xs
xsm
sm
md
lg

เห็นต่างเรื่องสีจีวร : เรื่องเล็กที่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ฆราวาสทะเลาะกันเรื่องกาม สมณพราหมณ์ ทะเลาะกันเรื่องทิฐิ” นี่คือวาทะที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของคนสองกลุ่มที่มีเพศและภาวะต่างกัน โดยมีมูลเหตุการทะเลาะต่างกัน

วาทะที่กล่าวข้างต้นไม่ปรากฏเป็นของผู้ใด แต่ที่ได้นำมาเกริ่นเป็นบทนำของบทความนี้ ด้วยเห็นว่าสอดคล้องกับหัวข้อเรื่อง

โดยนัยแห่งวาทะนี้หมายถึงว่า ฆราวาสหรือผู้ครองเรือนมีมูลเหตุแห่งการขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องกามเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสมณพราหมณ์หรือนักบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพุทธศาสนาเป็นผู้ไม่มีเรือนคือ ออกบวชเพื่อมุ่งแสวงหาความสงบ ซึ่งจะนำไปสู่ความหลุดพ้น แต่ในขณะที่อยู่ในภาวะแห่งอเสขบุคคลคือยังไม่หลุดพ้น หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมมติสงฆ์ก็อาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ แต่มูลเหตุแห่งความขัดแย้งมิได้เกิดจากกาม แต่เกิดจากทิฐิหรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน

คำว่า กาม ซึ่งเป็นเหตุให้ฆราวาสขัดแย้งกัน ตามนัยแห่งคำสอนในพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็น 2 ประการคือ

1. วัตถุกาม อันได้แก่ สิ่งน่าใคร่ น่าปรารถนาของปุถุชนคนมีกิเลสทั้งหลายในคำสอนของพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นที่ตั้งหรือเป็นบ่อเกิดกิเลสคือราคะและโลภะ

2. กิเลสกามอันได้แก่ ความอยาก ความต้องการในวัตถุกาม

เมื่อใดก็ตามที่บุคคลต้องการวัตถุกามตั้งแต่สองคนขึ้นไป และไม่สามารถแบ่งกันได้ด้วยความเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับในระหว่างผู้ต้องการด้วยกัน คนเหล่านี้ก็จะทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงสิ่งนั้นมาเป็นของตน

ส่วนคำว่า ทิฐิหรือความเห็นอันเกิดจากการคิดหรือที่เรียกรวมๆ ว่า ความคิดเห็นในทางพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประการ

1. มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด อันได้แก่ความเห็นที่แตกต่างไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี เป็นต้น

2. สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบาปมี บุญมี เป็นต้น

นักบวชที่มีความเห็นต่างในลักษณะตรงกันข้ามคือเห็นในสิ่งผิดว่าเป็นสิ่งถูก หรือมิจฉาว่าเป็นสัมมา และเห็นในสิ่งถูกว่าผิดหรือสัมมาเป็นมิจฉา จะเป็นเหตุให้ขัดแย้งกัน และนำไปสู่ความแตกแยก ถ้าต่างฝ่ายต่างมีพวกมากก็จะมีแยกออกจากกัน และเกิดเป็นนิกายใหม่ขึ้นเป็นเอกเทศต่างหาก และการแตกแยกอันเกิดจากมีทิฐิ หรือความเห็นต่างกันนี้เกิดขึ้นในทุกศาสนา และทุกลัทธิถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ และความขัดแย้งในทางความคิดนี้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางลบและในทางบวก

ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกก็จะทำให้ศาสนาและลัทธินั้นเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน

ในทางกลับกัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในทางลบ ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมและในที่สุดก็จะล่มสลายหายไป

วันนี้และเวลานี้ได้เกิดมีความเห็นต่างเกี่ยวกับสีจีวรในวงการสงฆ์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายธรรมยุต เมื่อสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคมได้ประกาศให้ใช้จีวรสีพระราชนิยม ซึ่งเป็นสีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสจะให้ภิกษุสงฆ์ใช้เมื่อเข้าร่วมในการพระราชพิธีเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และในเรื่องเดียวกันนี้ ได้มีนักข่าวไปถามพระธรรมฐิติญาณ เจ้าคณะภาค 10 ฝ่ายธรรมยุต และพระเดชพระคุณพระธรรมฐิติญาณได้แสดงความเห็นว่า สำหรับของท่านซึ่งเป็นสายพระป่า โดยปกติจะห่มจีวรสีกรักคือสีหม่นจากการย้อมด้วยแก่นขนุนตามที่ครูบาอาจารย์ถือปฏิบัติกันมา แต่ก็จะดูกาลเทศะและความเหมาะสม โดยจะใช้จีวรสีพระราชนิยมเมื่อเข้าร่วมในการพระราชพิธี

จากการแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ ได้มีสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับนำไปเสนอข่าวในทำนองว่า พระป่าคัดค้านคำสั่งการใช้จีวรสีพระราชนิยม ทั้งๆ ที่ถ้าอ่านเนื้อหาของการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวโดยละเอียด เป็นเพียงการบอกถึงวิธีปฏิบัติของพระป่า แต่ก็มิได้ปฏิเสธในการใช้จีวรสีพระราชนิยม เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะยังคงใช้สีกรักเมื่ออยู่ที่วัด และจะใช้สีพระราชนิยมเมื่อเข้าร่วมในการพระราชพิธี ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชประสงค์แล้ว ไม่เห็นมีประเด็นใดที่บ่งบอกถึงการคัดค้าน

อีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องคำสั่งของเจ้าคณะธรรมยุตดังกล่าว ได้มีนักวิชาการทางด้านศาสนาท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะยุแหย่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย โดยให้เหตุผลถึงการที่ธรรมยุตประกาศให้ใช้จีวรสีพระราชนิยมเป็นสีประจำ เมื่อมหานิกายเข้าร่วมในการพระราชพิธีก็จะต้องใช้สีเดียวกัน ซึ่งเป็นเสมือนการบังคับให้ต้องปฏิบัติตามธรรมยุต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนในฐานะเป็นชาวพุทธศรัทธา และนับถือพระภิกษุทุกนิกาย เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จึงไม่เห็นด้วยที่ชาวพุทธคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะที่มีความรู้เรื่องศาสนาจะนำเอาเรื่องสีจีวรอันเป็นเรื่องเล็กน้อย และมิได้เป็นเรื่องของการผิดธรรม ผิดวินัยมาเป็นประเด็นปลุกให้เกิดกระแสขัดแย้ง และเชื่อว่าพระภิกษุผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยทั้งสองนิกายคงไม่มองเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง แต่คงจะเห็นด้วยและคล้อยตามในเรื่องของความเป็นเอกภาพ ถ้าพระสงฆ์ในประเทศไทยจะครองจีวรสีเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าร่วมในการพระราชพิธี ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่เป็นการขัดต่อพระวินัยแต่ประการใด

เมื่อนำสีจีวรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 5 ว่าด้วยจีวรขันธกะ พระพุทธองค์ทรงห้ามใช้จีวรสีที่มิควรคือเขียวล้วน เลื่อมล้วน ดำล้วน แดงเข้ม แดงกลาย (ชมพู) และได้ทรงอนุญาตสีย้อมจีวร 6 ชนิด คือสีที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ลำต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ และทรงอนุญาตวิธีการต่างๆ ในการย้อมจีวร

ปัจจุบันในประเทศไทยพระป่านิยมใช้แก่นต้นขนุนย้อมจีวร และสีที่ได้จะเป็นสีเหลืองหม่น ส่วนพระบ้านจะใช้สีเคมีซึ่งมีขายทั่วไป และส่วนใหญ่จะใช้จีวรที่มีผู้มาถวาย และใช้สีเหลืองหรือเหลืองแดงซึ่งมิได้ทรงห้ามไว้

ส่วนสีพระราชนิยมเป็นสีเหลืองทองใช้กันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฝ่ายธรรมยุตคล้ายคลึงกับสีที่ได้จากแก่นขนุน แต่อ่อนกว่าจึงเป็นสีที่มิได้ห้ามไว้

ดังนั้น การกำหนดการใช้จีวรสีพระราชนิยมของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เพื่อความเป็นเอกภาพทางกายภาพ และเป็นการสนองพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเรื่องควรแก่การอนุโมทนาและควรค่าแก่การยกย่องสนับสนุนมากกว่าที่จะนำมาเป็นประเด็นปลุกกระแสความขัดแย้งใดๆ ทั้งเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ควรมองข้ามเพื่อเป็นการลดอัสมิมานะคือการถือตัว ถือตนอันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอนัตตสัญญาซึ่งจะนำไปสู่การปล่อยวาง อันเป็นแนวทางของผู้ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นอันเป็นแก่นของพุทธศาสนา
กำลังโหลดความคิดเห็น