อุบลราชธานี- สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมอบปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้ พญ.ซินเทียค่า แพทย์ผู้เสียสละช่วยประชาชนท่ามกลางภัยสงครามกลางเมืองประเทศเมียนมาร์ ในงานพระราชทานปริญญาบัตร 18 ธ.ค.นี้ พร้อมมอบรางวัล “รัตโนบล” ให้ 2 นักการศึกษาที่อุทิศตนช่วยสังคม
รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนะสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2555 ในวันพุธที่ 18 ธ.ค.ศกนี้ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 2,658 คน ระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 202 คน รวมเป็นบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น 2,860 คน
สำหรับปีการศึกษานี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีมติอนุมัติให้แพทย์หญิงซินเทียค่า (Dr. Cynthiakah) ซึ่งเป็นตัวอย่างของแพทย์ผู้เสียสละความสุขส่วนตน ทำงานดูแลผู้อพยพจากภัยสงคราม และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส ท่ามกลางความขัดแย้งของชาติพันธุ์และความขาดแคลนของเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงเหมาะสมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับประวัติแพทย์หญิงซินเทียค่า เป็นชาวกะเหรี่ยง เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2502 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเมื่อปี 2528 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าทำรัฐประหารในปี 2531 แพทย์หญิงซินเทียค่าได้อพยพมาอยู่ในค่ายผู้อพยพอพยพบ้านแม่หละ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
รวมทั้งได้ตั้งแม่ตาวคลินิกให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ที่มีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ ความเชื่อ อุดมการณ์ และภูมิหลัง ที่เจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการสู้รบด้วยความยากลำบาก เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และยังมีปัญหาการขาดแคลนด้านภาวะทางโภชนาการในเด็ก แต่ไม่ย่อท้อได้ให้การช่วยเหลือผู้อพยพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติและนานาชาติ สมควรได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างในครั้งนี้
ในคราวเดียวกันนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานียังมีมติมอบรางวัลรัตโนบล ซึ่งเป็นราชทินนามของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด สมจิตต์) อริยสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานในอดีต เพื่อเชิดชูเกียรติคุณแก่ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์สมควรแก่การยกย่อง โดยในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศหลายประการ
ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิปฏิบัติธรรมพระโพธิสัตว์กวนอิม จังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ครอบครัวเด็กยากจนในชนบท ผู้ก่อตั้งและบริหารสมาพันธ์องค์การพัฒนาชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีพัฒนาประเทศไทย สมาคมอาสาพัฒนาชุมชน สมาคมอาชีพการเกษตรก้าวหน้าสิงห์ทอง เป็นต้น
อีกคนคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มีบทบาทร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมจัดทำหลักสูตรจุลชีววิทยา และหลักสูตรเคมี ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แก่ชุมชน โรงเรียน ครู และนักเรียน กลุ่มโรงเรียนรอบมหาวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22
ด้วยคุณูปการที่เสียสละมุ่งมั่นอุทิศตน ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคม วงการศึกษา และต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไปและเหมาะสมได้รับรางวัลดังกล่าวประจำปีนี้