xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : เชียงดา ผักผู้ฆ่าน้ำตาล ประหารเบาหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงดา เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปกลมรี ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ สีเหลืองอมส้ม ดอกย่อยกลมเล็ก ผลเป็นฝักคู่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. ชื่ออื่นๆว่า ผักเซ็ง, ผักจินดา, ผักเจียงดา, ผักกูด, ผักเซ่งดา, ผักม้วนไก่

เป็นผักพื้นบ้านทางเหนือของไทย และยังพบได้ในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และแอฟริกา

กว่า 2,000 ปีมาแล้วที่ประเทศอินเดียใช้เชียงดาเป็นยาอายุรเวทในการรักษาโรคเบาหวาน ในภาษาฮินดูเรียกเชียงดาว่า “Gurmar” แปลตรงตัวว่า “ผู้ฆ่าน้ำตาล” หรือ “ผู้พิฆาตน้ำตาล” เพราะสามารถช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งชนิดพึ่งอินซูลิน และไม่พึ่งอินซูลินได้

นอกจากนั้น ผักเชียงดายังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในยอดอ่อนและใบอ่อนมีวิตามินซีเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง และผักเชียงดาคั้นน้ำสดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยสามารถป้องกันการทำลายดีเอ็นเอในเซลล์เม็ดเลือดขาว

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า เชียงดามีสารสำคัญคือ gymnemic acid ซึ่งสกัดมาจากรากและใบ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาตั้งแต่ปี 1926 และในปี 1981 มีการยืนยันผลการลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินในสัตว์ทดลองและในคนที่เป็นอาสามัครที่แข็งแรง พบว่า ผักเชียงดาไปฟื้นฟูเบต้าเซลล์ของตับอ่อน (อวัยวะที่สร้างอินซูลิน) ทำให้ผักเชียงดาสามารถช่วยคุมน้ำตาลได้ในคนเป็นเบาหวานทั้งชนิด type 1และ type 2

และตั้งแต่ในปี 1990 เป็นต้นมามีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ที่ค้นพบประสิทธิภาพกลไกออกฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด เช่น การศึกษาในมหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดีย ศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูโดยให้สารพิษที่ทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อนของหนู พบว่า หนูที่ได้รับผักเชียงดาทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัด มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของเบต้าเซลล์เพิ่มขึ้น

ในกลุ่มหมอกลางบ้านไทยใหญ่มีตำราระบุถึงเชียงดาว่าเป็น “ยาแก้หลวง” คือ เป็นยาที่ใช้แก้ได้หลายอาการ รักษาได้หลายโรค มีสรรพคุณคล้ายฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ แก้แพ้ แก้เบาหวาน โดยหน้าแล้งจะขุดรากมาทำยา หน้าฝนจะใช้เถาและใบ โดยสับตากแห้งบดชงเป็นชาดื่ม

นอกจากนี้ ยังใช้แก้แพ้ เวียนศีรษะ แก้ไข้สันนิบาต (ชักกระตุก) หรือเมื่อเกิดอาการคิดมาก มีอาการจิตฟั่นเฟือน นอกจากนี้ คนไทยใหญ่ยังใช้ผักเชียงดารักษาอาการท้องผูกโดยจะแกงผักเชียงดา รวมกับผักตำลึงและยอดชะอม กินในหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายด้วย

เชียงดาจะมีรสขมนิดๆ หากเด็ดใบแก่มาเคี้ยวกิน หลังจากนั้นกินน้ำตาลทรายเข้าไป น้ำตาลจะไร้รสชาติ ไม่มีความหวาน ปัจจุบัน มีการนำเชียงดาไปสกัดและผลิตออกมาในรูปของแคปซูล เพื่อสะดวกในการรับประทาน

ข้อควรระวัง!!

การรับประทานเชียงดาอาจทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อใช้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาล ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเมื่อใช้เชียงดาร่วมในการรักษาเบาหวาน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย เก้า มกรา)


กำลังโหลดความคิดเห็น