xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

นิพพาน

ได้แสดงนิพพานโดยอาศัยพระพุทธภาษิตและอธิบายมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่จบ เพราะได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยปริยาย คือแนวทางต่างๆ อีกหลายประการ แต่ว่าก็รวมเข้าสูงสุดในอันเดียวกัน

และในการแสดงนี้ก็ได้กล่าวแล้วว่า ได้อาศัยพระพุทธภาษิตและอธิบายในที่นั้นๆ ซึ่งอาจที่จะแสดงได้ เหมือนอย่างอาจที่จะระลึกถึงนิพพานได้ และก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องระลึกถึง และเช่นเดียวกันกับที่สมควรจะแสดงเพื่อเกิดความสนใจและให้เห็นว่า นิพพานนั้นเป็นธรรมที่พึงบรรลุถึงได้ เป็นอายตนะคือเป็นที่ต่อได้

เหมือนอย่างตากับรูปต่อกันได้ หูกับเสียงต่อกันได้ นิพพานกับผู้บรรลุคือจิตก็ต่อกันได้ บรรลุถึงได้เมื่อปฏิบัติเข้าถึงขั้น จึงได้เรียกว่าเป็นอายตนะคือเป็นที่ต่อได้คือบรรลุได้ และแม้ยังไม่บรรลุคือยังไม่ได้ยังไม่ถึง เมื่อระลึกถึงก็จะทำให้เกิดฉันทะ วิริยะ ในอันที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงต่อไป

ได้กล่าวแล้วว่า ทุกๆท่านที่บรรลุนิพพานแล้ว ก่อนจะบรรลุท่านก็ระลึกถึงทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงระลึกถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ คือความตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงปรารถนาพุทธภูมิ ก็คือปรารถนานิพพานนั้นเอง จึงได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุนิพพาน

พระอรหันตสาวกทั้งหลายก่อนที่จะบรรลุอรหัตมรรค อรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ก็ระลึกถึงนิพพาน อธิษฐานคือตั้งจิตปรารถนาต้องการนิพพาน และปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน และถ้าหากไม่ระลึกถึงก็จะไม่เกิดฉันทะ วิริยะ อุตสาหะในอันที่จะปฏิบัติ มีการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงได้ และการที่ระลึกถึงได้ก็เพราะได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงแก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุยังไม่ได้ไม่ถึงนั่นเอง ถ้าหากว่าเป็นผู้ได้เป็นผู้ถึงแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงสั่งสอน เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมทั้งสิ้นก็ทรงสั่งสอนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุยังไม่ได้ยังไม่ถึงเป็นประการสำคัญ

การแสดงบอกกล่าวกันต่อมา ก็เป็นการแสดงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้เข้าใจถึงคลองธรรมหรือกระแสธรรมที่ดำเนินไปตามสมควรแล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจถึงพระนิพพานได้ ระลึกถึงพระนิพพานให้ตรงได้ และความเข้าใจถึงคลองธรรมถึงกระแสธรรมนั้น กล่าวโดยย่อก็เป็นของไม่ยาก เพราะอยู่ตรงกันข้ามกับกระแสโลกหรือกระแสกิเลสนี้เอง

กล่าวคือ จิตที่มีกิเลสที่มีทุกข์ทุกคนก็ย่อมรู้ เพราะกิเลสกับทุกข์ประกอบกันอยู่กับจิตใจของทุกๆคน นิพพานนั้นเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อันตรงกันข้ามกับจิตที่ยังมีกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งเป็นจิตที่เศร้าหมอง จิตที่พ้นกิเลสและกองทุกข์ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส ก็จิตอันนี้เอง

เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจถึงว่านิพพานก็คือสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นดั่งนี้แล้ว ก็เข้าใจไม่ยาก คือภาวะอันนั้นเอง ภูมิอันนั้นเอง ฉะนั้น ธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นธรรมที่รู้ได้เห็นได้ถ้าทำใจให้รู้ให้เห็นแล้ว ก็ไม่เป็นการยากเกินวิสัย

สังขตธรรมหรือสังขาร

ธรรมที่ทรงสั่งสอนถึงนิพพานนั้นโดยปริยายคือทางอย่างหนึ่ง รวมอยู่ในข้อที่เรียกว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง หรือเรียกอีกย่างหนึ่งว่า วิสังขาร คือสภาพที่ไม่ปรุงไม่แต่ง ซึ่งปราศจากการปรุงแต่งทั้งสิ้น

ได้มีแสดงธรรมไว้สองอย่างคือ สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขาร

สังขตธรรมนั้นคือธรรมที่ถูกปรุงแต่ง สังขารก็คือสภาพที่ปรุงแต่ง โดยเรียกว่าสังขตธรรมหรือสังขารก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

สังขตธรรมคือธรรมที่ถูกปรุงแต่งนั้นโดยปริยายหนึ่งแสดงไว้ว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ นี้เป็นสังขตธรรมอย่างหนึ่ง อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ใช่บุญหรือบาป เป็นสังขตธรรมอย่างหนึ่ง อเนชญาภิสังขาร ปรุงแต่งสิ่งที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงปรุงแต่งสมาธิจนถึงบรรลุฌานคือสมาธิที่แน่วแน่ไม่หวั่นไหว ก็เป็นสังขตธรรมอย่างหนึ่ง

ที่เรียกว่าสังขตธรรมนั้นเพราะว่า ต้องปรุงแต่งคือต้องทำ จะเป็นบุญขึ้นมาก็ต้องทำ จะเป็นบาปขึ้นมาก็ต้องทำ จะเป็นสมาธิขึ้นมาก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็เป็นบุญเป็นบาปเป็นสมาธิขึ้นมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า สังขตธรรม ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง

ธรรมที่ถูกปรุงแต่งนี้ตรัสแสดงไว้ว่า มรรคมีองค์แปดเป็นยอด มรรคมีองค์แปดนั้นก็ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สองนี้จัดเป็นปัญญา

สัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
สามนี้จัดเป็นศีล

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
สามนี้จัดเป็นสมาธิ

มรรคมีองค์แปดนี้ตรัสแสดงว่า เป็นยอดสังขตธรรม คือธรรมที่ถูกปรุงแต่ทั้งสิ้น

ทำไมมรรคมีองค์แปดจึงเรียกว่า สังขตธรรม เพราะต้องปรุงแต่งคือต้องทำต้องปฏิบัติจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นต้นขึ้นมาได้ หรือย่อลงมา จึงจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมาได้ ถ้าหากว่าไม่ปรุงแต่งคือไม่ทำไม่ปฏิบัติ ก็เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาไม่ได้ เป็นมรรคมีองค์แปดขึ้นมาไม่ได้

ทำไมจึงเป็นยอดของสังขตธรรมทั้งหลาย เพราะว่ามรรคมีองค์แปดหรือย่นย่อลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นทางปฏิบัติให้บรรลุถึงความดับทุกข์ได้ คือดับตัณหา ความดิ้นรน ทะยานอยากได้ และเมื่อดับทุกข์คือดับตัณหาได้แล้ว ก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ คือว่า เลิกทำเลิกปฏิบัติต่อไปได้

ส่วนสังขตธรรมประการอื่นนั้นไม่ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์ ความสิ้นกิเลสได้เหมือนอย่างนี้ และไม่สามารถจะเสร็จกิจได้ จะต้องปรุงแต่ง จะต้องทำ จะต้องปฏิบัติต่อไปไม่สิ้นสุด ไม่จบสิ้น และก็ก่อให้เกิดสุขบ้าง ก่อให้เกิดทุกข์บ้าง แม้จะให้เกิดสุขเกิดทุกข์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสุขเป็นทุกข์ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นสุขในบางคราว สุขนั้นก็หายไป เป็นทุกข์ในบางคราว ทุกข์นั้นก็หายไป สลับกันไป ทั้งต้องปรุงแต่ง ต้องปฏิบัติกันอยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด จึงไม่บรรลุถึงความเป็นยอดได้

แต่ว่ามรรคมีองค์แปดนั้น บรรลุถึงความเป็นยอดได้ดังกล่าวแล้ว จึงได้จัดว่าเป็นยอดของสังขตธรรมทั้งสิ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น