xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ปู” ยื่นธนูดอกสุดท้าย “เหลิม-ปึ้ง-อดุลย์” ท้ารบ “ทหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การประกาศใช้ “พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2557 และกินระยะเวลายาวนานถึง 60 วัน ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี และ จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ธนูดอกสุดท้าย” ที่ระบอบทักษิณใช้เพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้

เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในสภาพ “รัฐล้มเหลว” หรือ “Failed State” เนื่องเพราะไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือการกระชับอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมิอาจมองเป็นอย่างอื่นได้ว่า ต้องการใช้เป็นหลักประกันทางนิติศาสตร์เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดในการสลายการชุมนุมของมวลมหาประชาชน รวมทั้งต้องการใช้เป็นอาวุธเพื่อทำให้การเลือกตั้งที่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ เสธ.แมว.-พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยอมรับจากปากตัวเองว่า เป็นการร้องขอจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ยังคงรักษาความเป็น “มะเขือเทศ” เอาไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในการกระชับอำนาจครั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจมอบอำนาจให้กับบรรดา “ขี้ข้า” ที่พร้อมจะสู้ตายถวายชีวิตให้ในทุกรูปแบบอีกต่างหาก โดยครม.มีมติมอบหมายให้ “ขี้ข้าระดับตำนาน” รับผิดชอบองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในชื่อ “ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.)” หรือที่หลายคนตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ศูนย์รวมความไร้สาระ” กล่าวคือ

หนึ่ง-นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรั้งตำแหน่งประธานกำกับดูแล ศรส. ขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์มอบอำนาจให้อ้ายปึ้งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกชั้นหนึ่ง

สอง-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยการ ศรส.”

ส่วนพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ซึ่งยึดคติมีวันนี้เพราะพี่ให้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบฝ่ายปฏิบัติการ รั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ศรส.ร่วมกับ “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งมีวันนี้เพราะพี่ให้เช่นกัน

ดังนั้น การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ จึงแตกต่างกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะพระเอกของงานนี้คือ “ตำรวจ” ขณะที่ “ทหาร” คือบรรดาผบ.เหล่าทัพจะเป็นเพียงแค่กรรมการของ ศรส.เท่านั้น

แปลไทยเป็นไทยก็คือ งานนี้ทหารไม่ขอออกหน้า โดยขอยืนอยู่เป็นแถวสอง เพราะไม่ต้องการใช้กำลังกับมวลมหาประชาชน

และอาจแปลไทยเป็นไทยได้ด้วยว่า รัฐบาลไม่ไว้ใจทหาร จึงไม่กล้ามอบอำนาจสูงสุดให้อยู่ในมือทหาร

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของการจัดตั้ง ศรส.ครั้งนี้ ยังมีความพิสดารพันลึกอยู่ตรงที่ก่อนที่ ศอ.รส.ของอ้ายปึ้งจะมีความเห็นตรงกันและเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้มีการเชิญฝ่ายทหารเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ปรากฏว่า มีเพียงผู้นำสูงสุดขององค์กรเพียง 2 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม

คนแรกคือ “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร

ขณะที่คนที่สองคือ “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเช่นกัน เพราะในฐานะเจ้าของสถานที่ที่ใช้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานทางด้านความมั่นคง คงไม่สามารถบ่ายเบี่ยงหรือหลบเลี่ยงหนีหายไปได้

ส่วนที่เหลือล้วนแล้วแต่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น เริ่มจาก “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ส่ง พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตัวแทน ตามต่อด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกที่ชะแว้บหายไปโดยอ้างว่าไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้พร้อมทั้งส่ง พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบกเป็นตัวแทน ส่วนทหารเรือยิ่งแล้วกันใหญ่เพราะ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือส่งเพียงแค่รองเสนาธิการทหารเรือเข้าร่วมประชุมเท่านั้น

รวมถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ต้องกระอักเลือดซ้ำอีกครั้งเมื่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศประกาศชัดเจนภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า “ยินดีที่จะให้รัฐบาลใช้พื้นที่ของกองทัพอากาศจัดการประชุมเป็นครั้งคราวได้ แต่ไม่สะดวกหากจะใช้เป็นศูนย์รักษาความสงบตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ ในระหว่างที่ ร.ต.อ.เฉลิมกำลังเดินเข้าไปร่วมประชุม ครม. และสวนทางกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เพิ่งเสร็จภารกิจจากการเข้าร่วมประชุมสภากลาโหม ร.ต.อ.เฉลิมได้เข้าไปทักทายและยกมือไหว้ ก่อนจะยื่นมือไปจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ยกมือรับไหว้ทักทาย แต่ไม่ได้ยื่นมือออกมาตอบรับ และยังเอามือข้างดังกล่าวไขว้หลังเอาไว้แทน ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมต้องแก้เกี้ยวด้วยการชกท้องเบาๆ เพื่อเป็นการหยอกล้อแทน

แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งได้ว่า ผบ.เหล่าทัพทุกเหล่าทัพล้วนแล้วแต่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายติดหนวดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเมื่อทหารไม่เล่นด้วย แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับดื้อด้านดันทุรังไม่ฟังเสียง การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้ จึงไม่ต่างจากการประกาศท้าทายทหารโดยตรง

ทั้งนี้ การที่ทหารไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะสภาพความเป็นจริงของการชุมนุมของ กปปส.ก็มิได้เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงแต่ประการใด เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติและอหิงสา ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมล้วนแล้วแต่เป็นผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น โดยที่รัฐบาลและตำรวจไม่สามารถจัดการจับกุมผู้ก่อเหตุมาลงโทษได้ มิหนำซ้ำยังปั้นน้ำเป็นตัวด้วยการ บิดเบือนข้อเท็จจริงว่าเป็นการลงมือสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงไม่เข้าใจว่า รัฐบาลอาศัยเหตุอะไรในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ เพราะถ้าจะอ้างเรื่องความรุนแรง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือตำรวจที่เพ่นพ่านอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแต่ไม่อาจป้องกันเหตุร้ายได้ ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นเครื่องมือในการทำงานอยู่แล้ว

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสของฮิว แมนไรท์ วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก ระบุว่าสถานการณ์ความมั่นคงยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และดูเหมือนว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะออกมาเพื่อเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณะ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอชต์ ซึ่งมีฐานบัญชาการในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ได้ระบุในรายงานประจำปี 2014 ตำหนิรัฐบาลไทย ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา แทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เรื้อรังในประเทศ

“คำสัญญาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บอกว่าจะนำพาประเทศคืนสู่ความปรองดองและให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อความรุนแรงปี 2010 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยการผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่งแก่เหล่าผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่าย รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนความปรองดอง แต่กลับกันยังเติมเชื้อความแตกแยกทางการเมืองของไทยให้รุนแรงยิ่งขึ้น" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุ

สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในวันที่ 22 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันแรกนั้น ก็ปรากฏว่า ผู้ร่วมชุมนุมมิได้หวาดกลัวแต่ประการใด แถมยังพร้อมใจกันเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานที่ราชการที่สำคัญๆ ถึง 2 แห่งอีกด้วยคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองกำลังของเป็ดเหลิมโดยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งและที่ประชุมของ ศรส. โดย กปปส.นำโดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์และนายชุมพล จุลใส

นั่นหมายความว่า ประชาชนมิได้เกรงกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลยแม้แต่น้อย

แถมตัวหัวเรือใหญ่ของ ศรส.อย่าง ร.ต.อ.เฉลิมยังคงต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพราะถูกประชาชนไล่ล่าจนต้องหดหัวอยู่แต่ในกระดอง

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยระบุว่า การใช้อำนาจเช่นนี้ ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้เหตุที่รัฐบาลอ้างในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีข้อโต้แย้ง ยังมีข้อสงสัยว่า เป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง” หรือไม่ ข้ออ้างดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะอาศัยเป็นข้อยกเว้น ในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้การรับรอง

ถามว่า ถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบสามารถแบ่งออกไปได้ 3 ทางคือ

หนึ่ง-มีการใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กฎหมายฉบับนี้ รวมถึงสามารถสร้างสถานการณ์เพื่อยั่วยุให้ทหารเคลื่อนกำลังออกมาจากที่ตั้งเพื่อทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า รัฐบาลและนักโทษชายหนีคดีเต็มใจให้ทหารทำมากกว่าพ่ายแพ้ต่อมวลมหาประชาชน

สอง- กฎหมายฉบับนี้สามารถใช้เครื่องมือในการควบคุมการเคลื่อนไหวของแกนนำไม่ให้ไปปิดสถานที่ราชการได้ตามอำเภอใจ เพราะสามารถจับกุมแกนนำได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องขอหมายจับเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งศาลไม่อนุมัติ

และสาม-รัฐบาลสิ้นสภาพ กลายเป็นรัฐล้มเหลว เพราะขนาดใช้กฎหมายที่ได้ชื่อว่า แรงสุดๆ เท่าที่ประเทศไทยมีอยู่ ก็ยังไม่สามารถจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ ซึ่งนั่นคือความพ่ายแพ้ที่จะมาเยือนรัฐบาลในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ดังนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป โปรดฟังอีกครั้งว่า “อย่ากระพริบตา”


กำลังโหลดความคิดเห็น