วิราคธรรม
เพราะฉะนั้น เครื่องย้อมใจซึ่งทำการย้อมใจให้มีสีต่างๆ โดยจิตใจนี้ติดสีต่างๆ และมีระดับต่างๆ ตั้งแต่ขั้นที่ดำทมิฬมืดมิด และค่อยๆ สำรอกสีที่ดำทมิฬมืดมิดนั้นได้โดยลำดับจนถึงขั้นบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เป็นจิตใจที่สำรอกสีออกได้ด้วยประการทั้งปวง
ใจที่ติดสีหรือสีที่ติดใจนี้คือราคะ ใจที่ประกอบด้วยราคะอันมีลักษณะหยาบและละเอียดตามภูมิตามขั้น และใจที่สำรอกสีก็เป็นใจที่ประกอบด้วยวิราคะอันตรงกันข้าม ซึ่งก็มีการสำรอกสีออกไปโดยลำดับเช่นเดียวกันจนถึงเป็นวิราคะสมบูรณ์ คือเป็นจิตใจที่สำรอกสีออกได้หมด เป็นใจที่ไม่มีสี บรรลุถึงความบริสุทธิ์สมบูรณ์ดังกล่าวนั้น นี้คือวิราคธรรม อันบุคคลพึงปฏิบัติได้ตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำจนถึงที่สุด
เพราะว่าจิตใจอันนี้ได้มีราคะ คือเครื่องย้อมมาทำการย้อมใจ ให้ใจนี้ติด คือติดใจยินดีอยู่ในรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง อันน่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือว่าติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ เป็นอันมาก
และสีที่ติดใจหรือว่าใจที่ติดสีก็มีติดมากมายหลายชั้นซับซ้อนกันจนดำ คือแนบสนิทกลายเป็นสีดำไปก็มี คลายมาเป็นสีเขียว สีแดง คลายมาเป็นสีเหลือง หรือคลายลงมาอีกก็เป็นสีขาวและก็ยังเป็นสีอยู่ แต่ก็นับว่าดีขึ้นมากแล้ว คราวนี้มาสำรอกออกทั้งหมดได้ กลายเป็นสีขาวอย่างยิ่งคือไม่มีสี ดังนี้แหละก็นับว่าเป็นการบรรลุอย่างสมบูรณ์ เป็นความสงบอย่างสมบูรณ์ นี้คือเป็นวิราคธรรม
สติปัฏฐานสี่
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็ล้วนแต่เป็นเครื่องสำรอกของใจนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมข้อไหน ทั้งที่เป็นส่วนศีล ทั้งที่เป็นส่วนสมาธิ และทั้งที่เป็นส่วนปัญญา
ในส่วนที่เป็นสมาธิและปัญญาประกอบกันนั้น ก็ได้แก่ส่วนที่มาตั้งสติพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ตามนับที่ตรัสแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็เพราะว่าบุคคลทุกๆคนนั้นย่อมเป็นประเภทตัณหาจริตอย่างหยาบบ้าง ตัณหา จริตอย่างละเอียดบ้าง ทิฏฐิจริตอย่างหยาบบ้าง ทิฏฐิจริตอย่างละเอียดบ้าง
คนที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ก็เช่นว่าเป็นคนที่มุ่งรักสวยรักงามมักจะติดกาย ก็ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายนี้ให้เป็นธรรมดา คือความเกิดดับ เพื่อที่จะคลายความติดในกายลงไป
คนที่มีตัณหาจริตอย่างละเอียด ก็คือคนที่มักจะแสวงหาความสุขเป็นประการสำคัญ คือมุ่งสุขกายสุขใจเป็นใหญ่ แม้ว่าทางร่างกายจะไม่สวยสดงดงามไปบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความสุขกายสุขใจก็แล้วกัน ก็ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณาเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข ให้เห็นธรรมดาคือความเกิดความดับ และเมื่อเป็นดังนี้ก็จะคลายติดในเวทนาลงไป
คนที่มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ คือมักที่จะถือเอาความเห็นของตนเป็นประมาณ มักจะติดจิตคือติดในอาการแห่งใจของตนเอง มุ่งเอาแต่ใจของตนเองเป็นที่ตั้ง เมื่อถูกใจแล้วก็ใช้ได้ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต ให้เห็นความเกิดความดับเช่นเดียวกัน
เมื่อเป็นดังนี้ก็จะคลายจากความติดในจิตใจ คนที่มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด มักจะติดในเรื่องที่บังเกิดขึ้นในใจเป็นประการสำคัญ ต้องการให้ใจนี้ได้พบกับเรื่องที่พอใจที่ชอบใจเป็นที่ตั้ง ก็ตรัสสอนให้พิจารณาธรรม คือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิตใจทั้งหลาย ให้เห็นความเกิดความดับเช่นเดียวกัน
สติปัฏฐานทั้งสี่นี้จึงเหมาะสำหรับผู้มีจริตทั้งสี่ดังที่กล่าวมาแล้ว ทุกๆ คนก็ย่อมจะมีจริตทั้งสี่อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะตั้งสติกำหนดพิจารณาได้ทุกข้อ และแต่ละข้อในสี่ข้อนี้ก็ได้แบ่งแยกเป็นหมวดย่อยๆ ออกไปอีก และวิธีที่ปฏิบัติตั้งสติบางข้อก็ต้องการให้รวมจิตเข้ามากำหนดอยู่เพียงเรื่องเดียว บางข้อก็ต้องการให้พิจารณาดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับ
ดับเครื่องก่อทุกข์
ในเบื้องต้นก็ขอชวนเชิญให้ทุกๆ ท่านระลึกถึงความสงบอันเรียกว่า สันติหรืออุปสมะ ความระลึกถึงความสงบก็เรียกว่า อุปสมานุสสติ และก็ได้แสดงมาโดยลำดับถึงความสงบอันเกิดจากศีลเป็นต้นขึ้นมาจนถึงวิมุตติความหลุดพ้น และก็แสดงถึงลักษณะความสงบ อันเป็นส่วนเหตุประกอบอยู่ด้วย ตั้งต้นแต่ความสร่างเมาหายเมาถอนความเมา มาจนถึงความสิ้นเครื่องย้อมใจ สิ้นการย้อมใจ สิ้นความติดในใจ ในเครื่องย้อมต่างๆ นั้นอันเรียกว่า “วิราคะ”
ในวันนี้จะแสดงอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า “นิโรธะ” หรือ “นิโรธ” ที่แปลว่า “ดับ” ตรงกันข้ามกับ “สมุทัย” ที่แปลว่า “ก่อให้เกิดหรือเครื่องก่อ”
อันสมุทัยนั้นในอริยสัจจ์ทั้งสี่ก็เป็นข้อสอง ข้อหนึ่งก็คือทุกข์ ข้อสองก็คือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์หรือเครื่องก่อทุกข์ ข้อสามก็คือนิโรธ ความดับทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อสี่ก็คือมรรค ทางปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)