xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

สัลเลขปฏิบัติ
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

สำหรับในพระพุทธภาษิต ซึ่งแสดงถึงความที่กิเลสเป็นเครื่องจรเข้ามานั้น และกิเลสที่จรเข้ามานี้เมื่อมานอนจมหมักหมมอยู่ในจิต จนเรียกว่าเป็นเครื่องหมักหมมมีชื่อว่าอาสวะ เป็นเครื่องนอนจมมีชื่อว่าอนุสัย เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงคล้ายๆ กับว่า เป็นตัวประจำอยู่ในจิตอย่างถาวร เป็นตัวที่ยึดครองอยู่ในจิตอย่างถาวร

อันที่จริงอาสวอนุสัยก็คล้ายๆอย่างนั้น อยู่กับจิตมานาน ไม่รู้ว่านานเท่าใด และก็พอกพูนให้มากขึ้นได้ในเมื่อไม่มีปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา แต่ว่าปฏิบัติในทางพอกพูนส่งเสริมอาสวกิเลส หรืออนุสัยกิเลสนี้ ก็เพิ่มพูนมากขึ้นได้

แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อปฏิบัติในด้านขัดเกลาก็ทำให้อาสวอนุสัยนี้น้อยลงไปได้ และการปฏิบัติเป็นเครื่องขัดเกลานั้น ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท อันรวมเข้าคือศีล สมาธิ ปัญญา

ธรรมแม้ว่าจะแสดงในชื่ออย่างอื่น ก็รวมเข้าในสามข้อนี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งรวมเข้าในพระโอวาทที่เป็นตัวปาติโมกข์ คือเป็นหัวข้อเป็นประธานสามประการ คือ ละบาปทั้งปวงหนึ่ง ทำกุศลให้ถึงพร้อมหนึ่ง ชำระจิตของตนให้ผ่องใสหนึ่ง ดั่งนี้

ธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงนี้ย่อมเป็นไปเพื่อขัดเกลาอาสวกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ดังที่ได้เคยกล่าวแล้วว่า ธรรมทั้งปวงนั้นมีวิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นรสเหมือนกันหมด เหมือนอย่างน้ำในมหาสมุทรทั้งหมด มีรสเค็มเป็นรสเหมือนกันหมดฉะนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติขัดเกลาไป ในที่สุดจิตนี้ก็จะวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย เมื่อวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย ก็บรรลุนิพพานอันเป็นธรรมที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้ บุคคลจึงสามารถขัดเกลาจิตใจของตนให้วิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด บรรลุถึงนิพพานอันเป็นธรรมที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นได้

และเมื่อจิตมีกิเลสได้ จิตนี้ก็พ้นกิเลสได้ อันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เมื่อมีความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาดังนี้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าสามารถปฏิบัติให้บรรลุนิพพานได้ มิใช่ว่าไม่สามารถจะปฏิบัติได้ เท่ากับอาการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้สามอย่าง คือ

หนึ่ง ทรงสั่งสอนเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น

สอง ทรงสั่งสอนมีเหตุอันอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

สาม ทรงสั่งสอนมีปาฏิหาริย์ ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ


เพราะฉะนั้น เมื่อทรงบัญญัติแสดงปฏิปทาให้ถึงนิพพานไว้ ปฏิปทาที่ทรงบัญญัติแสดงนั้น จึงรู้ได้เข้าใจได้ และมีเหตุที่จะตรองตามให้เห็นจริงได้

ทั้งเมื่อปฏิบัติแล้วก็บรรลุได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ นี้คือปาฏิหาริย์ของธรรม อันหมายความว่าบรรลุได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติจริง ไม่ใช่บรรลุไม่ได้ ดังที่ปรากฏว่ามีผู้บรรลุมิใช่ร้อยเดียว คือเป็นจำนวนมาก ดังแสดงในพระพุทธคุณดังกล่าวข้างต้นนั้น

และในการปฏิบัติขัดเกลาเพื่อบรรลุวิมุตติ คือความหลุดพ้นดังกล่าวนั้น ก็พึงเข้าใจขั้นอันเป็นตัวเหตุตัวผลของการปฏิบัติโดยสังเขปดั่งนี้ว่า ในการปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเบื้องต้นดังที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติขัดเกลาไปโดยลำดับ และก็ขัดเกลาได้

คราวนี้ตามหลักที่มีแสดงไว้ทางพระพุทธศาสนา เมื่อยังละกิเลสไม่ได้เด็ดขาดบางส่วนหรือสิ้นเชิง ก็ชื่อว่ายังอยู่ในภูมิของปุถุชนหรือกัลยาณชน อันเรียกว่าเป็นภูมิของสามัญชนทั่วไป เมื่อปฏิบัติจนถึงละกิเลสได้เด็ดขาดบางส่วนหรือสิ้นเชิง ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติเข้าขั้นอริยภูมิ ภูมิของพระอริยะหรืออริยชน ชนหรือบุคคลผู้เป็นอริยะ ดั่งนี้

มรรค ผล นิพพาน

ในขั้นที่จะละกิเลสได้เด็ดขาด บางส่วน หรือสิ้นเชิงนี้ ตามหลักทางพระพุทธศาสนาแบ่งขั้นไว้เป็นมรรค ผล นิพพาน

มรรค นั้นตามศัพท์แปลว่า ทาง หมายถึงเหตุคือธรรมปฏิบัติที่เป็นส่วนเหตุ อันเป็นเหตุละกิเลสได้เด็ดขาดบางส่วนหรือสิ้นเชิง เรียกว่า มรรค

ความละกิเลสได้เด็ดขาด บางส่วน หรือสิ้นเชิง อันเป็นผลของมรรคนั้นเรียกว่า ผล

ภูมิธรรมอันสูงกว่ามรรคผลขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง อันเป็นขั้นที่สุดเรียกว่า นิพพาน

รวมเป็นมรรค ผล นิพพาน


สังขตธรรม อสังขตธรรม

คราวนี้ท่านมีอุปมาแสดงไว้ว่า กิเลสนั้นเปรียบเหมือนโรค มรรคนั้นเปรียบเหมือนยาสำหรับแก้โรค เยียวยาโรค ผลนั้นเหมือนอย่างความหายโรค เพราะเหตุที่ใช้ยาบำบัดโรคได้ นิพพานนั้นเหมือนอย่างภาวะของร่างกายที่กลับมีอนามัย คือมีความไม่มีโรค มีสุขภาพอันดี และตามหลักพระพุทธศาสนาแสดงว่า มรรคผลนั้นเป็นสังขตธรรม คือธรรมที่ปฏิบัติปรุงแต่งให้บังเกิดมีขึ้น นิพพานเป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ต้องบัญญัติปรุงแต่งให้มีขึ้น

ฉะนั้น มรรคผลจึงต้องปฏิบัติ คือปฏิบัติในมรรค ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา ไม่ปฏิบัติจะให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมานั้นไม่ได้ ต้องมีการปฏิบัติให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้น และเมื่อปฏิบัติให้เป็นมรรคขึ้นมา ผลของมรรคก็นับว่าเป็นสังขตธรรมด้วย เพราะย่อมรวมอยู่ในเรื่องของการปรุงแต่งเหมือนกัน ก็เหมือนอย่างการใช้ยาเยียวยาโรค ก็ต้องมีการทำยา ต้องมีการบริโภคยา และยาก็กำจัดโรค โรคก็หาย กลายเป็นไม่มีโรค

การเยียวยาเทียบกับมรรค และความหมายโรคก็เทียบกับผล ฉะนั้น จึงเป็นสังขตธรรม เพราะต้องปรุงแต่งคือต้องทำ แต่ว่าความที่ร่างกายมีสุขภาพอนามัยไม่มีโรคนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปรุงแต่งดังกล่าว เพราะไม่มีโรคจะต้องเยียวยา เมื่อไม่มีโรคจะต้องเยียวยา ก็ไม่ต้องมีความหายโรค ฉะนั้น ความไม่มีโรคจึงเทียบกับนิพพาน ซึ่งเป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุง

ยังมีอุปมาอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะพึงเห็นได้ชัด เหมือนอย่างว่าการมาสู่ที่นี้ การมานั้นก็ต้องอาศัยพาหนะหรือว่าเดินมาจึงมาถึง การมาโดยอาศัยพาหนะหรือว่าเดินมานั้นก็เหมือนอย่างเป็นมรรค การถึงที่นี้ก็เหมือนอย่างเป็นผล ส่วนที่นี้เองนั้นเป็นที่ถึง เปรียบเสมือนอย่างว่าเป็นนิพพาน

ฉะนั้น การมาและการถึงจึงเป็นสังขตธรรมซึ่งผู้ปฏิบัติต้องปรุงแต่ง แต่ว่าที่นี้ซึ่งเป็นที่มาถึงนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้ปรุงไม่ได้แต่ง จะกล่าวว่าเป็นที่ที่มีอยู่ก็ได้ เหมือนอย่างเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้น มรรคผลจึงเป็นสังขตธรรม มีเกิดมีดับ แต่นิพพานนั้นเป็นอสังขตธรรม ไม่เกิดไม่ดับ

เหมือนอย่างการมาถึงที่นี้ การมานั้นเมื่อมาจนถึง มาถึงกิริยาที่มาก็เป็นอันว่าดับไป หายไป และเมื่อมาถึงแล้ว การถึงนั้นก็เป็นอันว่าดับไปหายไปเหมือนกัน จึงดำรงอยู่แต่ความที่ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ในที่ที่ถึงนี้ คือดำรงอยู่หรือตั้งอยู่ในที่ที่ถึงเช่นในที่นี้ ก็เหมือนอย่างการบรรลุนิพพานหรือตั้งอยู่ในที่ที่เรียกว่านิพพาน อันเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์นั้น

เพราะฉะนั้น จึงพึงเข้าใจเรื่องมรรค ผล นิพพาน ดั่งนี้ และเมื่อแสดงให้พิสดารออกไป ท่านก็แยกออกเป็นมรรคสี่ หมวดผลสี่ และนิพพานก็อาจจะเป็นสี่ แต่ท่านนับเป็นหนึ่ง รวมเรียกว่า โลกุตตรธรรมเก้า คือธรรมที่เหนือโลกเก้าประการ ดั่งนี้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น