xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง (ต่อ)

พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ ก็ปรากฏว่าได้ทรงมุ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ มุ่งเป็นพระพุทธเจ้า ก็คือมุ่งนิพพานนั้นเอง มุ่งความดับกิเลสและกองทุกข์ แต่ว่ายังไม่ทรงพบทาง จึงต้องทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง

ทรงปฏิบัติไปในทางโน้นบ้าง ทรงปฏิบัติไปในทางนี้บ้าง เมื่อปรากฏว่าผิดพลาดบกพร่อง ก็แก้ไขให้ถูกตรงยิ่งขึ้นโดยลำดับ เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลามาก เพราะต้องค้นทางเอาเอง

จนทรงพบทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่ข้องแวะด้วยความประกอบตนให้พัวพันอยู่ด้วยความสุขสดชื่นทางกาม อันเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง และการปฏิบัติทรมานตนให้ลำบากที่ไร้ประโยชน์ อันเป็นสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ดั่งนี้แล้วจึงได้ทรงบรรลุนิพพาน คือตรัสรู้พระธรรมเป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น นิพพานก็ดี พุทธภาวะก็ดี ธรรมที่เป็นบรมธรรมก็ดี จึงเป็นอันเดียวกัน และมัชฌิมาปฏิปทานั้นก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ในปฐมเทศนาก็คือมรรคมีองค์แปด และที่ย่นลงก็คือศีล สมาธิ ปัญญา

เราทั้งหลายในบัดนี้จึงไม่ต้องไปค้นทางให้เป็นการลำบาก ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติแสดงไว้แล้วเท่านั้น ก็จะเป็นการปฏิบัติถูก เป็นการปฏิบัติตรงได้

แม้ว่าจะเป็นปุถุชน ที่แปลว่าคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แต่เมื่อได้เข้าทางถูก ได้ปฏิบัติถูกตรง เพราะมีความเข้าใจถูก เข้าใจตรงแล้ว การปฏิบัตินั้นก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใกล้เข้าไปทุกที ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติที่ห่างออกไป

นึกดูถึงว่า การเดินทางไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง ทีแรกนั้นก็อยู่ห่างไกลจากจุดที่จะเดินนั้นไปโดยมาก บางทีก็ต่างประเทศหรือว่าตรงกันข้ามที่เรียกว่าอยู่คนละขั้วโลก แต่เมื่อได้หันหน้าไปถูกทางแล้วว่าจะไปทางไหน ก็เริ่มเดินทาง ก็เป็นอันว่าได้ทำตัวให้ใกล้เข้าไปโดยลำดับ เมื่อเป็นดั่งนี้จะถึงได้ในที่สุด

ดับวิตกจริต

แม้ว่าจะยังไม่ถึงนิพพาน พิจารณาดูว่าการปฏิบัติให้ถูกตรงต่อจุดดังกล่าวมานั้น ก็ให้ความสุขความเย็นเพียงใด คือว่าปฏิบัติดับตัณหา ปฏิบัติดับราคะ โทสะ โมหะ

ตัณหาหรือว่าราคะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นไฟที่เผาใจให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติดับ จึงเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุข ความสุขที่ทุกคนได้รับในปัจจุบันนี้เอง

แม้ว่ากิเลสจะยังไม่หมด แต่ว่ากิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจดิ้นรนปรารถนาอย่างแรง ราคะอย่างแรง โทสะอย่างแรง โมหะอย่างแรง เผาใจให้เป็นทุกข์หนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับ และกิเลสเหล่านี้เองเป็นเครื่องทำใจให้ตรอง ให้คิด อันเรียกว่า วิตก

ความตรึก วิจาร ความตรอง เป็นวิตกจริตอย่างหนึ่ง ซึ่งปรุงใจให้คิด คือให้ตรึก ให้ตรองไปจนเกินพอดี เรื่องนิดหนึ่งก็คือไปเป็นเรื่องมาก ดังที่เรียกว่า เรื่องนิดหนึ่งก็คิดไปศอกหนึ่ง วาหนึ่งหรือยิ่งกว่านั้น เรื่องที่ควรจะคิดเพียง ๑๐ นาที ก็ควรจะเลิกคิดได้ ก็คิดไปเป็นชั่วโมงๆ ดั่งนี้เป็นความปรุงด้วยอำนาจของตัณหา หรือราคะ โทสะ โมหะ

การที่กล่าวทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะตำหนิความตรึกตรองทั้งหมด เพราะว่าความตรึกตรองบางอย่างก็เป็นทางของปัญญา ทำให้เกิดปัญญา ดังที่เรียกว่า จินตามยปัญญา

ความรู้ที่เกิดจากความคิดความตรึกตรอง บางอย่างก็ให้ได้สมาธิจนถึงฌาน ดังวิตก วิจารที่เป็นองค์ของปฐมฌาน เพราะฉะนั้น วิตก วิจาร ดั่งนี้คือเป็นไปเพื่อสมาธิ หรือเป็นไปเพื่อปัญญา

หรือจะกล่าวรวมว่า ที่เป็นกุศลวิตกทั้งสิ้น ย่อมนับว่าเป็นส่วนดี แต่ว่าแม้เป็นกุศลวิตก ตรึกไปในทางดี แต่ถ้าตรึกเกินไป ปรุงเกินไป ก็เป็นเครื่องทำลายสมาธิทำลายปัญญาได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว กิเลสคือตัณหา หรือราคะ โทสะ โมหะ ย่อมเป็นเครื่องทำจิตใจให้ปรุงให้คิดไปในทางก่อความร้อนน้อยหรือมาก เหมือนอย่างไฟ ถ้าเป็นกองเล็กก็ร้อนน้อย กองโตก็ร้อนมาก

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อดับเสียได้จึงทำให้มีความสุข ทำให้มีความสบาย และความดับเสียได้นี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นการทำให้อยู่เรื่อยๆเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ไม่ใส่ใจถึงอะไร ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น

เมื่อมีเรื่องที่ควรคิดอันเป็นตัวจินตาซึ่งเป็นทางของปัญญา หรือที่เป็นทางให้เกิดสมาธิ ก็คิดก็ปรุงให้เหมาะแก่เรื่อง เหมาะแก่กาลเวลา ในเวลาที่ควรจะพักก็พัก เรื่องเล็กก็ปรุงให้เล็ก เรื่องโตก็ปรุงให้โต ตามควรแก่ขนาดของเรื่อง เพื่อที่จะให้บังเกิดผลอันถูกต้อง ดั่งนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นการกระทำไปด้วยอำนาจของตัณหา หรือราคะ โทสะ โมหะ ดังกล่าวนั้น แปลว่าทำไปด้วยอำนาจของปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นตัวโมหะ แต่การปรุงที่ให้เกิดโทษนั้นหมายถึงการปรุงที่เกิดจากโมหะ หรือราคะ โทสะ ตัณหาที่กล่าวมานั้นเท่านั้น

ฉะนั้น การปฏิบัติให้ถูกต้องแม้เพียงเท่านี้ก็ให้ความสุขในปัจจุบัน และก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตรงที่ถูกต้องต่อทางนิพพานตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่านิพพานนั้นทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้งนิพพานเสียเมื่อใด ก็ยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะไม่ได้ ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนาไม่ได้

เมื่อมีนิพพานเป็นที่มุ่งหมาย เข้าใจในนิพพานโดยถูกต้อง ทำให้เข้าใจในพระพุทธศาสนา จะเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็ถึงได้ แม้จะปฏิบัติในเบื้องต้น เบื้องต่ำ ทั้งที่ยังมีกิเลสอยู่นี้ ก็ปฏิบัติในทางดับกิเลส ทำจิตใจของตนให้เป็นสุขได้ ให้พบกับสุจริตธรรมให้พบกับความบริสุทธิ์ได้

นิพพานจึงเป็นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องมีประจำอยู่ทุกเมื่อในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในพระพุทธศาสนาอันจะขาดเสียมิได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 146 กุมภาพันธ์ 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น