xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓

นิพพาน วิราคะ

ศัพท์ธรรมที่หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ หรือกล่าวรวมๆ ว่า หมายถึง มรรค ผล นิพพาน นี้ ย่อมมีใช้อยู่เป็นอันมาก เช่นคำว่า วิมุตติ วิราคะ นิพพาน

คำว่า “วิมุตติ” และ “นิพพาน” นั้น เรียกถึงอยู่บ่อยๆ และก็ใช้ปนกันไปอยู่ คำว่า “วิราคะ” นั้น ในภาษาไทยไม่ค่อยได้ใช้เรียกกันนัก แต่ว่าในพระสูตรทั้งหลายใช้คำว่า วิราคะ อันหมายถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่เป็นอันมาก และคำว่าวิราคะนี้ก็ใช้หมายถึงธรรมขั้นนี้ในพระสูตรอันสำคัญ หรือในที่อันสำคัญอยู่เนืองๆ เพราะฉะนั้น จึงควรทำความรู้เรื่องศัพท์แสงที่ใช้ตามสมควร

ในเบื้องต้นก็พึงเข้าใจธรรมอันเป็นโลกุตตรธรรม ซึ่งแปลว่าธรรมที่อยู่เหนือโลกหรือพ้นโลก อันหมายถึงที่พ้นทุกข์ คือ มรรค ผล นิพพาน เป็นหลักสำคัญไว้ก่อน คำว่า “วิราคะ” แปลว่า สิ้นกิเลสเป็นเครื่องย้อมใจ หรือว่าสิ้นความติดใจยินดี สิ้นความกำหนัดพอใจ

สำหรับคำแปลที่อิงพยัญชนะคือถ้อยคำ ก็ได้แก่สิ้นกิเลสเป็นเครื่องย้อมใจ เพราะคำว่าราคะนั้นมาจากธาตุศัพท์ที่ใช้สำหรับวัตถุว่า ย้อม หรือเครื่องย้อม หมายถึงสีสำหรับย้อมผ้า หรือเป็นเครื่องย้อมผ้า เมื่อมาใช้ทางจิตใจจึงนำคำนี้มาใช้เรียกถึงเครื่องย้อมใจ คือย้อมใจให้ยินดีให้ติด

ฉะนั้น นอกจากจะแปลว่าเครื่องย้อมใจ ก็อาจจะแปลว่าติดใจได้ด้วย เหมือนอย่างสีที่ใช้ย้อมผ้า สีนั้นก็ติดผ้า ทำให้ผ้ามีสีเป็นต่างๆ เครื่องย้อมใจก็เช่นเดียวกันก็ทำให้ใจเป็นสี และสีที่สำคัญก็คือความยินดีนั้นเอง ฉะนั้นจึงแปลว่าติดใจได้ด้วย คือเป็นเครื่องติด เป็นเครื่องย้อม หรือเป็นเครื่องทำให้ติดใจ คราวนี้ วิราคะ ก็หมายถึง สิ้นเครื่องย้อมใจ สิ้นเครื่องติดใจดังกล่าวนั้น

วิราคะนี้อาจจะหมายถึงมรรคก็ได้ หมายถึงผลก็ได้ หมายถึงนิพพานก็ได้ ถ้าหมายถึงมรรค แปลเป็นว่าเครื่องทำให้สิ้นกิเลส เป็นเครื่องย้อมใจ หรือเป็นเครื่องทำให้สิ้นกิเลสที่ทำให้ติดใจยินดี หมายถึงผลก็แปลว่า ความสิ้นกิเลสเป็นเครื่องย้อมใจ ความสิ้นกิเลสเป็นเครื่องติดใจ ถ้าหมายถึงนิพพานก็แปลว่า เป็นที่สิ้นกิเลสเป็นเครื่องย้อมใจ เป็นที่สิ้นกิเลสเป็นเครื่องติดใจ

ท่านสอนให้แปลดั่งนี้สำหรับธรรมที่ใช้หมายถึงมรรค ผล นิพพาน คือถ้าหมายถึงมรรค แปลว่าเป็นเครื่อง หรือเป็นเหตุ เพราะมรรคเป็นเหตุ ถ้าหมายถึงผล แปลว่าความ ถ้าหมายถึงนิพพานแปลว่าเป็นที่

ฉะนั้น เมื่อแปลว่าเป็นเครื่องหรือเป็นเหตุก็เป็นมรรค เป็นความสิ้นกิเลสก็เป็นผล เป็นที่สิ้นกิเลสก็เป็นนิพพาน ดั่งนี้

ในที่บางแห่ง วิราคะหมายถึง มรรค ดังที่แสดงว่า เห็นด้วยสัมมัปปัญญา คือปัญญาชอบตามเป็นจริง ย่อมหน่าย เพราะหน่าย ย่อมเป็นวิราคะ คือสิ้นติดสิ้นยินดี เพราะวิราคะสิ้นติดสิ้นยินดีย่อมวิมุตติ คือหลุดพ้น วิราคะที่ใช้ในที่นี้หมายถึงมรรค และวิมุตติก็หมายถึงผล คือเป็นความหลุดพ้น

ในที่บางแห่ง วิราคะหมายถึงนิพพาน ดังที่มีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขต คือที่ถูกปรุงแต่งหรือที่มีการปรุงแต่ง มีมรรคมีองค์แปดประการเป็นยอดหรือเป็นเลิศ ธรรมที่เป็นอสังขต คือที่ไม่ถูกปรุงแต่ง มีวิราคะเป็นยอดหรือเป็นเลิศ ดั่งนี้ ในที่นี้วิราคะก็หมายถึงนิพพาน

ส่วนนิพพานนั้นโดยตรงก็หมายถึงนิพพานดังที่แสดงอธิบายกันทั่วไป ซึ่งอยู่ในอันดับต่อจากมรรค ผล ดังที่กล่าวว่ามรรค ผล นิพพาน แต่ว่าก็มีแสดงอ่อนลงมาถึงนิพพานขั้นต่ำๆ อีกบ้าง สำหรับในที่นี้จะกล่าวถึงจำเพาะนิพพานที่อยู่ในอันดับสูงจากมรรค อันนับว่าเป็นยอดธรรมทั้งปวง ดังที่เรียกว่าบรมธรรมก่อน

บรมธรรม

คำว่า นิพพานนี้ประกอบขึ้นด้วยศัพท์คือ “นิ” กับ “วาน” ภาษาบาลีหรือมคธว่า “นิพพาน” ภาษาสันสกฤตว่า “นิรวาน” แปลว่า ออกจากวาน หรือไม่มีวาน

คำว่า “วาน” นั้นอย่างหนึ่งแปลว่า เครื่องเสียบแทง ใช้หมายถึงลูกศรก็มี อย่างหนึ่งแปลว่าเครื่องร้อยรัด ที่แปลว่าเครื่องเสียบแทง ในที่นี้ก็คือเครื่องเสียบแทงจิตใจ ถ้าหมายถึงลูกศร ก็หมายถึงลูกศรที่เสียบแทงจิตใจไว้ ส่วนที่แปลว่าเครื่องร้อยรัด ก็หมายถึงเครื่องร้อยรัดจิตใจนี้เอง

อันเครื่องเสียบแทงร้อยรัดจิตใจ ก็หมายถึงบรรดากิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหมด ดังที่แสดงไว้ทางพระพุทธศาสนา ก็เป็นต้นว่า “ตัณหา” ความดิ้นรนทะยานอยาก “อุปาทาน” ความยึดถือ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ

ในการยกกิเลสขึ้นแสดง มักจะยกตัณหาขึ้นแสดง เพราะอาจจะชี้ให้เห็นลักษณะได้ง่าย หรือว่ายก ราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นแสดง ก็เพราะอาจจะชี้ให้เห็นลักษณะโดยง่ายเช่นเดียวกัน และก็มีแสดงถึงสายกิเลสทั้งหมดก็ยกเอาอวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะขึ้นเป็นข้อสำคัญ ดังที่แสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาท

แต่ว่าการชี้ลักษณะอวิชชานั้นก็เป็นการแสดงชี้สำหรับหมวดธรรมที่แสดงเหตุผลโยงกันไป ซึ่งมีอวิชชาเป็นหัวหน้า แต่ในการแสดงสั่งสอนทั่วไปนั้น ท่านมิได้ยกอวิชชาขึ้นแสดงเพราะเห็นได้ยาก จึงมักจะยกเอาตัณหา หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นดังกล่าวแล้วขึ้นแสดงสั่งสอน

ก็แหละนิพพานนั้น ตามศัพท์ก็คือ ธรรมซึ่งเป็นที่ออกจากกิเลสที่เสียบแทงหรือร้อยรัดจิตเอาไว้ หรือว่าธรรมซึ่งไม่มีกิเลสที่เสียบแทงหรือร้อยรัดจิตเอาไว้ คำนี้ก็เป็นคำเก่า ใช้มาก่อนพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น และก็มีความหมายถึงผลที่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง

และมีแสดงไว้ในบางพระสูตรว่า พราหมณ์บางคนได้กราบทูลพระพุทธเจ้าถึงนิพพานตามความเข้าใจของเขา คือว่าเขาเอามือลูบกายของเขาซึ่งเป็นกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บว่า นี้คือนิพพาน เขาเข้าใจถึงร่างกายที่มีความสุขสมบูรณ์ว่าคือนิพพานดั่งนี้ และยังมีผู้อื่นเข้าใจนิพพานเป็นอย่างอื่นไปอีก เช่นความสุขสมบูรณ์ด้วยกามคุณารมณ์ทั้งปวงเป็นนิพพาน

ฉะนั้น นิพพานที่เข้าใจกันภายนอกพระพุทธศาสนาจึงมีต่างๆ แต่ก็รวมอยู่ว่าหมายถึงที่สุดยอดในทางใดทางหนึ่ง

ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาผู้ตรัสรู้พระธรรมได้ทรงพิจารณาเห็นว่า อันความสุขทางกายที่เข้าใจว่าเป็นความสุขสมบูรณ์นั้น ความจริงเป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าร่างกายนั้นมีทุกข์อยู่เสมอ แต่อาศัยการเลี้ยงดูอุปการะอยู่ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจึงหายไปหรือว่าไม่ปรากฏ เช่น หิวขึ้นมาก็บริโภคอาหาร ความหิวก็สงบ เมื่อยขบก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อยขบก็สงบดั่งนี้ ก็เพราะแก้กันอยู่เสมอดั่งนี้ จึงเป็นการแก้ทุกข์ไปคราวหนึ่งๆ แต่ก็ต้องแก้กันอยู่เสมอ หยุดไม่ได้

ร่างกายนี้จึงกล่าวได้ว่ามีโรคเป็นเครื่องเสียบแทง อันจะต้องเยียวยาแก้กันอยู่เสมอไม่ว่างเว้น เพราะฉะนั้น แม้ความเข้าใจว่าร่างกายสุขสมบูรณ์มีอนามัยดี ก็เป็นความที่เข้าใจไปตามผลที่ปรากฏชั่วขณะหนึ่งๆ ดังกล่าว จึงไม่ใช่นิพพาน เพราะโดยที่แท้เป็นตัวทุกข์ แม้ความอิ่มเอิบด้วยกามคุณารมณ์ก็ไม่ใช่เป็นนิพพาน เพราะว่าอันกามคุณารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่มีอัสสาทะ คือความเอร็ดอร่อย มีความสุขโสมนัสน้อย แต่ว่ามีทุกข์มาก และความสุขโสมนัสที่มีน้อยนั้นก็เป็นความสุขโสมนัสในขั้นผิวเผินในขั้นภายนอก เหมือนอย่างการบริโภคอาหารอร่อยก็อร่อยแค่ลิ้น พ้นลิ้นไปแล้วความอร่อยก็สิ้นไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น