xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : จิตเหมือนเด็ก จะจัดการอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในประสบการณ์ของการปฏิบัตินั้น ท่านทั้งหลายจะต้องเผชิญกับกิเลสต่างๆ ที่จะมาเป็นมารรบกวน เรียกว่า “กิเลสมาร” มารคือเครื่องเศร้าหมองจิตใจ มันจะเข้ามารบกวนขัดขวางให้การประพฤติปฏิบัตินั้นถอยหลังล้าหลัง ถ้าหากว่าเรารู้ไม่ทัน เราก็คงจะต้องพ่ายแพ้กับกิเลสมารไป

บางทีมันก็มาชวนให้เราเลิกปฏิบัติ จะปฏิบัติไปทำไม ดูซิมานั่งนอนลำบาก อยู่บ้านเราสบายกว่า อาหารก็ทานจำกัด ต้องมาคอยอยู่ในการควบคุม เราจะนั่งนอนสบายตามใจชอบก็ไม่ได้ นั่นมารมันคอยมาหลอกเรา ชวนให้เราคิดเลิก อยากเลิกปฏิบัติ บางทีก็ชวนให้เรานอน ว่าจะนั่งไปทำไม ปวดหลังปวดขา นอนดีกว่า มันก็จะชวนเราเรื่อยไป เราก็ต้องรู้ทันมาร ดู และไล่มารออกไป เวลาเรารู้ทัน กิเลสมารมันก็ไม่อยู่แล้ว

บางทีมันก็มีเทวปุตตมารมาชวนเราให้เลิกได้เหมือนกัน สมัยพุทธกาลภิกษุณียังสาวอยู่ มาบวชยังสาวอยู่ ก็ไปนั่งกรรมฐานบำเพ็ญอยู่ในป่าที่โคนไม้ เทวปุตตมารมันก็มากระซิบบอกชวนให้สึกออกไป เลิกปฏิบัติ ยังสาวยังสวยอยู่จะมานั่งอยู่อย่างนี้ อดๆอยากๆอยู่ ไม่ได้อะไร ไปสนุกสนานเพลิดเพลิน มันจะให้เหตุผลดี ชวนให้หลงใหล แต่ภิกษุณีนั้นก็รู้ทันว่า นี่มันมาร ก็ดุมารไล่มาร มารพอถูกรู้ทันก็หายไป

การปฏิบัติจึงต้องมีความเด็ดเดี่ยว ใจต้องเด็ดเดี่ยวในการเอาชนะกิเลสให้ได้ เรียกว่าชนะใจตัวเอง ใจเรามันคอยถูกกิเลสชวนให้ตกต่ำ เราก็ต้องฝึกต้องฝืน ปฏิบัตินี่ต้องฝึกต้องฝืน ข่มใจ บางครั้งก็ต้องปลอบใจ

จิตเราบางครั้งมันเหมือนเด็ก เด็กเล็กมันมีความซน การเลี้ยงเด็กนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ เราจะจับเด็กมานั่งอยู่กับที่ไม่ได้ วิสัยของเด็กจะต้องซุกซน เดี๋ยวก็จับโน่น เดินไปเดินมา ปีนป่าย อยู่เฉยไม่ได้ แต่เราก็ต้องคอยระวังว่า เด็กนั้นมันจะไปทำอะไรที่เป็นอันตรายหรือเปล่า มันเอามือไปล้วงในปลั๊กไฟหรือเปล่า หรือไปจับอะไรที่จะทิ่มแทงหรือเปล่า ก็คอยดูคอยตะล่อมไว้ แต่ไม่ต้องไปบังคับ

จิตใจนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นสภาพที่ดิ้นรนไปในอารมณ์ ซัดส่ายไปในอารมณ์ เป็นธรรมชาติที่กลับกลอกกวัดแกว่งไปในอารมณ์ต่างๆ แล่นไปสู่อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เดี๋ยวมันก็แวบไปแวบมา การที่สติตามดูรู้เท่าทันจิตก็เหมือนกับเป็นคนเลี้ยงเด็ก

สติเหมือนกับเป็นคนเลี้ยงเด็ก สติควบคุมจิตนั้นจะต้องไม่ใช่ไปบังคับจิตว่าอย่าคิดๆ เพราะมันจะเหมือนเด็กที่ถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ เดี๋ยวมันก็พาลพาโล เดี๋ยวก็เกเร เดี๋ยวมันก็ร้องไห้ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปบังคับมันไว้ มันก็พาลพาโล เกิดความคับแค้นใจ อึดอัด มันยิ่งเกิดความฟุ้งมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น การกำหนดจิตนั้นให้ตามดูรู้เท่าทัน อย่าไปบังคับ โดยการยอมรับกับความเป็นจริงของจิตว่า จิตนี้มีสภาพที่ไม่เที่ยง มีสภาพที่จะต้องแปรเปลี่ยนไป รับอารมณ์หนึ่งเปลี่ยนไป เราไม่ไปบังคับแต่ให้รู้ทัน จิตคิดก็รู้ จิตไหวไปรับอารมณ์ก็รู้ เผลอไปก็รู้ คิดไปก็รู้ ฟุ้งไปก็รู้ มันหยุดอยู่ก็รู้ มันสงบก็รู้ จะเป็นผู้ที่ตามดูรู้ทัน ไม่บังคับ มันก็สงบของมันเอง

การดูแลเลี้ยงเด็กนั้น ถ้าเกิดเด็กมันร้องขึ้นมา เราเป็นคนเลี้ยงเด็กเราจะทำอย่างไรให้มันนิ่ง บางครั้งเราอาจจะปลอบโยน ถ้าเด็กได้รับการปลอบโยน ให้ขนม ให้ของเล่น ปลอบโยนด้วยคำไพเราะ เด็กมันก็เงียบได้เหมือนกัน เหมือนจิตเรา ถ้าหากว่าบางครั้งมันเร่าร้อนฟุ้งซ่าน เราก็ต้องปลอบโยนจิตใจ

หรือบางครั้งเราปลอบโยนเด็กมันก็ไม่นิ่ง จะเอาอะไรให้มัน มันก็ไม่นิ่ง คนเลี้ยงเด็กก็อาจใช้วิธีขู่ วิธีเคี่ยวเข็ญ วิธีดุ เด็กนั้นอาจจะนิ่งได้

จิตนี้ก็เหมือนกันบางครั้งก็ต้องขู่ ต้องเคี่ยวเข็ญ ควบคุม มันก็หยุดได้เหมือนกัน สงบได้เหมือนกัน ในบางสมัยต้องใช้แบบนั้น ปล่อยตามใจชอบทีเดียวไม่ได้ บางครั้งก็ต้องควบคุม บางทีมันแล่นไปในอารมณ์ที่ไม่สมควร อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดกามราคะบ้าง อะไรต่างๆ เราก็ต้องควบคุมต้องขนาบจิตใจ สั่งสอน

แต่บางครั้งเด็กที่แม้จะปลอบโยนแล้วมันก็ไม่นิ่ง จะขู่จะขนาบแล้วมันก็ไม่นิ่ง คนเลี้ยงเด็กจะทำอย่างไร ก็ต้องปล่อยให้มันร้อง มันอยากร้องก็ให้มันร้องไป ดูซิว่ามันจะร้องทั้งวันทั้งคืนได้ไหม เด็กมันคงร้องอยู่ไม่ได้ มันร้องไปมากๆ มันก็นิ่งเอง ไม่มีใครมาดุไม่มีใครมาปลอบ มันก็นิ่งเองได้

จิตนี้ก็เหมือนกัน บางครั้งมันเอาเรื่อง เราจะประคับประคองปลอบโยน จะเคี่ยวเข็ญขนาบ มันก็ยังจะฟุ้งซ่าน หงุดหงิด จะทำอย่างไร ก็ต้องปล่อยมันบ้าง อยากจะฟุ้งก็ฟุ้งไป ดูซิจะฟุ้งถึงขนาดไหน ฟุ้งให้เต็มที่เลย เราบอกไปอย่างนั้น ถ้าเราปล่อยให้มันฟุ้ง เดี๋ยวมันสงบของมันเอง โดยเฉพาะว่า การปล่อยวางมันกลับสงบ

อันนี้ก็เนื่องจากว่า จิตที่ฟุ้งนั้นเกิดจากการบีบบังคับ บางครั้งเราขนาบมัน มันสงบได้ เคี่ยวเข็ญไป ควบคุมไว้มันกลับฟุ้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะใช้วิธีอย่างนั้นไม่ได้ ต้องปล่อย นั่นก็หมายถึงว่า จิตนี่ ถ้าหากว่าบางครั้งถูกบีบรัด มันก็ยิ่งเร่าร้อนมากยิ่งขึ้น ก็ต้องปล่อยมัน ปล่อยในที่นี้ก็ยังดูแลนั่นแหละ คือเราก็ตามรู้อยู่ ดูแล

เหมือนเวลาเด็กมันร้องไห้ เราก็ต้องระวังเหมือนกัน มันจะไปทำอะไรเกินเลยหรือเปล่า มันร้องก็ให้มันร้องอยู่ในบ้านหรืออยู่ในห้อง จิตนี้ก็เหมือนกัน มันจะฟุ้งก็ฟุ้งไป เราก็ปล่อยนั่นแหละ แต่ว่าคอยดูไปตามดูไป มันก็สงบของมันเองได้

เพราะจิตที่ฟุ้งบางครั้งมันเกิดจากการไปบีบบังคับ ถ้าทำใจปล่อยวาง ไม่เอา ฟุ้งก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา ทำใจไม่เอาอะไรสักอย่าง เพราะบางครั้งจิตใจความปรารถนามันมากไป มันอยากจะให้ได้สงบ อยากจะให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ ในการปฏิบัตินี่ความปรารถนามันแรงกล้า มันล้ำหน้า มันก็เลยไปทำให้จิตใจมีแต่ความฟุ้งซ่าน

เมื่อความปรารถนาแรงแล้วมันไม่ทันใจ ก็ยิ่งไม่พอใจมากขึ้น มันไม่ได้โกรธใคร มันก็โกรธใจตัวเองนั่นแหละ โกรธว่าทำไมใจไม่สงบ ทำไมไม่สงบ ทำอย่างไรก็ไม่สงบ มันก็ยิ่งฟุ้งกันใหญ่ เพราะอะไร เพราะความโกรธมันก็เกิดร่วมกับความฟุ้งนั่นแหละ ความฟุ้งมันก็เกิดร่วมกับความโกรธ อย่างนี้เราต้องปล่อยวางเลย ปล่อยวาง ทำใจให้ไม่หวังอะไร ทำจิตเฉยๆ นิ่งๆ มันจะสงบของมันเองได้

ปัญหาของผู้ปฏิบัตินั้น จะหนีไม่พ้นเรื่องความฟุ้งซ่าน เป็นสิ่งที่เราจะต้องยอมรับว่า จะต้องเกิดขึ้นในจิตใจของเราทุกคน ไม่มีใครเลยที่จะไม่ฟุ้งซ่าน ต้องผ่านฟุ้งมาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้น เราก็อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจว่า คงไม่มีบุญ ไม่มีวาสนากระมัง มันก็เกิดความท้อถอยไม่มีกำลังใจ

แต่ถ้าเรารู้ว่า เออ.. ทุกคนมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีใครที่ปฏิบัติแล้วจะจิตใจสงบระงับเข้าที่เข้าทางได้ทันทีเสมอไป มันจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ต่อสู้ ชนะบ้าง แพ้บ้าง สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง แต่เราไม่ยอม ถึงคราวที่มันพลาดเราก็ถอยตั้งหลัก มันก็ต้องต่อสู้ต่อไป

ถ้าเราเอาชนะข้าศึกอันนี้ไม่ได้ มันก็ไม่มีทางอื่นที่จะรอดได้ เราก็ต้องย่อยยับอย่างแน่นอน ก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ ต้องเอาชนะ ถึงตอนนี้มันจะถูกกิเลสเล่นงานบ้าง แต่เราก็ถอยมาสะสมกำลัง เพื่อเอาชนะมันต่อไปให้ได้

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของเรื่องรู้ทันมาร)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี) วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา)

กำลังโหลดความคิดเห็น