xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

สอุปาทิเสส และอนุปาทิเสสโดยปริยาย

นิพพานอันเป็นธรรมที่บรรลุที่ถึงนั้น ก็ได้กล่าวแสดงอธิบายแล้วถึง สอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน ในวันนี้จะได้นำพระสูตรหนึ่งที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกมาเล่า มีใจความว่า

ได้มีเทวดาสององค์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลากลางคืน เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลว่า ภิกษุณีเหล่านั้นวิมุตติแล้ว เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลว่า ภิกษุณีเหล่านั้นวิมุตติดี เป็นอนุปาทิเสส คือไม่มีอุปาทิเหลืออยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพอพระทัย วันรุ่งขึ้นก็ได้ตรัสเล่าเรื่องนี้แก่พระภิกษุทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะได้ฟังตรัสเล่านั้นก็มีความนึกขึ้นว่า อันญาณคือความรู้ในเรื่องนี้ได้มีแก่เทวดาทั้งหลายทั้งหมด หรือว่ามีแก่เทวดาเฉพาะบางพวก

ได้มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าติสสะ เพิ่งถึงมรณภาพและได้บังเกิดในพรหมโลก ปรากฏชื่อว่าติสสะพรหม ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พระมหาโมคคัลลานะได้ขึ้นไปสู่พรหมโลก สู่สำนักของติสสะพรหมนั้น และได้กล่าวถามปัญหานี้แก่ติสสะพรหมนั้นว่า

เทวดาซึ่งไปเกิดเป็นพรหมทั้งหมดได้มีญาณคือความรู้ในสอุปาทิเสสนั้นว่าสอุปาทิเสส ในอนุปาทิเสสว่าอนุปาทิเสสทั้งหมด หรือว่าพรหมพวกไหนรู้ได้ดั่งนี้

ติสสะพรหมจึงได้กล่าวเฉลยว่า เทวดาที่เกิดในพรหมทั้งหมด ได้มีญาณคือความรู้ดั่งนั้นทั้งหมดไม่ เทวดาที่ไปเกิดเป็นพรหมจำพวกใดซึ่งมีสันโดษคือความพอใจอยู่ในอายุ วรรณ สุข ยศ อธิปไตย ซึ่งเป็นของพรหม ไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องแล่นออกยิ่งขึ้นไป เทวดาที่เกิดเป็นพรหมเหล่านั้นย่อมไม่รู้ คือไม่มีญาณที่จะรู้ในสอุปาทิเสสว่าสอุปาทิเสส ในอนุปาทิเสสว่าอนุปาทิเสส

แต่ว่าเทวดาที่ไปเกิดเป็นพรหมเหล่าใดไม่สันโดษ คือไม่ยินดีพอใจอยู่ในอายุ วรรณ สุข ยศ อธิปไตย ที่เป็นของพรหมเท่านั้น แต่ว่าย่อมรู้ธรรมเป็นเครื่องแล่นออกยิ่งขึ้นไปด้วย เทวดาผู้เกิดเป็นพรหมเหล่านั้น ย่อมมีญาณคือความหยั่งรู้ในสอุปาทิเสสว่าสอุปาทิเสส ในอนุปาทิเสสว่าอนุปาทิเสสดั่งนี้

ต่อจากนั้นแล้วติสสะพรหมได้แสดงต่อไปว่า ภิกษุผู้ที่ได้อุระโตภาควิมุตติ คือความหลดุพ้นโดยส่วนสอง ได้แก่ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยใจ หลุดพ้นด้วยปัญญา และภิกษุผู้ที่ได้ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยปัญญา หมายถึงเป็นขีณาสวะคือเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เทวดาผู้เกิดเป็นพรหมดังกล่าวย่อมมีญาณว่า ภิกษุผู้บรรลุวิมุตติดังกล่าว เมื่อกายยังดำรงอยู่ เทวดามนุษย์ย่อมเห็นภิกษุนั้นได้ เมื่อกายแตกทำลายเทวดามนุษย์ย่อมไม่มองเห็นภิกษุนั้นได้ ดั่งนี้เรียกว่ามีญาณรู้ในอนุปาทิเสส คือนิพพานที่ไม่มีอุปาทิว่าอนุปาทิเสส คือรู้ตามเป็นจริง

ส่วนภิกษุผู้ที่บรรลุมรรคผลต่ำลงไปกว่านั้น ดังที่เรียกว่า กายสักขิ เป็นต้น เทวดาผู้เกิดเป็นพรหมดังกล่าวย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ภิกษุผู้บรรลุมรรคที่ต่ำกว่านั้น อันเรียกว่า กายสักขิ เป็นต้น เมื่อได้ส้องเสพ คืออยู่ในเสนาสนะอันสมควร ได้คบหากัลยาณมิตรคือมิตรที่ดีงาม ได้อบรมบ่มอินทรีย์ทั้งหลายยิ่งขึ้นไป ก็ย่อมจะกระทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คืออรหัตมรรคอรหัตผลอยู่ได้ดั่งนี้ มีญาณรู้ในสอุปาทิเสส คือนิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ว่าสอุปาทิเสสตามความเป็นจริง ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กลับมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสเพิ่มมาอีกจำพวกหนึ่ง คือจำพวกที่เรียกว่าอนิมิตรวิหารี คือผู้ที่ปฏิบัติบรรลุเจโตสมาธิ ไม่มีนิมิตคือเครื่องกำหนดหมาย เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งสิ้น ว่าจะทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เป็นสอุปาทิเสสอีกจำพวกหนึ่ง ดั่งนี้

ตามที่แสดงไว้ในพระสูตรที่เล่ามานี้ ก็เป็นการแสดงอธิบายอนุปาทิเสส และสอุปาทิเสสโดบปริยายคือทางอันหนึ่ง ดั่งนี้

ความระลึกถึงนิพพานแม้โดยปริยาย คือทางที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้หลายอย่างหลายประการ แต่ก็รวมอยู่ที่ธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ ฉะนั้น เมื่อระลึกถึงธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ ก็เป็นอันว่าได้บรรลุถึงนิพพาน ย่อมจะทำให้จิตใจได้บรรลุถึงความสงบ

แม้การฟังธรรมข้อใดข้อหนึ่งจะเป็นบรรยายก็ตาม จะเป็นสวดก็ตาม ธรรมทั้งปวงนั้นย่อมมีวิมุตติเป็นรส เอียงเทลุ่มลาดไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็ชื่อว่าได้ระลึกถึงนิพพานนั้นเอง

นิพพาน

นิพพาน ตามความหมายที่ใช้ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ได้แสดงแล้วว่า เป็นบรมธรรมยอดธรรม เป็นภูมิที่พึงบรรลุซึ่งนับว่าเป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งหรือวิสังขาร ธรรมที่ปราศจากความปรุงแต่งหรือเครื่องปรุงแต่ง เป็นธรรมที่อยู่เหนือมรรคและผล ดังที่เรียกว่า มรรค ผล นิพพาน อันเป็นโลกุตตรธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลก พ้นโลก พ้นความทุกข์ พ้นกิเลส ตลอดจนถึงพ้นกรรมด้วยประการทั้งปวง

และก็ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ใช่เป็นธรรมที่สุดเอื้อม แต่ว่าจะต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ ก็เหมือนอย่างว่าที่สูงซึ่งมีบันไดขึ้นไปเป็นขั้นๆ เมื่อยังอยู่ที่พื้นดินยังมิได้ก้าวขั้นบันไดไปแต่ละขั้น ก็ย่อมจะรู้สึกว่า ที่สูงอันเป็นที่สุดบันไดนั้นอยู่สุดเอื้อม แต่ว่าเมื่อขึ้นบันไดไปโดยลำดับทีละขั้นจนถึงขั้นที่สุดแล้ว ที่สูงนั้นก็จะอยู่ในเอื้อมเช่นเดียวกับบันไดขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง เมื่อยืนมองอยู่บนพื้นดิน ก็เป็นที่อยู่ในเอื้อม รู้สึกว่าขึ้นไปได้และขึ้นไปไม่ยาก

การปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานอันเป็นบรมธรรมก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับแล้ว ก็จะมาอยู่ในเอื้อมบรรลุถึงได้ และแม้ว่าจะก้าวขึ้นไปตั้งแต่บันไดขั้นต้น ก็ย่อมได้รับรสของนิพพานแล้ว เช่นเดียวกับที่มีอุปมาเหมือนอย่างน้ำในมหาสมุทร มีความเค็มเป็นรสทั้งหมด แม้ว่าจะก้าวลงไปสู่มหาสมุทรริมฝั่งที่สุด ก็ย่อมจะพบน้ำในมหาสมุทรนั้นมีความเค็มเป็นรสเดียวกัน

ฉะนั้น จึงได้รับรสของนิพพาน คือความดับกิเลสและกองทุกข์ไปโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นต้นที่ก้าวขึ้นสู่ธรรมปฏิบัติ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยอันจะพึงบรรลุถึงได้ และก็จะต้องบรรลุตั้งแต่ในขั้นต้นดังกล่าวมานั้น

โดยเหตุนี้ท่านจึงใช้คำว่านิพพานในความหมายที่ผ่อนลงมาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าผ่อนลงมาถึงความดับกิเลสของพระโสดาบันก็เป็นนิพพานขั้นหนึ่ง ของพระสกทาคามีก็เป็นนิพพานขั้นหนึ่ง ของพระอนาคามีก็เป็นนิพพานขั้นหนึ่ง ซึ่งยังเรียกว่าเป็นสอุปาทิเสส คือมีอุปาทิ ซึ่งหมายถึงอุปาทานหรือกิเลสยังเหลืออยู่ จนถึงของพระอรหันต์ จึงเป็นนิพพานขั้นที่สุด อันเรียกว่าอนุปาทิเสส ไม่มีอุปาทิหรืออุปาทานหรือกิเลสยังเหลืออยู่ ดังที่กล่าวมาแล้วเป็นอันผ่อนลงมา

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น