xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

นิพพาน

นิพพานแม้ว่าจะหมายถึงธรรมที่พึงบรรลุสูงสุดในพระพุทธศาสนา อันอาจจะเข้าใจว่าเป็นธรรมสุดเอื้อม แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรม และจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนานั้นก็คือ นิพพาน อันเป็นธรรมสิ้นกิเลสสิ้นกองทุกข์ทั้งสิ้น

เมื่อมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุถึงภูมิธรรมอันสูงสุดนี้ การปฏิบัติแม้จะเป็นขั้นเบื้องต้นเบื้องต่ำก็เป็นการปฏิบัติที่บ่ายหน้าไปสู่นิพพานนั้น ดังที่เรียกว่า เอียงเทลุ่มลาดไปสู่นิพพานนั้นเป็นอย่างเดียวกัน และแม้ว่าจะยังไม่ได้ไม่ถึงก็พึงระลึกถึงได้ และตั้งอธิษฐานจิตเพื่อบรรลุได้

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แม้แต่โบราณกาลมาท่านก็นิยมอธิษฐานใจในเมื่อได้บำเพ็ญกุศลหรือปฏิบัติธรรมว่า นิพพานปัจจโย โหตุ จงเป็นปัจจัยเพื่อบรรลุนิพพานหรือจงเป็นปัจจัยแห่งนิพพาน ดั่งนี้

และแม้บรรดาท่านที่ได้บรรลุถึงนิพพานแล้ว ก่อนแต่บรรลุก็จะต้องตั้งอธิษฐานจิตเพื่อนิพพานด้วยกันทั้งนั้น จึงจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติในปฏิปทา คือข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพาน ดังที่ได้มีแสดงถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ที่ใครๆ ไม่พึงตำหนิติเตียนโจทประท้วงได้สามประการ คือ

หนึ่ง พระตถาคตพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีธรรมอันกล่าวดีแล้ว อันสมณพราหมณ์หรือเทพยดามารพรหมไม่พึงทักท้วงโดยธรรมได้ ว่าพระองค์มิได้มีธรรมอันกล่าวดีแล้ว

สอง พระตถาคตพุทธเจ้าทรงบัญญัติแสดงปฏิปทา ทางปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานแก่สาวกทั้งหลายแล้วโดยประการที่สาวกทั้งหลายปฏิบัติแล้ว ก็จะพึงกระทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งเองแล้วในทิฏฐิธรรม คือในปัจจุบัน ซึ่งเจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยใจ ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา อันไม่มีอาสวะคือกิเลสซึ่งนอนจมหมักหมมอยู่เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายยับยั้งอยู่ สมณพราหมณ์หรือเทพยดามารพรหมไม่พึงตำหนิโจทประท้วงโดยธรรมได้ในปฏิปทาให้ถึงนิพพานที่ทรงบัญญัติแสดงดีแล้วนั้น

สาม พระตถาคตพุทธเจ้าได้ทรงมีบริษัทแห่งสาวกมิใช่ร้อยเดียว คือจำนวนมาก ซึ่งปฏิบัติตามปฏิปทาให้บรรลุถึงนิพพานนั้น ก็กระทำให้แจ้งวิมุตติ ความหลุดพ้นเพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ไม่มีสมณพราหมณ์หรือเทพยดามารพรหมจะพึงตำหนิโจทประท้วงได้แม้ในข้อนี้

ฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงมองเห็นเครื่องกาหมายอันแสดงว่าบกพร่องผิดพลาด ซึ่งเมื่อพระองค์ไม่ทรงเห็นเครื่องกาหมายนี้ ก็ทรงบรรลุถึงความเกษม ความไม่กลัว และความกล้าหาญ ดั่งนี้

นี้เป็นพระพุทธคุณ คือคุณของพระพุทธเจ้า อันแสดงว่า ได้ทรงแสดงปฏิปทาให้บรรลุถึงนิพพาน และก็ได้มีบริษัทแห่งสาวกปฏิบัติแล้วบรรลุถึงนิพพานมิใช่ร้อยเดียว หมายความว่า มีจำนวนมาก ดั่งนี้

ฉะนั้น แม้ว่าจะยังไม่ได้ไม่ถึง แต่เมื่อตั้งอธิษฐานจิตไว้และปฏิบัติธรรม ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตรงต่อธรรมเป็นที่พ้นกิเลสและกองทุกข์ คือนิพพาน อันเป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา

และดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า แม้แต่ท่านผู้บรรลุแล้ว ก่อนที่จะบรรลุก็จะต้องอธิษฐานจิตให้บรรลุทั้งนั้น ก็แปลว่ามีอนุสสติ คือความระลึกถึงนิพพานเป็นเบื้องหน้า เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงน้อมนำให้มีการปฏิบัติ

และก็ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกันว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะบรรลุถึงนิพพานเร็ว เพราะว่าอันอาสวกิเลส กิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดานนี้มากมายนักอย่างเป็นกองโต อย่างภูเขาใหญ่ การปฏิบัติธรรมครั้งหนึ่งๆ ก็คล้ายๆกับนำผ้าไปปัดภูเขาใหญ่นี้ทีหนึ่งๆ จะทำให้ภูเขาสึกกร่อนไปสักเท่าใด

ฉะนั้น แม้จะมีจิตอธิษฐานให้บรรลุนิพพาน ปฏิบัติธรรมก็ไม่ต้องกลัวว่าจะบรรลุนิพพานเร็ว ข้อที่ควรกลัวนั้นก็คือจะบรรลุช้า ต้องท่องเที่ยววนเวียนไปในสังสารวัฎตลอดกาลยืดยาวนาน

สัลเลขปฏิบัติ

ในต่อไปนี้จะได้แสดงถึงชั้นธรรม เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจถึงภูมิธรรมที่พึงบรรลุในการปฏิบัติธรรม ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันผู้ปฏิบัติพึงบรรลุได้

การปฏิบัติธรรมนั้นเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า โดยตรงเพื่อขัดเกลากิเลสในจิตอันเรียกว่า “สัลเลขธรรม” ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสในจิต หรือสัลเลขปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสในจิต จิตนี้สามารถปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกได้ เพราะว่าจิตเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง จิตเป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ คือรู้อะไรได้ แต่ว่าจิตนี้ถูกอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา มาทำให้เศร้าหมองไป

เครื่องเศร้าหมองของจิตนี้เรียกกันเป็นคำกลางๆทั่วไปว่า กิเลส ที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมอง หมายถึงเครื่องเศร้าหมองของจิตทุกอย่าง จะเป็นราคะ โทสะ โมหะ จะเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือจะเป็นกิเลสข้อใดข้อหนึ่งที่แสดงไว้ ก็รวมอยู่ในคำว่ากิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งนั้น

และสำหรับในที่นี้มีคำว่า “อุป” เติมหน้าเข้าไปว่า อุปกิเลสนั้น ก็เพื่อที่จะชี้แจงแสดงว่า กิเลสนั้นเป็นเครื่องที่จรเข้ามาสู่จิต หรือจรเข้าไปในจิต

“อุป” แปลว่า เข้ามา หรือแปลว่าเข้าไป คำนี้จึงบ่งความว่า กิเลสนั้นไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต แต่เป็นสิ่งที่จรเข้ามาหรือจรเข้าไปสู่จิต เหมือนอย่างเป็นอาคันตุกะ คือเป็นแขกผู้จรมาอาศัย ไม่ใช่เป็นเจ้าของบ้าน ถ้าหากว่ากิเลสเป็นเนื้อแท้ของจิต หรือเป็นตัวเจ้าของบ้าน ก็ไม่อาจจะขัดเกลาหรือชำระล้างได้ แต่เพราะเป็นอุปกิเลส เป็นเครื่องที่จรเข้ามา ดังนั้นจึงชำระล้างได้ ขัดเกลาได้ ต้องการแสดงความหมายดั่งนี้ จึงเติมคำว่า “อุป” เข้าไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น