xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : เจริญมรณสติ เผชิญหน้ากับความตายด้วยใจสงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะมีเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งชั่วโมง แต่ทีมงานรายการธรรมาภิวัตน์ก็ถือว่าเป็นเมตตายิ่งนัก ที่ได้สนทนาธรรมกับ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งหลายคนรู้จักท่านในฐานะพระนักวิชาการ พระนักพัฒนา พระนักคิดนักเขียน ที่มุ่งมั่นเผยแผ่หลักธรรม ตลอดจนเป็นพระนักปฏิบัติธรรมชื่อดัง

พระไพศาลได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้า ที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรม มาอธิบายความหมายและปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคมในบริบทที่เปลี่ยนไปเป็นพลวัตรได้อย่างเข้าใจง่าย ชัดเจน และเป็นรูปธรรม

ทีมงานได้สรุปหัวข้อและเนื้อหาในการสนทนาธรรมในรายการธรรมาภิวัตน์ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ชมและพุทธศาสนิกชน ได้หลุดพ้นจากทุกข์ และเตรียมตัว เตรียมใจ เผชิญหน้ากับความตายด้วยใจที่เป็นสุข ทั้งในยามปกติ ยามที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย จวบจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิต ผู้เขียนจึงขอนำมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่าน "ธรรมลีลา" อีกครั้งหนึ่ง

อันที่จริงคนเราทุกคนล้วนแล้วแต่รู้อยู่แก่ใจว่า "ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราก็จะต้องตาย" และทันทีที่นึกถึงความตายของตัวเองแล้ว ทุกคนล้วนเสียวสันหลังวาบ (บางคนถึงกับผวา เครียดหนัก) เพราะส่วนลึกในจิตใจย่อมรับไม่ได้กับการตายของตนเองที่ยังมาไม่ถึง แต่จะต้องมาถึงในสักวัน หลายคนยังทำใจไม่ได้ที่จะต้องจากพ่อแม่ ลูกเมีย สามี อันเป็นที่รัก รวมทั้งทรัพย์สมบัติต่างๆ และชื่อเสียงเกียรติยศ

ดังนั้น นอกจากความรู้สึกไม่ยอมรับเรื่องความตายของตนแล้ว ยังออกอาการต่างๆ ในการพยายามจะผลักไสความตายให้ออกไปไกลๆ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยง ปฏิเสธที่จะไม่พูดถึง โดยอ้างว่า "ยังไม่ตายง่ายๆ หรอก...” , "คนอย่างข้าหนังเหนียว ...", "โอ๊ย...ทำบุญไว้เยอะ" ฯลฯ หรือแม้ตอบกลับคนที่เข้ามาพูดคุยด้วยในเรื่องนี้ว่า "เอาเรื่องอัปมงคลมาพูด"

พระไพศาลได้กล่าวไว้ว่า เมื่อคนเราทราบอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องตาย คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับความตาย และเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับความตายทุกขณะ เมื่อคิดได้เช่นนั้น นอกจากเราจะเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจที่สงบแล้ว ยังทำให้เรามีสติในการดำรงชีวิตอยู่ในทุกปัจจุบันขณะ และตั้งมั่นในการทำแต่สิ่งที่ดีๆ อีกด้วย

ผู้เขียนได้ยินได้ฟังแล้วก็นึกถึงคำพูดของใครหลายๆคนที่มักจะบอกกับตนเองว่า "จงใช้ชีวิตให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต" แต่ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า จะมีผู้คนสักกี่มากน้อยที่ทำได้เช่นนั้น

เพราะการจะใช้ชีวิตให้เหมือนวันสุดท้ายของชีวิตนั้น จะต้องอาศัยการฝึกฝนจิต ให้สงบ นิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่น โดยผ่านการใช้กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นภาวนา นั่งสมาธิ ระลึกรู้ถึงความอยู่ความตายด้วยใจที่ไม่ยึดติด ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นฝึกฝน ปฏิบัติอยู่เป็นนิจ เพื่อให้จิตได้ทำความเข้าใจกับสภาวะธรรมนั้นๆ ได้อย่างถ่องแท้

แน่นอนว่า การทำความดีนั้น ย่อมเผชิญกับอุปสรรคหรือความยากลำบากเสมอ แต่อยากให้มองว่า อุปสรรคขวากหนามต่างๆนั้น เป็นเพียงเครื่องทดสอบความมุ่งมั่นในการทำความดี ว่าบุคคลนั้นมีความตั้งใจจริงหรือไม่ในการจะกระทำแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว เพราะหากเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบากที่เข้ามาทดสอบ แล้วมุ่งมั่นทำความดีจนถึงที่สุด ย่อมถือได้ว่า เป็นการบำเพ็ญบารมีที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นตามไปด้วย

พระไพศาลกล่าวว่า การหมั่นทำความดี หลีกหนีความชั่ว การทำความเข้าใจว่า ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ล้วนแล้วแต่เป็นของชั่วคราว ไม่สามารถตามติดตัวไปได้เวลาตาย และไม่ได้ช่วยให้จิตใจสงบเย็นได้เลยเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ถือเป็นการยอมรับในการเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจสงบ

ความยึดติดในอารมณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน ทั้งความคับแค้นใจ ความโกรธเกลียด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็เป็นสิ่งที่พึงลดละ ด้วยการควบคุมกายและวาจา ไม่ให้ทำตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น และต่อมาคือการฝึกจิตให้เป็นอิสระ หรือที่เราเรียกกันว่า "หัดปล่อยวาง" ซึ่งก็คือการมีศีลและภาวนา อันเป็นขั้นต่อมาจากการให้ หรือทาน ที่เราต้องไม่ยึดติดนั่นเองครับ

ทาน ศีล ภาวนา ถือเป็นหลักใหญ่ของการเจริญกุศล เพื่อการขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดเป็นกุศลแก่ตัวเรามากที่สุด ยิ่งเราขจัดกิเลสได้มากเท่าใด เราก็ยิ่งเดินเข้าใกล้หนทางแห่งการหลุดพ้นได้มากเท่านั้น เพราะกิเลสทั้งหลายที่เกาะกุมใจเราอยู่ จะค่อยๆเบาบางจางลงไปได้

ดังนั้น การให้ทาน การลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดความอยาก ลดการเบียดเบียน ก็เป็นการขัดเกลากิเลส การรักษาศีล ก็เป็นการลดกิเลส การเจริญภาวนาทำจิตใจให้สงบรู้เท่าทันกิเลสที่เข้ามาครอบงำ รู้จักปล่อยวางในเหตุและปัจจัยต่างๆ ลดละการยึดมั่นถือมั่น จิตมีการระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งปวง จะเป็นหนทางนำเราไปสู่ความเป็นบุคคลผู้ที่มีความสงบในใจอยู่ตลอดเวลา

การระลึกถึงความตายอยู่เสมอก็เช่นกันครับ เปรียบเสมือนเส้นทางลัดที่จะทำให้เราคลายความยึดติดทั้งหลายลงได้ ทั้งสิ่งที่น่ายินดีและสิ่งที่น่ายินร้าย ซึ่งจะช่วยให้เรามีชีวิตที่มีความสุข สงบเย็น เดินทางเข้าใกล้หนทางแห่งการหลุดพ้นได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย

เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือ "การเจริญมรณสติ” อยู่เป็นประจำ

การเจริญมรณสติ หรือการเจริญมรณานุสติ คือ การระลึกถึงความตาย ถือเป็นการเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุด คือ การทำใจให้คุ้นชินกับความตายเป็นอันดับแรก เพื่อจะให้เกิดความไม่ประมาท จนเกิดความสลดใจ รู้สึกขึ้นในจิตจริงๆ ว่าตนเองจะต้องตายแน่ๆ

ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งขวนขวายในการที่จะทำความดี เตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะเราสามารถรู้ได้ว่าจะเกิดวันไหน แต่เรื่องวันตายหรือความตายแล้ว เรามิอาจรู้ได้ ดั่งมรณสัญญาในข้อที่ 8 ที่ว่า "ชีวิตของเรานี้จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วระยะเวลาหายใจเข้าออกเท่านั้น"

เพราะความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นอีกวินาทีข้างหน้า คืนนี้ วันพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรืออาจจะเป็นอีกสิบปีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า "เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง"

หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งพระองค์ทรงใกล้จะปรินิพพาน โอวาทครั้งสุดท้ายของพระองค์ก็ยังคงเน้นย้ำถึงความไม่เที่ยงของชีวิต พระองค์ตรัสเอาไว้ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

เพราะฉะนั้น การเจริญมรณสติ จึงมิใช่ "การมุ่งหน้าหาที่ตาย" หากแต่เป็นการฝึกใจให้พร้อมตายทุกเมื่อ เป็นวิถีสู่การตายก่อนตายและการพ้นตาย

แม้ด้านหนึ่งจะคล้ายกับการทำตนเหมือนคนตาย แต่อีกด้านหนึ่งคือการปลุกใจให้ตื่นจากความประมาท ความมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยกิเลส เปลี่ยนชีวิตให้เป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยความพากเพียรบำเพ็ญบารมี และมีความปล่อยวางต่อทุกสรรพสิ่งอยู่เป็นนิจ เพื่อเป็นเข็มทิศให้ชีวิตได้เดินสู่หนทางแห่งความสุขที่แท้จริง คือ การหลุดพ้น นั่นเองครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)


กำลังโหลดความคิดเห็น