ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
โลกกับทุกข์
ในด้านเทียบเคียงดังกล่าวมาถึงตัวอย่างพระโพธิสัตว์ ก็อาจที่จะกล่าวเทียบเคียงได้อีกอย่างหนึ่งว่า ด้านโลก ด้านทุกข์ หรือว่าด้านกิเลสนั้น ทุกคนก็อยู่กับโลก อยู่กับทุกข์ อยู่กับกิเลส ก็ย่อมจะพิจารณารู้จักว่าโลกเป็นอย่างไร ทุกข์เป็นอย่างไร กิเลสเป็นอย่างไร
อัน “โลก” นั้น ตามศัพท์แปลว่า สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม สิ่งใดชำรุดทรุดโทรม สิ่งนั้นเป็นโลก
และอีกอย่างหนึ่งคำว่า “โลก” อาจจะแปลว่า ปรากฏหรือสว่าง อันหมายความว่า ความชำรุดทรุดโทรมที่เป็นโลกนั้น ไม่ใช่ว่าซ่อนเร้น แต่ว่าปรากฏ ไม่ใช่ว่าไม่ปรากฏ มองเห็นได้แม้ด้วยตา
เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีแสดงไว้ว่าสิ่งใดเป็นโลก สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และทุกข์นั้นก็ไม่ใช่มีความหมายแคบ คือหมายเฉพาะที่เป็นทุกขเวทนา แต่ว่าหมายถึงทุกข์ทุกอย่าง ทุกข์ทุกสิ่ง ที่ดำรงอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
สิ่งใดที่ดำรงอยู่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นโลกกับทุกข์ มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน
และทุกๆ คนอยู่ในโลกอยู่กับทุกข์ ก็ย่อมจะพิจารณามองเห็นโลกว่าเป็นอย่างไร เห็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร อาจจะมองเห็นทุกข์เป็นต้นว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ ก็มองเห็นกัน หรือว่าทุกข์ทางใจ จะเป็นโศกะปริเทวะ เป็นต้น ก็รู้กัน พบกัน
ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็รู้กันพบกัน ความปรารถนาไม่ได้สมหวังต่างๆ ก็พบกัน
เคยพบความไม่เที่ยง ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความที่บังคับให้เป็นไปไม่ได้ตามปรารถนา ต้องละสิ่งทั้งปวงอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าเคยพบเคยประสบโลก ประสบทุกข์ด้วยกัน
กิเลสก็เหมือนกัน ทุกคนมีกิเลสก็รู้กันอยู่ว่า โลภะเป็นอย่างไร โทสะเป็นอย่างไร โมหะเป็นอย่างไร หรือว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก บังเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร เดือดร้อนอย่างไร ดั่งนี้เป็นต้น ก็รู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นก็พิจารณาโดยเทียบเคียงว่าโลกเป็นอย่างนี้ ทุกข์เป็นอย่างนี้ กิเลสเป็นอย่างนี้
อีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้าม ที่ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีโลกที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีกิเลสด้วยประการทั้งปวง นั่นแหละคือนิพพาน
และมาพิจารณาดูอีกว่า ใครคือผู้ที่ประสบโลก ประสบทุกข์ ใครเป็นผู้ที่มีกิเลส
พิจารณาดูตามความจริงและตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะพบว่า จิตนี้เองเป็นสิ่งที่ประสบโลก ประสบทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นที่อาศัยของกิเลสหรือว่ามีกิเลส
ที่ที่มีโลก มีทุกข์ มีกิเลส ก็คือจิตนี้เอง และที่ที่ไม่มีโลก ไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลส ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด ก็คือจิตนี้เอง
เพราะฉะนั้น จึงมีผู้บรรลุนิพพานได้คือจิต เช่นเดียวกับผู้ที่บรรลุทุกข์บรรลุโลก บรรลุกิเลสหรือมีกิเลสคือจิตนี้เอง
และทุกคนก็มีจิตอยู่ด้วยกัน และจิตนี้ตามที่ได้แสดงแล้วว่า ตามหลักพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า จิตนี้มีธรรมชาติปภัสสร คือผุดผ่อง แต่ว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรเข้ามา จึงเรียกว่าอุปกิเลส ซึ่งต้องการจะแสดงความหมายว่า กิเลสนั้นเป็นตัวจรเข้ามา ไม่ใช่เป็นเนื้อหาของจิต ดังที่แสดงแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงสามารถปฏิบัติให้วิมุตติ คือให้จิตพ้นกิเลสได้ จิตที่พ้นกิเลสนี้แหละคือจิตที่บรรลุนิพพาน สิ้นกิเลส สิ้นราคะ โทสะ โมหะ สิ้นตัณหา นี้แหละคือบรรลุนิพพาน
วัฏฏะ ความวน
เมื่อสิ้นกิเลสก็สิ้นกรรม เมื่อสิ้นกรรมก็สิ้นวิบาก เพราะเหตุที่ยังมีกิเลส จึงต้องกระทำกรรมต้องประสบวิบาก นี้เรียกว่า “วัฏฏะ” คือ ความวน เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงได้แสดงถึงสัจจะ คือความจริงข้อนี้
สรุปรวมเข้ามาว่า ทุกคนวนอยู่ในวัฏฏะ คือความวนสามอย่าง
กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส
กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม
วิบากวัฏฏะ วนคือวิบาก
และความวนนี้ย่อมมีอยู่อย่างเดียวกัน ในอดีตก็เป็นอย่างนี้ ในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้
เหมือนอย่างล้อรถที่วิ่งไป ล้อรถที่วิ่งไปก็คือหมุนเป็นวงกลมหมุนไปรอบหนึ่งก็คือว่า คืบไปได้ตอนหนึ่งเท่ากับระยะรอบหนึ่งของล้อนั้น หมุนไปรอบที่สองก็ล้ออันนั้น รอบที่สามก็ล้ออันนั้น รอบที่สี่ก็ล้ออันนั้น
ฉันใดก็ดี ในอดีตจะเกิดมาสักกี่พันกี่แสนกี่โกฏกี่อสงไขยชาติก็ตาม ก็วัฏฏะสาม กิเลส กรรม วิบาก นั่นแหละหมุนไปทีละรอบ
ในชีวิตปัจจุบันนี้ ชีวิตอันนี้สมมติว่ารอบหนึ่ง ก็วัฏฏะสามนี้ ในอนาคตก็วัฏฏะสามอันเดียวกันนี้นั้นเอง
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)