xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

อนมตัคคะ

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า วัฏฏะหรือสังสารวัฏอันนี้เป็น “อนมตัคคะ”ที่แปลว่า มียอด คือปลายที่ไม่จำเป็นจะต้องตามไปรู้

คำว่ายอดหรือปลายนี้ก็หมายความว่า ตั้งต้นมาเมื่อไร ที่สัตว์บุคคลนี้เริ่มเกิดมาหรือว่าเริ่มวนมา และจะไปลงท้ายเมื่อไร คือจะจบสิ้นสุดลงเมื่อใด ไม่จำเป็นที่จะต้องตามไปรู้

เพราะว่าจะย้อนหลังไปในอดีตนานสักเท่าใด จะคืบไปในอนาคตนานเท่าใดก็ตาม หลักก็คือว่า วัฏฏะทั้งสาม กิเลส กรรม วิบาก อันนี้นี่เอง ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน จึงไม่จำเป็นจะต้องตามไปรู้ว่าเกิดมากี่ชาติแล้ว และจะไปเกิดอีกกี่ชาติ

รู้แล้วก็ไม่บังเกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำให้สิ้นกิเลสและสิ้นกองทุกข์ได้อย่างไร เหมือนอย่างว่าฝนตกตั้งแต่ต้นมากี่ครั้งที่ไหนบ้าง ในอนาคตข้างหน้าฝนจะตกอีกกี่ครั้งที่ไหนบ้าง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้

แต่ข้อที่ควรรู้นั้นก็คือรู้เหตุและผล รู้เหตุและผลว่า ฝนตกเพราะอะไร ดังที่เมื่อครั้งโบราณก็แสดงว่าเทวดาให้ฝน ในปัจจุบันผู้รู้ทางวิทยาการรู้เหตุที่ฝนตกว่าเป็นอย่างนั้นๆ และเมื่อจับเหตุและผลแล้ว ฝนจะตกมาในอดีตนานเท่าใดก็ตาม จะตกในอนาคตอีกเท่าใดก็ตาม ก็อยู่ในเหตุผลอันเดียวกันนี้ และเมื่อจับเหตุผลอันนี้ได้แล้ว สมมติว่าต้องการจะให้ฝนตกถ้าทำได้ ก็สร้างเหตุขึ้นให้ฝนตก ก็อาจจะทำให้ฝนตกได้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตามไปรู้รายละเอียดต่างๆ แต่ว่าให้รู้หลักซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้พบหลักสัจจะคือความจริง สรุปเข้าในหลักของวัฏฏะทั้งสาม กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และวิบากวัฏฏะดังกล่าว

เมื่อมีกิเลส กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมก็เป็นผลของกิเลส และกรรมก็เป็นเหตุส่งวิบากคือผล

วิบากคือผลนั้นเล่าก็เป็นผลของกรรม และวิบากก็เป็นเหตุก่อกิเลสอีก เพราะฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนกันเป็นวงกลม
เหมือนอย่างล้อที่มีอยู่สามซี่ ก็หมุนไปอย่างนี้นี่แหละ ทั้งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบันดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พบหลักอันนี้แล้ว ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นความรู้แจ่มแจ้งสว่างโพลงขึ้น ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาแสดงว่า อวิชชาคือความไม่รู้เป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งหมด

ส่วนวิชชา คือความรู้นั้นเมื่อบังเกิดขึ้น อวิชชาคือความไม่รู้ก็ดับหายไป เหมือนเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็ดับหายไป

เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งปวงจึงดับ โลภ โกรธ หลง หรือโลภะ โทสะ โมหะดับ ตัณหาดับ กิเลสดับ ก็เป็นอันหักวัฏฏะ คือหักซี่ของวัฏฏะอันเป็นซี่สำคัญ

เมื่อหักซี่ของวัฏฏะคือกิเลสเสียได้ กรรมก็ดับ วิบากก็ดับ นี่แหละคือนิพพาน หรือว่าโมกขธรรม หรือวิมุตติที่ได้ทรงพบ และก็ทรงแสดงธรรมนี้สั่งสอนชี้แจงที่จะให้เข้าใจถึงสัจจะคือความจริงอันนี้ วางหลักอริยสัจจ์สี่ วางหลักปฏิจจสมุปบาท วางหลักวัฏฏะสาม และหลักอื่นๆ

รวมความว่า ธรรมปฏิบัติทั้งสิ้นนั้น เป็นไปเพื่อปฏิบัติหักวัฏฏะทั้งสามนี้ทั้งนั้น ตั้งแต่ในเบื้องต้น และเป็นไปเพื่อหักตั้งแต่อย่างหยาบ จนถึงอย่างละเอียด

และเมื่อหักได้สิ้นเชิงแล้ว ก็เป็นอันว่าจิตนี้บรรลุถึงความสิ้นกิเลส สิ้นกรรม สิ้นวิบาก เป็นภูมิชั้นแห่งนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งพุทธศาสนา ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

โลกุตตร

จิตทุกคนสามารถจะบรรลุถึงภาวะดังกล่าวได้ เมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์แปด หรือศีลสมาธิปัญญาถึงที่ และเมื่อปฏิบัติไปๆ ก็ใกล้นิพพานเข้าไปเอง ใครจะอยากถึงนิพพานหรือไม่อยากถึงนิพพานก็จะต้องถึง แต่ว่าถ้าขั้นของการปฏิบัติยังไม่เข้าไปถึงฐานะถึงขั้น จะอยากเท่าไรก็ถึงไม่ได้ ไม่อยากก็ไม่ถึง อยากก็ไม่ถึง

เพราะฉะนั้น ความบรรลุนิพพานนั้นจึงมิได้เกิดจากความอยากหรือความไม่อยาก แต่เกิดจากการปฏิบัติไปโดยลำดับ และเมื่อเข้าขั้นแล้วก็บรรลุเอง เป็นสถานที่เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับภาวะที่เป็นโลก ที่เป็นทุกข์ ที่เป็นกิเลสดังกล่าว

จิตอันนี้ของทุกๆ คนสามารถบรรลุถึงได้ เมื่อจิตอันนี้มีกิเลส ก็สามารถทำให้กิเลสสิ้นไปได้ เมื่อจิตอันนี้อยู่กับทุกข์ ก็สามารถทำให้สิ้นทุกข์ได้ เมื่อจิตอันนี้เกี่ยวข้องกับโลก ก็สามารถให้บรรลุโลกุตตรคือพ้นโลกได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น