xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

สอุปทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน

นิพพานนั้นตามหลักแบ่งชั้นธรรมดังที่กล่าวแล้วเมื่อคราวก่อน คือ มรรค ผล นิพพาน

นิพพานในระดับดังที่กล่าวนี้ ท่านแสดงว่ามีอยู่สองอย่างคือ สอุปทิเสสนิพพาน นิพพานที่มีอุปาทิยังเหลือ กับอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลือ

มีอธิบายที่แตกต่างกันอยู่สองอย่าง คืออย่างหนึ่งคำว่าอุปาทิ หมายถึงขันธ์ห้า ฉะนั้น สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีอุปาทิคือขันธ์ห้ายังเหลือยู่ จึงมีอธิบายว่า หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ซึ่งบรรลุถึงนิพพานอันเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสทั้งสิ้นแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นพระขีนาสพแล้ว แต่ยังมีขันธ์ห้าเหลืออยู่ คือยังดำรงชีวิตอยู่ ดังเช่นพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ยังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ ยังเสด็จประกาศพระศาสนาต่อไปอีกถึง ๔๕ ปี

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าได้ทรงบรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน และแม้พระอรหันต์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสคือนิพพานแล้ว ยังดำรงชีวิตอยู่ ยังมีขันธ์ห้าเหลืออยู่ ก็ชื่อว่าได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีอุปาทิคือขันธ์ห้ายังเหลือ

อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปาทิคือขันธ์ห้าเหลืออยู่ จึงหมายถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตขีณาสพสาวกทั้งหลายซึ่งดับขันธ์แล้ว ก็ชื่อว่าบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน

ได้มีอธิบายในพระสูตรบางแห่งที่แสดงว่า พระสารีบุตรเถระแสดงไว้ว่า นิพพานของท่านที่คนอื่นยังมองเห็นได้ด้วยตา เรียกว่า สอุปาทิเสส เมื่อมองไม่เห็นได้ด้วยตา เรียกว่า อนุปาทิเสส ดั่งนี้

อีกอย่างหนึ่ง อุปาทิ หมายถึง อุปาทาน หมายถึงกิเลส ฉะนั้น สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีอุปาทิ คือยังมีกิเลสยังเหลือ จึงหมายถึงท่านที่ละกิเลสได้เด็ดขาดบางส่วนแล้ว แต่ยังมีกิเลสยังเหลือ คือยังละได้ไม่หมด จึงหมายถึง ท่านที่บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลแล้ว ก็ชื่อว่าบรรลุนิพพานขั้นหนึ่ง

ท่านที่บรรลุสกทาคามิมรรค สกทาคามิผลแล้วก็ชื่อว่าได้บรรลุนิพพานอีกขั้นหนึ่ง ท่านที่บรรลุอนาคามิมรรค อนาคามิผลแล้ว ก็ชื่อว่าได้บรรลุนิพพานอีกขั้นหนึ่งคือ ละกิเลสได้เด็ดขาดบางส่วนแต่ยังไม่หมด ยังมีกิเลสบางส่วนเหลืออยู่ ดั่งนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

ส่วนนิพพานของท่านที่ละกิเลสได้เด็ดขาดไม่มีเหลือ เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปาทิ คืออุปาทานหมายถึงกิเลสทั้งหมดเหลืออยู่ คือละได้หมด ตามอธิบายหลังนี้แล้วแม้ว่าจะยังมองเห็นได้ด้วยตา คือยังมีขันธ์ห้าเหลืออยู่ ยังดำรงชีวิตอยู่ ก็เรียกว่า บรรลุอนุปาทิเสสนิพพานได้ในเมื่อละกิเลสได้เด็ดขาดทั้งหมด

ตามอธิบายนี้ก็สักแต่ว่าเป็นอธิบายที่แตกต่างกันไปเท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้ความสำคัญของนิพพานลดลง หรือแตกต่างกันออกไปแต่ประการใด เป็นแต่เพียงว่าแม้ละกิเลสได้เด็ดขาดบางส่วน ก็เป็นอันชื่อว่าบรรลุนิพพานได้ แต่อธิบายนิพพานให้หย่อนลงมาก ยังมีอธิบายอย่างอื่นอีกซึ่งจะยังไม่กล่าวในวันนี้

ปฏิบัติโพชฌงค์เจ็ด

การแสดงธรรมชักชวนให้เราทั้งหลายระลึกถึงนิพพานแม้ดังกล่าว สติที่ระลึกไปพร้อมกับการแสดงหรือว่าการฟัง ก็นับว่าเป็นสติสัมโพชฌงค์ ความเลือกเฟ้นธรรมคือความเข้าใจธรรมที่แสดง แม้ว่านิพพานมีความหมายอย่างไร ประกอบอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่างไร ราคะ โทสะ โมหะ หรือตัณหาเป็นไปเพื่อความร้อนเพื่อความทุกข์อย่างไร การดับเสียเป็นไปเพื่อความสงบความสุขอย่างไร เลือกเฟ้นธรรมลงไปอย่างนี้ตามสัจจะคือความจริง ก็นับว่าเป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

ความเพียรคือความที่มีจิตใจไม่เบื่อหน่ายเกียจคร้าน แต่มีพลังอุตสาหะ น้อมไปเพื่อที่ปฏิบัติดับตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นทางนิพพาน ก็นับว่าเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ ความอิ่มใจ อิ่มกาย ซึ่งมีลักษณะเป็นความเย็น เป็นความสบาย ไม่ร้อน เพราะว่ามีฉันทะอัธยาศัยถอยออกจากตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเครื่องร้อน แต่ว่าน้อมไปสู่ความดับอันเป็นความเย็น นับว่าได้เข้าไปสู่เขตของความเย็น อันทำให้กายเย็น ใจเย็น

และเมื่อมีฉันทะ วิริยะแรงขึ้น ย่อมมีความดูดดื่มในธรรมมากขึ้น สนุกในธรรมมากขึ้น ไม่เบื่อหน่าย เห็นงามในธรรมมากขึ้น สบายใจในธรรมมากขึ้น และโดยเฉพาะจิตใจที่มีตัณหาเป็นจิตใจที่บกพร่อง ไม่อิ่มไม่เต็มไม่พอ แต่ว่าจิตใจที่สงบตัณหาเป็นจิตใจที่อิ่ม ที่เต็ม ที่พอ ดั่งนี้ ก็นับว่าเป็นปีติสัมโพชฌงค์

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็บังเกิดความสงบกายสงบใจ มีความสุขที่เกิดจากความสงบ ดังคำที่ว่า สุขที่ยิ่งไปกว่าหรือที่อื่นนอกจากความสงบ ไม่มี ดั่งนี้ ก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตใจก็ตั้งมั่นแน่วแน่ตรงต่อทางนิพพานมากขึ้น ความที่มีจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่ดังนี้ก็นับว่าเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็มีความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ อันเรียกว่าวางเฉย วางก็คือว่าไม่ยึดถือ เฉยก็คือว่าไม่วุ่นวาย แต่ปล่อยและสงบ คำว่าปล่อยนั้นก็หมายถึงปล่อยใจให้สงบ ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ถูกนั้น คือเมื่อใจตั้งอยู่ในทางที่ถูกแล้ว ก็ปล่อยให้ตั้งอยู่ในทางที่ถูกนั้น แม้อาจจะมีความสงสัยขึ้นว่าจะมากไปเสียแล้ว หรือจะด่วนทิ้งโลกไปเสียแล้ว ดั่งนี้ ก็อาจจะตกใจขึ้นมา ทำให้เลิกปฏิบัติ ก็จะทำให้ยึดถือขึ้นมาอีก ทำให้วุ่นวายขึ้นมาอีก

ถ้าจะมีความคิดขึ้นอย่างนี้ ก็ต้องคิดไปอีกทางหนึ่งว่าความคิดเช่นนี้ไม่ถูก ไม่ต้องกลัวว่าจะทิ้งโลก ไม่ต้องกลัวว่าจะสำเร็จ เพราะว่าไม่ใช่เป็นของง่าย ตามที่เปรียบแล้วว่ากิเลสนั้นกองเป็นภูเขาเลากาใหญ่โต ปฏิบัติครั้งหนึ่งก็คล้ายๆกับว่าเอาผ้าไปปัดภูเขาครั้งหนึ่ง ไม่ทำให้สึกกร่อนไปเท่าไหร่ ไม่ต้องกลัว

ควรจะกลัวว่าไม่สำเร็จนั่นแหละมากกว่า ไม่ควรกลัวว่าจะสำเร็จเร็วดั่งนี้ ปล่อยให้จิตตั้งมั่นอยู่ในความสงบมากขึ้น ไม่ไปขัดขวางและไม่เข้าไปวุ่นวาย เมื่อเดินทางถูกแล้วก็ปล่อยให้เดินไปในทางที่ถูกนั้น ดั่งนี้คืออุเบกขา มีลักษณะเป็นตัวควบคุมให้ดำรงอยู่ในความสงบตั้งมั่นยิ่งขึ้น ก็นับว่าเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ฉะนั้น แม้การฟังธรรมก็ได้ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามโพชฌงค์ทั้งเจ็ดประการด้วยประการฉะนี้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น