xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจารณาจิต

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงอาจจะพบกับความสงบได้จริงและก็สามารถที่จะปฏิบัติได้ วิธีที่จะปฏิบัตินั้นโดยปริยายคือ ทางหนึ่งก็ปฏิบัติตั้งสติพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นสติปัฏฐานของพระพุทธเจ้า

จะแสดงข้อตั้งสติพิจารณาจิตสืบต่อไปว่า เมื่อจิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใหญ่กว้างก็ให้รู้ว่าจิตใหญ่กว้าง เมื่อจิตไม่ใหญ่กว้างก็ให้รู้ว่าจิตไม่ใหญ่กว้าง เมื่อจิตยิ่งคือมีธรรมมีคุณที่ยิ่ง ก็ให้รู้ว่าจิตมีธรรมมีคุณที่ยิ่ง เมื่อจิตมีคุณหรือมีธรรมที่สูงกว่านั้นอันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าก็ให้รู้ หรือว่าจิตไม่ยิ่ง จิตไม่มีธรรมที่ยิ่งก็ให้รู้ จิตเป็นสมาธิตั้งมั่นก็ให้รู้ จิตไม่เป็นสมาธิตั้งมั่นก็ให้รู้ จิตวิมุตติหลุดพ้นก็ให้รู้ จิตไม่วิมุตติหลุดพ้นก็ให้รู้ คือจิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น

การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตดังนี้เป็นการที่ดูเข้ามาให้รู้จิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร ว่าถึงปรกติวิสัยของบุคคลมักจะไม่ดูเข้ามา แต่ว่าดูออกไป ดังจะพึงเห็นว่าตาสองข้างของทุกๆคนนี้ก็สำหรับที่จะดูออกไป ไม่ใช่ดูเข้ามา จะดูให้เห็นหน้าของตนเองนั้นไม่ได้ จึงไม่รู้จักหน้าของตนเองว่าเป็นอย่างไร แต่ว่ารู้จักหน้าของคนอื่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ส่วนสตินั้นพร้อมทั้งญาณคือปัญญาดูเข้ามาได้ให้เห็นได้ แต่แม้เช่นนั้นก็มักจะไม่ใช้ดูเข้ามา มักจะใช้ดูออกไปเช่นเดียวกัน จึงมักจะเห็นคนอื่นว่าคนนั้น เขาโลภจัดโกรธจัดหลงจัด คนนี้เขาไม่เป็นดังนั้นดังนี้เป็นต้น การดูออกไปดังนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นการดูออกไป บางทีก็เป็นการเพ่งโทษของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าเป็นกำลังของคนพาล อุชฺฌตฺติพลา พาลา คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่น คือเมื่อดูออกไปเป็นกำลัง แต่ว่าการดูเข้ามานี้เป็นกำลังของบัณฑิต นิชฺฌตฺติพลา ปณฺฑิตา บัณฑิตทั้งหลายมีการดูเข้ามาเพ่งเข้ามาเป็นกำลัง ดังนี้

เพราะฉะนั้น สติที่พิจารณาจิตนี้จึงเป็นการดูเข้ามาให้รู้ว่า จิตของตนเองโลภโกรธหลง หรือว่าไม่โลภไม่โกรธไม่หลง จิตของตนเองหดหู่หรือว่าฟุ้งซ่าน จิตของตนเองกว้างใหญ่หรือว่าไม่กว้างใหญ่ หรือว่าคับแคบ จิตของตนเองยิ่งหรือไม่ยิ่ง หรือว่ายิ่งจนถึงเป็นอย่างเยี่ยม จิตของตนองเป็นสมาธิ ตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น จิตของตนเองหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ข้องเกี่ยวหรือไม่ข้องเกี่ยว

เมื่อดูเข้ามาดังนี้แล้วก็จะสงบจากการเพ่งโทษออกไปข้างนอก แต่จะพบสัจจะคือความจริงในจิตใจของตนเองว่าเป็นอย่างไร และเมื่อเป็นดังนี้แล้วถ้าจิตกำลังมีราคะหรือโลภะโทสะโมหะ เมื่อเพ่งดูเข้ามาแล้ว ราคะหรือโลภะโทสะ โมหะในจิตก็จะสงบลง จิตก็จะปลอดโปร่งขึ้นจากราคะโลภะโทสะหรือโมหะเป็นจิตสงบ และอาการที่หดหู่หรือฟุ้งซ่าน เพราะอำนาจของโลภโกรธหลงนั้น ก็จะหายไป อาการที่คับแคบเพราะความโลภความโกรธความหลงก็จะหายไป ปรากฏเป็นอาการที่กว้างใหญ่ และภูมิของจิตก็จะยิ่งคือจะสูงขึ้นจนเยี่ยมในที่สุด

และเมื่อดูเข้ามาดังนี้พบกับความสงบดังกล่าวแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นและก็หลุดพ้นจากเครื่องข้องเกี่ยวทั้ง หลายตามภูมิตามชั้น อย่างน้อยก็ทำให้จิตพ้นจากความกลุ้มกลัดทั้งหลาย ยกจิตขึ้นมาอยู่เหนือความกลุ้มกลัดได้เป็นจิตที่ปลอดโปร่งแจ่มใส

นิพพาน

ในเบื้องต้นก็ขอชักชวนให้ทุกๆท่านเจริญอนุสสติข้อหนึ่ง คืออุปสมานุสสติ ความระลึกถึงอุปสมะ คือธรรมเป็นที่เข้า ไปสงบรำงับ หรือความสงบระงับ

“อุปสมะ” นี้มีหลายระดับหลายชั้นตั้งแต่ความสงบระงับในขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา จนถึงขั้นวิมุตติ คือความหลุดพ้น ซึ่งเป็นไปตามขั้นตามชั้นของการปฏิบัติ และย่อมมีลักษณะที่พึงระลึกถึงอันจะพึงกำหนดได้ที่จิตใจนี้เอง จึงถอนความเมา กำจัดความกระหาย ถอนความอาลัย ตัดวัฏฏะ คือความหมุนวนแห่งจิตใจด้วยอำนาจของกิเลส กรรม และวิบาก สิ้นตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก สิ้นความติดใจยินดี และออกจากเครื่องเสียดแทงใจ

ลักษณะเหล่านี้เมื่อปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมจะได้พบประสบความสงบ ระงับ ซึ่งมีลักษณะเป็นการถอนความเมาเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว

และเมื่อได้ถอนความเมาเป็นต้นของจิตใจออกเสียได้ในขั้นใด ก็ย่อมจะเป็นวิมุตติ ความหลุดพ้นในขั้นนั้น เป็นวิมุตติในขั้นศีลก็ได้ ในขั้นสมาธิก็ได้ ในขั้นปัญญาก็ได้

ที่ว่าในขั้นเหล่านี้ก็หมายความว่า เป็นผลของศีล สมาธิ ปัญญา โดยลำดับ อีกอย่างหนึ่งอาจกล่าวว่า เป็นผลของศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นมรรคสมังคี ความพร้อมเพรียงกันของมรรค คือความพร้อมเพรียงกันของศีล สมาธิ ปัญญา ประกอบกันก็ได้ และบรรดาลักษณะเหล่านี้ย่อมรวมอยู่ในลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ลักษณะ ที่ระบุในคำว่า “นิพพาน”

นวโลกุตตรธรรม

คำว่า “นิพพาน” นี้เป็นคำที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ และก็เป็นที่ปรารถนาต้องการของผู้มุ่งจะพ้นทุกข์ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนถึงเมื่อได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีนิยมอธิษฐานใจกันมาตั้งแต่โบราณกาลว่า นิพพานปัจจโย โหตุ จงเป็นปัจจัยคือเป็นเหตุแห่งนิพพาน คือเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงนิพพาน ดั่งนี้

ความอธิษฐานจิตดั่งนี้ถือว่าเป็นการอธิษฐานจิตที่สูงยิ่งกว่าอธิษฐานให้เป็นเหตุแห่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติต่างๆ เพราะว่าสมบัติอื่นทั้งปวงนั้นให้ถึงความพ้นทุกข์ไม่ได้ แต่ “นิพพานสมบัติ” สมบัติคือนิพพาน ให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ดั่งนี้ และนิพพานนี้เป็นที่พึงบรรลุสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังที่มีแสดงไว้ว่า มรรค ผล นิพพาน มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง เป็นเก้า เรียกว่า นวโลกุตตรธรรม ธรรมที่ข้ามขึ้นจากโลก คือพ้นโลกเก้าประการ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า นิพพานเป็นธรรมสุดเอื้อมกันอยู่โดยมาก คือหมายความว่า ไม่อาจจะบรรลุถึงได้

แต่ว่าความเข้าใจดั่งนี้ยังไม่ถูกตรงตามที่ควรจะเข้าใจ เพราะว่าตามที่ควรจะเข้าใจนั้น ผลที่พึงบรรลุทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นขั้นไหน เมื่อยังไม่ถึงขั้นที่จะพึงบรรลุก็เป็นการสุดเอื้อมทั้งนั้น บรรลุไม่ได้ทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อถึงขั้นแล้ว ก็เป็นสิ่งที่จะพึงบรรลุได้ และนิพพานนี้ตามหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้ก็เป็นธรรมที่พึงบรรลุได้ ไม่ใช่บรรลุไม่ได้ จึงมีคำกล่าว่า “บรรลุนิพพาน” ดั่งนี้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น