ คือ เมื่อตั้งใจจะทำการงานใด ก็จงรีบลงมือทำการงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไป ไม่ปล่อยปละละเลยให้คั่งค้าง
๒. ความเป็นผู้ไม่เบื่องาน คือ งานที่มาถึงต้องรีบทำไม่ชักช้า หรือสะสางการงานที่คั่งค้างอยู่เดิมให้เสร็จสิ้นไป ไม่เบื่อหน่าย ปลูกฉันทะความพอใจให้เกิดขึ้นในงานนั้น
๓. ความไม่ผลัดเพี้ยนวันเวลา คือไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง รีบกระตือรือร้นทำการงานตามหน้าที่
ความขยันหมั่นเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสายดังนี้ จะเป็นเหตุทำให้เกิดอดทนต่ออุปสรรคในการทำงาน มีความไม่ท้อถอยในการทำงาน ช่วยให้ดำเนินการงานในหน้าที่ มีการพัฒนาอยู่เรื่อยไปเป็นตามลำดับ ทำให้ตนเองเป็นคนมีวินัยในการทำงานได้ในที่สุด
มีพุทธศาสนสุภาษิตเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียรที่ควรระลึกไว้เสมอว่า
วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา - เป็นคนควรพยายามไปจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ
กยิรา เจ กยิราเถนํ ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม - หากจะทำ ควรทำกิจนั้นจริงๆ ควรบากบั่นให้มั่นคง อย่าย่อท้อ
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงกล่าวถึง “ความเพียร” ในการทำงานไว้ว่า
“...กำลังความเพียร ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นได้ว่าเป็นผลประการหนึ่งที่เกิดมาตามต่อจากศรัทธาที่กล่าวนั่นเอง ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆ
หากแต่อุตส่าห์พยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือ ก็ยังพยายามคิดต่อไปไม่ทอดธุระ กำลังความเพียรจึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไปจนบรรลุความสำเร็จ โดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้
ท่านทั้งหลายจึงควรศึกษาพิจารณากำลังความเพียรนี้ให้เห็นจริง ให้เข้าใจชัด ด้วยความรู้ความฉลาดของท่าน แล้วตั้งใจให้มั่นคง ที่จะนำความเพียรของท่านมาใช้ให้ถูกต้องตามวิถีทาง คือ เพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันความเสื่อมนั้น มิให้เกิดขึ้นใหม่ เพียรที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้เกิดขึ้น และระวังรักษาไว้มิให้เสื่อมสลาย ประโยชน์และความสุข ทั้งในส่วนตัวในส่วนรวม ก็จะสำเร็จขึ้นพร้อม และดำรงมั่นคงอยู่ได้ตลอดไป...”
สติ ความระลึกได้ ความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ก่อนที่จะทำ จะพูด หรือแม้แต่จะคิดเรื่องต่างๆ สติจะทำให้หยุดคิดว่าสิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหายหรือจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปในระยะยาว
เมื่อคิดได้ก็จะสามารถตัดสินการกระทำของตนได้ถูกต้อง แล้วก็จะกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่สุจริต ที่มีประโยชน์อันยั่งยืน ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นความผิดเสียหายทั้งแก่ตนและส่วนรวม
ความมีสตินั้นจะช่วยให้สามารถศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างละเอียดประณีต คือเมื่อจะศึกษาสิ่งใด ก็จะพิจารณากลั่นกรองสิ่งที่มิใช่ความถูกต้องแท้จริงออกเสียก่อน เพื่อให้ได้มาแต่เนื้อแท้ที่ปราศจากโทษ
ผู้หวังความมั่นคงปลอดภัยทั้งของตนขององค์กร เมื่อจะทำการงานใดๆที่สำคัญ ควรอย่างยิ่งที่จะหยุดคิดสักหน่อยก่อนทุกครั้ง แล้วจะไม่ต้องประสบกับความผิดหวังและผิดพลาดในชีวิต
สมาธิ ความตั้งจิตมั่น การทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในงานที่กำลังทำอยู่ โดยไม่สนใจในเรื่องอื่นที่จะทำให้เกิดผลเสียกับงาน นำให้เกิดกระบวนการทางความคิดในงานนั้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ความพอใจในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่องานหายไป
จิตใจที่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่นด้วยการเปรียบเทียบผลงานก็ไม่เกิดขึ้น ใจเกิดความตื่นตัวอย่างเต็มที่ จนทำให้ไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือหดหู่เคลิบเคลิ้ม ไม่มีความรำคาญใจ และหมดความลังเลสงสัยในงาน ความตั้งใจมั่นนี้จึงทำให้งานในหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงกล่าวถึง “สติและสมาธิ” ในการทำงานไว้ว่า
“...การทำงานนั้นถึงแม้ทำด้วยศรัทธา ด้วยความหมั่นขยันไม่ทอดทิ้ง ก็ยังมีช่องมีคราวที่อาจจะเสียหายบกพร่องได้ ในขณะเมื่อมีความประมาทเผลอพลั้งเกิดขึ้น
นักปฏิบัติงานจึงต้องระมัดระวัง ควบคุมสติให้ดีอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ความรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนก็จะมีขึ้น เป็นเครื่องป้องกันความเสียหายและอันตรายมิให้เข้ามาถึงตัว
อีกอย่างหนึ่งนอกจากความมีสติ คือกำลังความตั้งใจ ซึ่งในที่นี้หมายถึงความสามารถควบคุมจิตใจให้สงบและหนักแน่นมั่นคง ควบคุมความคิดให้อยู่ในระเบียบ ให้คิดอ่านอยู่แต่ในเรื่องหรือในภารกิจที่ต้องการจะทำให้สำเร็จ ไม่ปล่อยให้คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ นอกจุดหมายอันพึงประสงค์
กำลังความตั้งใจนี้ ช่วยให้รู้ให้เข้าใจเรื่องราวและปัญหาต่างๆได้กระจ่าง ให้คิดเห็นช่องทางและวิธีการปฏิบัติงานได้แจ่มแจ้ง ชัดเจน รวดเร็ว ไม่มีความลังเลสงสัย หรือพะวักพะวนด้วยสิ่งกวนกายกวนใจใดๆ เป็นเครื่องกีดขวาง...”
ปัญญา ความรู้ชัด ความรอบรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อันนำให้เกิดความรู้ ๓ ประการคือ
๑. รู้ตน รู้จักความเด่นและความด้อยของตนเอง การรู้ความเด่นก็เพื่อทำงานที่เหมาะกับความสามารถของตน การรู้ความด้อยก็เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของตน ทำให้หัดมองตนและตักเตือนตนเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า อตฺตนา โจทยตฺตตานํ - จงเตือนตนด้วยตนเอง
๒. รู้คน ความรอบรู้เกี่ยวกับคนร่วมงาน เพื่อจะได้ใช้คนให้เหมาะกับงาน นอกจากนั้น ยังรู้จักจริตของคนร่วมงาน เพื่อใช้งานที่เหมาะสมกับจริตของเขา
๓. รู้งาน ความรอบรู้เกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบ ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ อย่างไร และความรู้เท่าถึงการณ์ในเมื่อเห็นเหตุแล้วคาดว่า ผลอะไรจะตามมา แล้วเตรียมการป้องกันไว้
มีความรู้เท่าทันสถานการณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงกล่าวถึง “ปัญญา” ในการทำงานไว้ว่า
“...ปัญญา ความรู้ชัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่จะต้องผ่านพบในการปฏิบัติงาน
ความรู้ชัดนี้หมายถึงความรู้ที่กระจ่าง ถูกต้องตามเหตุตามผลและตามจริง เกิดขึ้นได้โดยอาศัยความรู้อันกว้างขวาง ที่ได้รู้ได้เห็น ได้ศึกษาสังเกตมาแล้วเป็นเนื้อหา อาศัยสติ ความระลึกรู้ และความมีใจสงบตั้งมั่นในความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวด้วยอคติ เป็นพื้นฐานรองรับ และเป็นเครื่องพิจารณากลั่นกรอง สำเร็จเป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนถูกต้อง ทำให้สามารถวินิจฉัยชี้ชัดในกรณีทั้งปวงได้อย่างแม่นยำถูกต้อง
ผู้มีกำลังปัญญาจึงรู้จริงและรู้ซึ้ง มองเห็นปัญหาและภารกิจของตนได้อย่างชัดเจนโดยตลอดหมดทุกอย่าง สามารถปฏิบัติบริหารให้สำเร็จเรียบร้อยได้โดยยุติธรรมถูกต้อง...”
เมื่อเราได้อ่านเนื้อความพละ ๕ ดังพรรณนามา แล้วกำหนดแนวทางแห่งการปฏิบัติตนให้เป็นไปหลักธรรมนี้ ความสำเร็จในองค์กรก็จะเกิดขึ้น
เพราะการทำงานที่สอดคล้องเกื้อกูลกันของบุคลากร ส่งผลให้เกิดประโยชน์สุขในหน่วยงานต้นสังกัด และเมื่อแต่ละหน่วยงานได้สามัคคีกันดังนี้แล้ว ประเทศไทยก็จะมีความวัฒนาสถาพรต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)