เมื่อพิจารณาความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ความตอนหนึ่งว่า
“...ความปรารถนาของทุกๆคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือต้องการให้ตนเอง มีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบ ร่มเย็น ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มกำลัง
ข้อสำคัญ จะคิดจะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ งานของตน และงานของชาติ จักได้ดำเนินก้าวหน้าไป โดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุถึงประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญ และความสงบร่มเย็น ดังที่ทุกคนตั้งใจปรารถนา...”
นำให้ต้องมาคิดถึงสารัตถะแห่งธรรม ที่ควรน้อมนำมาเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตในพุทธศักราช ๒๕๕๗ ดังนี้
อะไรจักเป็นเหตุให้สามารถที่จะคิดจะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ โดยทำให้งานของตน และงานของชาติ จักได้ดำเนินก้าวหน้าไป โดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุผล คือทำให้ตนเอง มีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ลองคิดกันดูสักนิด....
สมมติว่า เราเป็นคนดื่มสุราจนมีอาการมึนเมา เราจะนึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยได้ไหม? คนที่มีอคติ มีความเห็นแก่ตัว ชอมโมโหโกรธคนอื่น จะทำงานของตน และงานของชาติ จักได้ดำเนินก้าวหน้าไป โดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด ได้หรือ? ...สามัญสำนึกของปกติชนย่อมให้คำตอบว่า “ไม่”
เมื่อตริตรองดูแล้ว ย่อมตระหนักได้ว่า สารัตถะแห่งธรรมที่ควรเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตในพุทธศักราช ๒๕๕๗ ก็คือ การประพฤติตนให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ (โดยปกติ เมื่อกล่าวถึง สติ ย่อมหมายเป็น สติ-สัมปชัญญะ) ซึ่งมีอรรถาธิบายได้ดังนี้
สติ แปลว่า ความระลึกได้ นึกถึงตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยละเอียดถี่ถ้วน หมายถึงอาการที่เรานึกถึงสิ่งที่จะคิดจะทำจะพูดได้ แล้วก็รู้จักตริตรองสิ่งนั้นด้วยเหตุผล ไม่หลงลืม ทำให้รู้จักยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ไม่บุ่มบ่าม
สติเป็นธรรมมีอุปการะมาก ช่วยทำให้เรามีระบบความคิดที่กอปรด้วยเหตุผล สติเป็นคุณธรรมที่เกิดเองไม่ได้ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนรวบรวมจิตใจให้แน่วนิ่ง จนทำให้เกิดความรู้ใน ๓ ลักษณะคือ
๑. รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว
๒. รู้เท่าทันในอารมณ์ที่เกิดขึ้น
๓. รู้เท่าทันความคิด
สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะคู่กับสติ หมายถึง ความรู้ตัว ความรู้ชัด ความตระหนัก ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติและสม่ำเสมอด้วยความระมัดระวังมั่นคง อันแสดงลักษณะได้ ๔ ประการคือ
๑. ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำสิ่งที่ตรงกับวัตถุประสงค์หรืออำนวยประโยชน์ที่มุ่งหมาย
๒. ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำแต่สิ่งที่เหมาะสบาย เอื้อต่อภาวะของตน
๓. ความรู้ตระหนักที่จะคุมกายและความคิดไว้ให้อยู่ในงานของตน ไม่ให้เขว เตลิด เลื่อนลอย หรือหลงลืมไปเสีย
๔. ความรู้ตระหนัก ในเนื้อหาสาระ และสภาวะของสิ่งที่ตนกระทำอยู่นั้น ตามที่เป็นจริง มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลงหรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวน เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึง สติ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ความว่า
“...ความบังคับตนเองนั้น เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือเรียกสั้นๆว่า “สติ” กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำ จะพูด หรือแม้แต่จะคิดเรื่องต่างๆ สติหรือความรู้สึกระลึกได้นั้นจะทำให้หยุดคิด ว่าสิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหาย หรือจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปในระยะยาว
เมื่อบุคคลคิดได้ ก็จะสามารถตัดสินการกระทำของตนได้ถูกต้อง แล้วก็จะกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่สุจริต ที่มีประโยชน์อันยั่งยืน ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นความผิดเสียหายทั้งแก่ตนและแก่ส่วนรวม
ความมีสตินั้น จะช่วยให้สามารถศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างละเอียดประณีต คือเมื่อจะศึกษาสิ่งใด ก็จะพิจารณากลั่นกรองสิ่งที่มิใช่ความถูกต้องแท้จริงออกเสียก่อน เพื่อให้ได้มาแต่เนื้อแท้ที่ปราศจากโทษ
บัณฑิตทั้งปวงผู้หวังความมั่นคงปลอดภัย ทั้งของตน ของชาติบ้านเมือง เมื่อจะทำการงานใดๆที่สำคัญ ควรอย่างยิ่งที่จะหยุดคิดสักหน่อยก่อนทุกครั้ง แล้วท่านจะไม่ต้องประสบกับความผิดหวังและผิดพลาดในชีวิต...”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระนิพนธ์ถึง สติ ในหนังสือแสงส่องใจ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ว่า
“ความคิดสำคัญนัก แต่สติก็สำคัญที่สุด เพราะต้องมีสติจึงจะรู้ทันความคิดของตนว่าเป็นไปอย่างไร คิดปรุงแต่งไปให้ความโลภเกิด หรือให้ความโกรธเกิด หรือให้ความหลงเกิด สติจะทำให้รู้ได้ถึงความคิดดังกล่าว ไม่มีสติจะทำให้ไม่รู้
ดังนั้น พึงอย่าลืมว่าสติสำคัญ พึงรักษาสติไว้ให้มั่น และวิธีรักษาสติที่ง่ายประการหนึ่ง ก็คือให้หาหลักผูกสติไว้ อย่าให้หลุดลอยเลื่อนไหลไปตามสบาย
หลักสำคัญที่สุดเป็นหลักแห่งมหามงคลที่แท้จริง คือหลักพระพุทโธ นั่นคือพยายามให้ใจ คือให้สตินั่นเอง ติดอยู่กับหลักพระพุทโธ คือท่องพุทโธไว้ให้ทุกเวลานาทีที่ไม่วุ่นวายหนักหนาอยู่ด้วยธุรกิจการงานที่ต้องใช้ความคิด ใช้สมอง นั่นแหละคือการฝึกสติ หรือฝึกใจให้อยู่กับที่ อยู่กับหลักพระพุทโธ ทำไปเถิด สติจะมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ การรู้ทันความคิดจะเกิดตามมาพร้อมกัน เป็นคุณสำคัญแก่ชีวิตอย่างแท้จริง”
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวว่า สติ คือความไม่ประมาท ดังนี้
“..ความไม่ประมาทนั้นหมายถึง เรื่องจิตอันเดียว คือ มีสติไม่พลั้งเผลอหลงลืม อย่างเช่นเราเดินตามถนนหนทางไปไม่เพลินไม่หลงมัวเมา หมายถึงว่าเราต้องเดินด้วยความระมัดระวัง กลัวรถจะชนเอา กลัวขโมยเขาจะมาตีชิงวิ่งราวอะไรต่างๆ อันนั้นเรียกว่าความไม่ประมาท
ความไม่ประมาทนี้เป็นเหตุให้รักษาตัวได้ อย่างชั้นดีขึ้นไปกว่านั้นอีก ความไม่ประมาทคือ มีสติควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่หลงพลั้งเผลอ
สติ คือความไม่ประมาทนี้ สามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายหลายอย่าง ป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นก็ได้ รักษากิเลสของตนก็ได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองคิดดู
เราคิดจะทำลายคนอื่นเพราะเผลอสติ เมื่อมีสติตั้งมั่นแล้วไม่สามารถจะทำลายคนอื่นได้ เรามีสติอยู่ทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ นั่นแหละ คือความไม่ประมาท...”
การปฏิบัติตนเองให้เป็นผู้มีสติควรประพฤติดังนี้
๑. ก่อนจะทำ จะพูด จะคิด ต้องไตร่ตรองเหตุผล อย่างรอบคอบและชอบธรรมทุกครั้ง
๒. ขณะทำ ขณะพูด ขณะคิด จิตใจต้องมุ่งจดจ่อต่อสิ่งนั้นโดยสม่ำเสมอและมั่นคง
๓. ฝักใฝ่สนใจตรงกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ตรวจทานและปรับปรุงเพื่อเหมาะสมยิ่งขึ้น
๔. งดเว้นจากของมึนเมา และสิ่งเสพติดให้โทษโดยเด็ดขาด
๕. ปลูกนิสัยใจคอให้เยือกเย็น สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
สำหรับประโยชน์ที่จะปรากฏในการเป็นผู้มีสติคือ
๑. งานที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิด ไม่ผิดพลาดบกพร่อง ได้ผลสมบูรณ์ และปลอดพิษพ้นภัยทั้งปวง
๒. ป้องกันมิให้จิตฟุ้งซ่าน ฟั่นเฟือน แต่จะสุขุมแยบคาย เหมาะแก่งานละเอียดและกิจสำคัญ
๓. สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตผ่องใสเยือกเย็น มีความคิดเฉียบแหลมและปัญญาฉลาดเฉลียว
๔. เกื้อหนุนให้สำเร็จการศึกษา ก้าวหน้า ในอาชีพ และดีเด่นในสังคม
และ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ยังได้กล่าวในพระธรรมเทศนา การฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ ว่า
“...ในพุทธศาสนานี้มีการฝึกหัดสติอันเดียว การฝึกหัดเรื่องอะไรก็ตาม ฝึกหัดสติอันเดียวเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายแต่ก่อนนี้ ก็ทรงสอนให้ฝึกสติอันเดียวเท่านั้น ทรงสอนฆราวาสก็เหมือนกัน ทรงสอนเรื่องสติ ให้มนุษย์เราพากันมีสติ
พวกเราก็พากันถือคำสอนของพระองค์นั่นแหละมาพูด เช่น พอพลั้งๆ เผลอๆ ก็ว่า ไม่มีสติ นี่ก็พูดกันไปอย่างนั้นแหละ ตัวผู้พูดเองก็ไม่รู้เรื่องว่าตัวสติมันเป็นอย่างไร พูดไปเฉยๆอย่างนั้นแหละ มิหนำซํ้าบางคนไม่มีสติอยู่แล้ว ยิ่งไปดื่มสุรายาเมาเข้า ยิ่งไปใหญ่จนเสียสติ เป็นบ้าไปก็มี
เหตุนี้จึงว่า คำสอนของพุทธศาสนาทั้งหมด มาลงที่สติอันเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นก็สอนสติ ท่ามกลาง และที่สุด ก็สอนสติ เป็นศาสนาที่สอนถึงที่สุด แต่คนทำนั่น ทำสติไม่ถึงที่สุดสักที ทำมากี่ปีกี่ชาติก็ไม่สมบูรณ์สักที พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ทรงสอนสติตัวเดียวนี้
เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็มาหัดสติตัวเดียวนี้ แต่ก็หัดสติไม่สมบูรณ์สักที เหตุนั้นจึงควรที่พวกเราจะพากันรีบเร่งหัดสติทุกคนแต่บัดนี้ อายุอานามมาถึงป่านนี้แล้ว เรียกว่าจวนเต็มที จวนจะหมดสิ้น จวนจะตายอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน ควรที่จะหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้ อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา
ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตน ก็ชื่อว่าเราเกิดมาแล้วเสียเปล่า ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า เปล่าจากประโยชน์ อย่าให้จิตอยู่แต่ในอำนาจของกิเลส ให้จิตอยู่แต่ในอำนาจของสติ สติเป็นตัวระมัดระวัง อันนั้นแหละเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้
ถ้าจิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้วหมดท่า ตัวของเราจึงเป็นทาสของกิเลส เหตุนั้นจึงควรที่จะพากันรู้สึกตัว ตื่นตัวเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...”
เมื่อทราบถึงนัยยะและคุณของสติแล้ว อาจจะมีคำถามในใจเกิดขึ้นว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองมีสติหรือไม่?
คำตอบก็คือ เมื่อปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีสติอยู่เป็นนิตย์ ย่อมสังเกตตนเองได้ว่า จักมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. สำนึกหน้าที่และรับผิดชอบ ส่วนตนและส่วนรวม ด้วยความสุจริตใจ จริงใจ และชอบด้วยศีลธรรม
๒. วางตนเปิดเผย ตรงไปตรงมา สมเหตุผลเสมอ ทั้งไม่เป็นพิษภัยต่อใครทั้งสิ้น
๓. ไม่ฝืนใจทำเอง และไม่สนับสนุนผู้อื่นทำทุจริต ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล
๔. รักเกียรติและศักดิ์ศรี ยึดมั่นสุจริตธรรมอย่างสม่ำเสมอ
๕. สนใจเลือกเฉพาะงานสุจริต ต้องตามประเพณีนิยม และเที่ยงธรรมสมเหตุสมผล เท่านั้น
๖. ตั้งใจประกอบภารกิจที่กำลังทำ แม้จะยาก ด้วยความอดทนจริงจังแบบหนักเอาเบาสู้
๗. ใช้วิจารณญาณอันแยบยล ปรับปรุงตนเองให้แก่งานสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
๘. กล้าหาญเอาชนะปัญหาและอุปสรรค บางครั้งแกล้งทำเป็นโง่ไม่รู้ และทำเป็นยอมแพ้
ถ้าผู้มีสติอยู่ในฐานะพ่อแม่ ก็จะกอปรด้วยลักษณะ
๑. ห่วงใยชีวิตลูก ยิ่งกว่าตนเอง พยายามป้องกันมิให้ถูกชักจูงหลงผิดจนเสียคน
๒. สร้างอนาคตสดใสให้ โดยการปลูกฝังให้มีนิสัยทำงาน มีสมบัติผู้ดีมีสกุล
๓. เสียสละทุกอย่างด้วยน้ำใจจริง ทุ่มเทสนับสนุนลูกให้มีความรู้และอาชีพเป็นหลักฐาน
๔. รอบรู้ทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง กระทั่งยอมเป็นหนี้ ด้วยความยินดีกับความสำเร็จของลูก
๕. ตัดลูกไม่ขาด ต้องอุปการะถึงที่สุด และยกทรัพย์มรดกให้ในสมัย
ถ้าผู้มีสติอยู่ในฐานะลูก ก็จะกอปรด้วยลักษณะ
๑. มีใจเมตตากรุณา ไม่เห็นแก่ตัว บำรุงเลี้ยงพ่อแม่
๒. เอาอกเอาใจบิดามารดาให้ชื่นบานเสมอ
๓. ทำตนเป็นคนว่าง่าย รักษาจารีตอันเป็นมรดกล้ำค่าของตระกูลไว้ให้มั่นคง
๔. ประพฤติตนเป็นทายาทที่น่าไว้วางใจ สมกับที่ท่านรักและห่วงใย
๕. เมื่อท่านสิ้นชีพ ก็กระทำบุญกุศลสนองความดีมีน้ำใจของท่าน
ลักษณะของผู้มีสติที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็คือรากฐานของความเป็นไทยที่บรรพชนได้ปลูกฝังและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
สารัตถะแห่งธรรมในพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๗ นี้ เป็นเพียงการนำเสนอทัศนะและแนวทางในการปฏิบัติตนให้มีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ควรที่สาธุชนจักได้พิจารณาให้ถ่องแท้และสร้างแนวทางดำเนินชีวิตของตนเองสืบไป
(จก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท(พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)