xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดเทพธิดาราม อารามแห่ง “อัปสรสุดาเทพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดเทพธิดารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระอารามนี้มีให้แก่ “ปิยราชธิดา”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรส เป็นแม่กองในการสร้างพระอารามแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นปิยราชธิดาที่ทรงพระเมตตาโปรดปรานยิ่ง เพราะนอกจากจะทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระทัยโอบอ้อมอารีดุจเทพธิดาแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิด กระทั่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย และได้รับการสถาปนาขึ้นทรงกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2381 และยังทรงเป็น "นางแก้ว" 1 ใน 7 รัตนะ ประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2388 พระชนมายุ 35 พรรษา)

ในการสถาปนาพระอารามแห่งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย

โดยเมื่อแรกเริ่มสร้างนั้นยังมิได้มีการตั้งชื่อวัด จึงเรียกชื่อว่า “วัดพระยาไกรสวนหลวง” ตามบริเวณที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรือกสวนไร่นาของพระยาไกร

กระทั่งการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า "วัดเทพธิดาราม" ซึ่งหมายถึง "อัปสรสุดาเทพ" และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2382

“รูปหล่อหมู่ภิกษุณี” หนึ่งเดียวในไทย
“หอไตร” ได้รางวัลอนุรักษ์ระดับโลก
“กุฏิสุนทรภู่” ที่อยู่กวีเอกของโลก

วัดเทพธิดารามสร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับไทย โดยพระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญ มีลักษณะหลังคาและหน้าบันเหมือนกันทั้งหมด คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายแบบจีน อีกทั้งยังมีตุ๊กตาหินศิลปะจีนประดับในบริเวณวัดด้วย

พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย จำสลักจากศิลาขาวบริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 20 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานไว้เหนือเวชยันต์บุษบกอันประณีตงดงาม ประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” ต่อมาใน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเฉลิมพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเทววิลาศ”

ด้านหน้าของพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องอิริยาบถยืน ปางห้ามสมุทร 2 องค์ กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ส่วนตรงมุมของพระอุโบสถทั้ง 4 ทิศ เป็นที่ตั้งของพระปรางค์จตุรทิศ ก่ออิฐถือปูนสูงราว 15 เมตร ที่ฐานพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4

สำหรับพระวิหารนั้น หลังคาและหน้าบันมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพระอุโบสถ ต่างกันแต่ลวดลายและภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร

ภายในพระวิหารมีสิ่งที่โดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวของไทย คือ รูปหมู่พระอริยสาวิกา(ภิกษุณี) หล่อด้วยดีบุก หน้าตักกว้าง 11 นิ้ว สูง 21 นิ้ว จำนวน 52 องค์ ประดิษฐานบนแท่นหน้าพระประธาน แต่ละองค์มีอิริยาบถแตกต่างกัน โดยตรงกลางเป็นรูปหล่อ “พระนางปชาบดีโคตมี” ภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา

ศาสนวัตถุที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ หอไตร 2 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนใต้ถุนสูง มีความกว้าง 6.50 เมตร สูง 10 เมตร ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา สร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน

ในปี 2554 หอไตรแห่งนี้ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ดีเด่น จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่สุนทรภู่ กวีเอกของโลก บวชเป็นพระภิกษุ ได้มาจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม ปัจจุบันทางวัดได้เก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของสุนทรภู่มาไว้ที่ “กุฏิสุนทรภู่” และอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

รักษาอารามสำคัญไว้คู่บ้านคู่เมือง

วัดเทพธิดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมานับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และล่าสุด ในปี 2555 คณะสงฆ์วัดเทพธิดารามได้จัดทำโครงการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานและศาสนวัตถุภายในวัดให้กลับมางดงามเฉกเช่นครั้งอดีตกาล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2555

โดยมีหน่วยงานต่างๆให้การสนับสนุน ได้แก่ กรมศิลปากร กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนี้การบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารได้เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนศาลาการเปรียญ พระปรางค์ 4 ต้น ศาลาราย 2 หลัง และพระอุโบสถ อยู่ในระหว่างดำเนินการตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2558

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
หอไตร






กำลังโหลดความคิดเห็น