xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

ความสุขโสมนัสอันเกี่ยวด้วยกามคุณารมณ์ทั้งปวงนั้น จึงปรากฏให้เป็นสุขเวทนาแค่จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท ประกอบด้วยโมหะ คือความหลง และตัณหาอุปทานเข้าคลุกเคล้าเท่านั้น จึงไม่มีสุขโสมนัสอันแท้จริงยั่งยืนซึ่งลึกซึ้งไปกว่าประสาททั้งห้า

และเมื่อเพิกโมหะ ตัณหา อุปาทาน ออกเสียได้แล้ว ก็จะไม่รู้สึกโสมนัสอย่างนั้น หรือแม้ว่าในขณะที่จิตใจไม่มีตัณหา อุปทาน ไม่มีโมหะ คือในคราวสงบก็จะไม่รู้สึกเป็นสุขโสมนัสอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของความรู้สึกทางประสาทประกอบกับโมหะและตัณหาอุปทาน มิใช่เป็นนิพพาน

ขีณาสวะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุถึงธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ทรงถอนกิเลสทีเสียบแทงจิตที่ร้อยรัดจิต หรือจะกล่าวว่า ทรงถอนลูกศรที่เสียบจิตใจออกเสียได้ คือ ถอนอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ออกเสียได้ หรือว่าถอน ราคะ โทสะ โมหะ ออกเสียได้ จึงทรงสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

เพราะว่าได้ทรงปฏิบัติมาในมรรคมีองค์แปดประการ อันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา จนเป็นมรรค คือเป็นเครื่องกำจัดอาสวกิเลสได้ทั้งหมด ทรงประสบผล คือความสิ้นกิเลส จึงเป็นอันทรงบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมที่ออกจาก “วาน” คือ กิเลสที่เสียบแทงร้อยรัดจิตใจไว้ทั้งสิ้น

ฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงนิพพานตรงนิพพานอย่างแท้จริง และเมื่อดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นแล้ว จึงได้ตรัสไว้ว่า

นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นบรมสุขคือสุขอย่างยิ่ง หรือว่าเป็นยอดสุข เพราะว่าสิ้นทุกข์ทุกประการ สิ้นกิเลสทุกอย่างทุกประการ

และเพื่อที่จะชี้ให้ชัดว่าสิ้นกิเลสจนถึงอย่างละเอียด จึงเรียกว่า ขีณาสวะ ที่แปลว่า ผู้มีอาสวสิ้นแล้ว คือสิ้นกิเลสที่นอนจมหมักหมมในจิตทั้งหมด แปลว่าจิตนี้วิมุตติ คือหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหมด จนถึงขั้นที่เป็นตะกอนนอนจมหมักหมมในจิต

เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงทรงเป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้ไกลกิเลสอย่างแท้จริง ไกลกิเลสด้วยประการทั้งปวง ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะ แม้ว่าจะไม่ปรากฏกิเลสอย่างหยาบหรือว่าอย่างกลาง หรือว่าอาสวกิเลสนั่นเองยังไม่โผล่ขึ้นมา เพราะมีธรรมกั้นห้ามเอาไว้

เช่นว่าปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญาอย่างแรงกล้า ศีล สมาธิ ปัญญานี้กั้นกิเลสเอาไว้ไม่ให้โผล่หน้าขึ้นมา แต่อันที่จริงยังละไม่ได้ อาสวะยังหลบอยู่ดั่งนี้ ก็ยังไม่เป็นขีณาสวะ คือยังไม่สิ้นอาสวะ ต่อเมื่อละอาสวะได้หมดจริงๆ จึงจะเป็นขีณาสวะคือสิ้นอาสวะ ท่านที่เป็นขีณาสวะนี้แหละคือท่านผู้บรรลุนิพพาน

นิพพาน พุทธภาวะ

ความระลึกถึงนิพพานย่อมทำให้การถึงพระพุทธเจ้าเป็นอันชื่อว่าถึง และระลึกถึงพระธรรมพระสงฆ์ก็เป็นอันชื่อว่าถึง เพราะพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้หมายถึงขันธ์ห้าของพระองค์ อีกอย่างหนึ่งไม่ได้หมายถึงรูปกายนามกายของพระองค์ แต่หมายถึงความเป็นพุทธะซึ่งอยู่เหนือขันธ์ห้าเหนือรูปนาม

ความเป็นพุทธะนั้นก็กล่าวได้ว่าภาวะซึ่งบรรลุนิพพานนั้นเอง จะอาศัยพระพุทธภาษิตบางแห่งกล่าวว่า คือพระจิตที่บรรลุวิสังขาร หมายถึงนิพพานที่สิ้นสังขารเครื่องปรุงแต่งแล้ว ดั่งนี้ก็ควรจะได้

และที่กล่าวว่าความเป็นพระพุทธะอยู่เหนือขันธ์ห้านั้น ก็เพราะได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า

ได้มีบางคนมีทิฏฐิคือความเห็นว่า พระตถาคตพุทธเจ้าตายเกิดหรือว่าตายสูญ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า เข้าใจว่าอะไร พระตถาคตนั้นเป็นผู้พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือกล่าวย่อว่าเป็นผู้พ้นจากนามรูป

เมื่อเป็นดังนี้การจะกล่าวว่า ตายเกิดหรือตายสูญ ก็ต้องหมายถึงนามรูปหรือว่าขันธ์ห้า ขันธ์ห้านั้นเองเป็นสิ่งที่เกิดตายหรือเกิดดับ ฉะนั้น เมื่อพระพุทธะเป็นผู้พ้นจากขันธ์ห้าหรือนามรูปแล้ว จึงไม่ควรที่จะกล่าวว่าพระองค์เป็นผู้ตายเกิดหรือตายสูญ หรือว่ากล่าวอย่างอื่นอันต้องหมายถึงขันธ์ห้าหรือนามรูปนั้น

ฉะนั้น พระตถาคตพุทธเจ้าจึงทรงเป็นผู้พ้นสมมติบัญญัติทั้งหมด เพราะสมมติบัญญัติทั้งสิ้นนั้นย่อมตั้งอยู่ในขันธ์ห้าหรือว่านามรูป เมื่อพ้นจากขันธ์ห้าหรือนามรูปก็เป็นอันพ้นจากสมมติบัญญัติทั้งหมด ไม่ควรจะกล่าวว่าเป็นอย่างไรอันเกี่ยวกับขันธ์ห้าหรือนามรูปนั้น

ภาวะดังกล่าวนี้ก็มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับนิพพาน ตามที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ และแม้ว่าภาวะดังกล่าวนี้จะยังเข้าใจได้ยาก จะกล่าวตามที่ท่านแสดงไว้อย่างที่เข้าใจได้ง่ายๆ ดังเช่นที่ได้เคยยกมากล่าวแล้วว่า

ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ หรือธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่านิพพาน ดั่งนี้ก็ได้ และก็หมายถึงภาวะดังกล่าวนั้น พระพุทธะจึงเป็นผู้สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ประกอบด้วยธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ

ฉะนั้น เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง หากยังระลึกถึงในฐานะใดฐานะหนึ่งซึ่งยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ยังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่ อันเรียกว่ายังเป็นโลกอยู่ ดั่งนี้ก็ยังไม่ถึง ต่อเมื่อระลึกถึงพระองค์ซึ่งเป็นผู้สิ้นราคะ โทสะ โมหะ พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้งสิ้น จึงจะเป็นอันระลึกถึง

ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจว่า ตามที่มีผู้เชิญวิญญาณ บางทีก็เชิญวิญญาณพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มานั้น ไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ภาวะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ก็พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะเชิญมาได้ จะพึงเข้าถึงได้ก็ด้วยการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ก็คือภาวะที่เป็นนิพพานนั่นแหละ จึงจะเป็นอันถึงได้

ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง

เมื่อเข้าใจให้มีความถูกต้องดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาซึ่งเอียงเทลุ่มลาดคือมุ่งไปสู่นิพพาน อันเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อยังเป็นไปอยู่เพื่อกิเลสและกองทุกข์ก็หาชื่อว่าได้เป็นพระพุทธศาสนาไม่ ฉะนั้น เมื่อเข้าใจให้ถูกตรงดั่งนี้แล้ว การที่จะปฏิบัติให้ถูกให้ตรงก็เป็นการไม่ยาก คือเพียงแต่ตรวจตราพิจารณาดูจิตใจของตนเองว่า ความปรารถนาต้องการก็ดี เจตนาความจงใจก็ดี กรรมที่กระทำก็ดี เกิดจากอะไร เป็นไปเพื่ออะไร

ถ้าเกิดจากตัณหา เป็นไปเพื่อตัณหา เกิดจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นไปเพื่อราคะ โทสะ โมหะ แล้ว นั่นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเพื่อดับตัณหา เพื่อดับราคะ โทสะ โมหะ นั่นแหละเป็นการปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อมีนิพพานเป็นหลักของใจดั่งนี้แล้ว คือความดับ ดับตัณหา ดับราคะ โทสะ โมหะ เจตนาก็จะตรงต่อพระพุทธศาสนา ความปรารถนาต้องการก็จะตรงต่อพระพุทธศาสนา การปฏิบัติก็จะตรงต่อพระพุทธศาสนา

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น