ไม่เคยมีใครเลยในโลกนี้ ที่ไม่มีความวิตกกังวล แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถรับมือกับความวิตกกังวลได้อย่างชาญฉลาด
มีงานวิจัยระบุว่า คนทั่วไป 1 ใน 10 คน มีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ เพราะความกังวลเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำงาน และชีวิตครอบครัว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ถูกความกังวลเข้าครอบงำเสมอ และบางครั้งก็ไม่อาจหยุดยั้งมันได้ วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณจัดการกับมันอย่างได้ผล
1. ทุกปัญหามีทางแก้
เมื่อมีเรื่องยุ่งยากที่เป็นปัญหาเกิดขึ้น คนทั่วไปมักวิตกกังวล ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาไร้ประสิทธิภาพ
ฉะนั้น อย่าเอาแต่กังวล นั่งจมกองทุกข์ แต่ต้องระลึกเสมอว่า ทุกปัญหามีทางแก้ และควรคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาจะดีกว่า เช่น ค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ หรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น
2. อย่าหลอกตัวเอง
หากคุณเป็นคนขี้กังวล มีแนวโน้มจะหลอกตัวเองว่า ที่กังวลใจเพราะกำลังคิดหาวิธีจัดการกับปัญหา ซึ่งในความเป็นจริง ความวิตกกังวลไม่ได้ช่วยให้จัดการปัญหาอย่างได้ผล
ในทางตรงกันข้าม กลับส่งผลร้ายให้มากกว่า เพราะทุกครั้งที่คุณเกิดความกังวล ความเครียดก็จะตามมาติดๆ และเจ้าความเครียดนี่เองที่เป็นบ่อเกิดของสารพัดโรคร้าย
3. อย่าวิตกจริต
ควรเอาสมองไว้คิดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ มากกว่าที่จะเสียเวลาตั้งคำถาม “ถ้าหาก....?”
แม้การตั้งคำถามดังกล่าว ดูเหมือนเป็นการไม่ประมาท แต่เมื่ออยู่ในสภาวะวิตกกังวล เรามักคิดในแง่ลบเสมอๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการวิตกจริตตามมา ดังนั้น จึงไม่ควรเสียเวลาในการคาดเดาล่วงหน้ากับเรื่องที่ไร้สาระ
4. ยอมรับความไม่เที่ยง
หนึ่งในกฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือ อนิจจัง หมายถึงความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา
บุคคลจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และเรียนรู้ที่จะอยู่และอดทนกับความไม่แน่นอน เพราะการยอมรับในสิ่งไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในชีวิต จะช่วยให้ไม่ทุกข์จนเกินไป และความวิตกกังวลก็น้อยลง ส่งผลให้มีความสุขมากขึ้น
5. อย่าเก็บกดความวิตกกังวล
เมื่อเริ่มรู้สึกวิตกกังวลในบางเรื่อง อย่าพยายามต่อสู้หรือฝืนที่จะไม่เก็บมันมาคิด เพราะเมื่อพยายามกดไว้ ที่สุดแล้วมันจะกระเด้งกลับเข้ามาแรงยิ่งกว่าเดิม
วิธีที่ควรทำคือเผชิญหน้ากับมัน ด้วยการเฝ้ามองและรับรู้ แต่ไม่เอาใจเข้าไปผูกพัน หรือเอาจิตเข้าไปปรุงแต่ง และก็ข้ามผ่านไปทำกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ และช่วยให้ใจเบิกบาน เช่น รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์ ฯลฯ
6. อย่าอยู่กับอารมณ์ด้านลบ
อารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้น อาทิ ความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก ความโกรธ ความรู้สึกผิด ความละอายใจ หรือแม้แต่อาการที่เกิดขึ้นทางร่างกาย เช่น ความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวด เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งให้ความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น
และหากไม่อาจหยุดยั้งความวิตกกังวลให้เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุด พยายามอย่าให้มันเกิดขึ้นในช่วงที่คุณอยู่ในสภาพอารมณ์แย่ๆ เพราะความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มขึ้นและยากที่จะควบคุมไว้ได้
7. แบ่งเวลาจัดการเรื่องที่กังวล
ในเมื่อมีสิ่งที่ยังต้องครุ่นคิดเป็นกังวล ควรหาทางรับมือกับมันอย่างชาญฉลาด ด้วยการแบ่งเวลาให้กับเรื่องนั้นๆโดยเฉพาะ เช่น อาจให้เวลา 1 ชม. หลังเลิกงาน เพื่อจัดการกับปัญหา ส่วนจะแก้ไขสำเร็จหรือไม่นั้น เมื่อครบเวลาที่กำหนดไว้ ก็ควรหยุด และพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น แล้วกลับบ้าน อาบน้ำพักผ่อนให้คลายเครียด วันรุ่งขึ้นค่อยหาหนทางใหม่แก้ไขกันต่อไป
8. อยู่กับปัจจุบันขณะ
การใช้เวลาหมกมุ่น เฝ้ากังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ทำให้เหลือเวลาน้อยลงกับความสุขที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ดังนั้น อย่าจดจ่ออยู่กับเรื่องที่เป็นกังวล ขอให้โฟกัสในสิ่งที่กำลังทำอยู่ในเวลานั้น เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ทำสวน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลืมความวิตกกังวลไปได้บ้าง
9. หยิบความกังวลออกจากสมอง
บ่อยครั้งที่ความวิตกกังวลอาจทำให้นอนไม่หลับ เพราะสมองมัวแต่ครุ่นคิดถึงปัญหาและหนทางแก้ไข จนกระทั่งร่างกายอยู่ในสภาพอิดโรย เพราะนอนหลับไม่เพียงพอ
วิธีหนึ่งที่จะจัดการได้ คือ เตรียมปากกาและกระดาษไว้บนหัวเตียง เมื่อรู้สึกนอนไม่หลับ ให้เขียนสิ่งที่ต้องทำในวันรุ่งขึ้น รวมถึงเรื่องที่วิตกกังวล การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนการหยิบความกังวลออกจากสมองมาวางไว้ข้างนอก ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น
10. เปลี่ยน “ถ้าหาก...” เป็น “ฉันจะ...”
การจะจัดการกับความวิตกกังวลได้ ต้องรู้จักหน้าตาพวกมันเสียก่อน ขอแนะให้จดเรื่องวิตกกังวลที่เกิดขึ้น อย่างย่อๆลงในสมุดบันทึกทุกครั้ง ทำเช่นนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นลองอ่านทบทวนดูว่า สิ่งที่กังวลส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่อง “ถ้าหาก...” หรือไม่ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ความกังวลเช่นนี้ไม่มีประโยชน์
คุณสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็น “ฉันจะ...” ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหา และทำให้ไม่เครียด เช่น เปลี่ยนจากความกังวลที่ว่า “ถ้าหากฉันหาเงินไม่ได้ในวันนี้ ฉันคงต้องอดข้าวเป็นแน่” เป็น “ฉันจะไปรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆพอให้ได้เงินมากินข้าวก่อน”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย ประกายรุ้ง)