xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกข์เพราะตัณหา

นิโรธะหรือนิโรธที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อในวันนี้ ก็เป็นข้อสามในอริยสัจจ์ทั้งสี่ สมุทัยที่ตรงกันข้ามก็เป็นข้อสอง สมุทัยนี้เป็นเครื่องก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อน และเครื่องก่อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนของใจ ทะยานอยากของใจ

จิตใจที่มีลักษณะดิ้นรนนั้นย่อมเป็นจิตใจที่ไม่หยุด แต่ว่าดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่ายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้บ้าง เพื่อที่จะเป็นบ้าง เพื่อที่จะทำลายล้างบ้าง

เพื่อที่จะได้ก็เรียกว่ากามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากจะได้สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย จะเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้องก็ตาม จะเรียกว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆก็ตาม จะเป็นแก้วแหวนเงินทองสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม ซึ่งเป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจอยากจะได้ จิตก็ดิ้นรนกวัดแก่วงกระสับกระส่าย เพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านี้มา ลักษณะเหล่านี้เป็นกามตัณหา

ความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพื่อที่จะเป็นโน่นเป็นนี่ต่างๆ ตามที่อยากจะเป็น ตลอดจนถึงเป็นเจ้าเข้าเจ้าของบรรดาสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านั้น ก็ทำให้จิตใจดิ้นรนไปเพื่อที่จะให้สำเร็จความเป็นนั่นเป็นนี่ตามที่ต้องการปรารถนานั้น ก็เป็นภวตัณหา

กามตัณหาและภวตัณหานี้เข้ารวมเข้าก็เป็นความดิ้นรนเพื่อที่จะดึงเข้ามาหาตน เพราะเป็นสิ่งที่อยากจะได้จะเป็น

แต่ว่ายังมีความดิ้นรนอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ดิ้นรนเพื่อทำลายล้าง คือทำลายล้างอุปสรรคแห่งการได้สิ่งที่อยากจะได้ แห่งการเป็นสิ่งที่อยากจะเป็น อุปสรรคนั้นจะเป็นบุคคลหรือสิ่งอะไรก็ตาม ก็ดิ้นรนเพื่อจะทำลายล้างคือผลักออกไป ก็รวมความว่า ดิ้นรนที่จะดึงเข้ามาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนเพื่อจะผลักออกไปอีกอย่างหนึ่ง

อันตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนี้ เป็นสมุทัยคือตัวก่อทุกข์ ความทุกข์ต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นจากสมุทัยอันนี้ และพึงพิจารณาดูถึงความทุกข์เดือดร้อนวุ่นวายทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในโลกนี้ อันเกิดขึ้นจากกรรมคือการงานที่กระทำของบุคคล อันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนซึ่งกันและกันตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากการที่ดิ้นรนไปเพื่อที่จะดึงเข้ามากับที่จะผลักออกไปดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดการวิวาทแก่งแย่งช่วงชิงต่อสู้จนถึงประหัตประหารกัน ตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ แม้ป็นสงครามครั้งใหญ่ที่มนุษย์กระทำขึ้นต่อกันก็บังเกิดขึ้นจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นแหละเป็นมูลฐาน ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาคือความดิ้นรนของใจอยู่อย่างนี้ ก็ยังมีสมุทัย คือเครื่องก่อทุกข์อยู่เสมอ และโลกนี้ก็จะไม่ว่างเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกันตั้งแต่ระหว่างบุคคล ระหว่างหมู่ จนถึงระหว่างประเทศ ระหว่างชาติ แม้จะหาวิธีแก้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่อาจที่จะแก้ได้ จะแก้ด้วยวิธีใช้กำลังต่างๆ ประหัตประหารกันสู้กัน ก็อาจจะมีแพ้มีชนะ แต่ก็จะเป็นไปดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

ชยํ เวรํ ปสวติ ผู้ชนะย่อมก่อเวร
ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์


เพราะจะมีการครุ่นคิดผูกเวรซึ่งกันและกันต่อไปอีก คราวนี้แพ้ก็คิดแก้ตัวที่จะเอาชนะใหม่ก็อาจชนะใหม่ได้ ฝ่ายที่แพ้ก็คิดแก้ตัวที่จะเอาชนะใหม่อีก ก็อาจชนะใหม่อีกได้ จึงเป็นการแพ้การชนะที่ไม่แน่นอน ในระหว่างบุคคลก็ปรากฏตัวอย่างอยู่ไม่น้อย เช่น การผูกเวรกันในระหว่างตระกูล บุคคลในตระกูลนี้ทำลายบุคคลในตระกูลนั้น บุคคลในตระกูลนั้นก็ทำลายบุคคลในตระกูลนี้ ผูกเวรกันเช่น นี้มาตั้งหลายชั่วคนดังนี้ก็มี ตั้งแต่ชั้นปู่ย่าตายาย มาชั้นพ่อแม่ชั้นลูกก็ทำลายกันไปอีก

เรื่องเช่นนี้เคยมีตัวอย่างจนถึงกับหลวงพ่อวัดหนึ่งได้เชิญมาทั้งสองตระกูล ขอให้เลิกผูกเวรซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายก็รับ และเมื่อรับแล้วก็เลิกทำลายล้างกัน และอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก

นิโรธ - ดับตัณหา ดับทุกข์

เพราะฉะนั้น การจะเอาชนะด้วยการผูกเวรนั้น ก่อความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเกิดจากตัณหาซึ่งเป็นตัวก่อ แต่เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดับตัณหาซึ่งเป็นตัวก่อนี้เสียได้ก็เป็นความดับทุกข์ได้

เพราะว่าเมื่อดับตัณหาลงไปได้ในข้อใดในเรื่องใดในบุคคลใด ก็ย่อมจะทำให้สงบกรรมอันเป็นไปในการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในเรื่องนั้นบุคคลนั้น ก็ปรากฏเป็นความดับทุกข์เดือดร้อน

เพราะฉะนั้น ความดับทุกข์เดือดร้อนนั้นจึงมีทางปฏิบัติได้อย่างเดียวเท่านั้น คือว่าดับตัณหาเสีย

ถ้าหากว่าไม่ดับตัณหาเสียแล้ว จะใช้วิธีอื่น ก็ไม่สามารถที่จะพบกับความดับทุกข์ได้อย่างจีรังถาวรแน่นอน อาจจะปราบกันลงไปได้ด้วยกำลังต่างๆ ให้จำต้องแพ้ให้จำต้องสงบเป็นคราวๆ แล้วฝ่ายแพ้นั้นตั้งตัวขึ้นมาก็แก้ตัวกันใหม่ ก็กลับไปกลับมาอยู่ดังนี้ ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นกันอยู่

แต่แม้เช่นนั้นน้อยคนที่จะมาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือดับตัณหาในใจของตนลงไปเสีย ดับกรรมคือการกระทำซึ่งเป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันเป็นการก่อภัยก่อเวร รู้จักให้อภัยกันไม่ผูกเวรกัน

เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังนี้แล้ว ก็ดับทุกข์ได้ดับร้อนได้ ดังนี้แหละคือนิโรธ ความดับอันเป็นความสงบ

ดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เป็นผู้หยุด คือ หยุดดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ด้วยอำนาจของความอยากดังกล่าวนั้น

ดับกรรมคือการงานที่กระทำอันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

เมื่อเป็นดังนี้ก็ได้ผลเป็นความดับ ซึ่งเป็นความสงบ เพราะฉะนั้น จะเป็นความสงบได้ก็จะต้องเป็นนิโรธคือเป็นความดับ ดับตัณหาดับกรรมที่เป็นความเบียดเบียนดังกล่าว นี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะให้พบกับความสงบความดับทุกข์ได้ ไม่มีทางอื่นที่จะพบกับความสงบความดับทุกข์ได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น