xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์แผนไทยโต้! กินสมุนไพร “แห้ม” ไม่ส่งผลต่อไต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ โต้ กินสมุนไพร “แห้ม” มากๆ ทำไตพัง ยันผลวิจัยพิษวิทยาในสัตว์ทดลองไม่ส่งผลต่อไต แต่อาจส่งผลต่อตับและหัวใจ ด้าน รพ.เจ้าพระอภัยภูเบศร ย้ำ ผู้ป่วยไตต้องระวังการกินเป็นเรื่องปกติ หากจะกินสมุนไพรต้องศึกษาข้อมูลก่อน โดยเฉพาะที่ให้เกลือแร่และโพแทสเซียมปริมาณมาก

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณี ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเป็นโรคไตใช้สมุนไพรในการรักษาโรค เนื่องจากมีสารสเตียรอยด์ ซึ่งการรับประทานมากๆ จะเป็นการกระตุ้นให้ไตเสื่อมมากยิ่งขึ้นและเสี่ยงที่เกิดอาการไตวายได้ โดยเฉพาะ "แห้ม" สมุนไพรของภาคอีสาน ว่า จากการศึกษาวิจัยยังไม่พบข้อมูลว่าแห้มส่งผลร้ายต่อไตหรือทำให้ไตเสื่อม ไตวายได้ แม้การศึกษาวิจัยจะยังมีไม่มากก็ตาม เนื่องจากแห้มเป็นสมุนไพรที่ไม่มีการปลูกในประเทศไทย ต้องนำเข้ามาจากลาวเท่านั้น แต่จากการศึกษาเรื่องพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง ทั้งการสกัดสมุนไพรด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำ ก็ไม่ปรากฏว่ามีพิษต่อไตเช่นกัน

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ในลาวนั้นจะใช้สมุนไพรแห้มเพื่อรักษาอาการท้องเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ลาวมีผลการวิจัยชี้ชัดจำนวนมาก แต่สำหรับไทยนิยมนำมาใช้ในการลดน้ำตาลในกระแสโลหิต เพราะแห้มมีสารเบอเบอรีนที่ช่วยในการลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่เนื่องจากไทยต้องนำแห้มเข้ามาจากลาว จึงขอแนะนำให้ใช้มะระขี้นกแทนในการลดปริมาณน้ำตาลในเลือด เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนมากและมีสรรพคุณที่แน่นอนกว่า
แห้ม ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
แห้มมีสารเบอเบอรีนซึ่งมีผลข้างเคียงต่อหัวใจ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการหายใจขัดได้นอกจากนี้ อาจมีพิษต่อระบบเลือด ตับ และหัวใจได้” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า แห้มสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งจากการศึกษาไม่พบว่ามีผลร้ายต่อไตแต่อย่างใด แต่จะส่งผลต่อตับมากกว่า เนื่องจากการรับประทานแห้มเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้ตับอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้นโดยปกติต้องระมัดระวังในการรับประทานทุกอย่างอยู่แล้ว แม้แต่น้ำส้มหรือน้ำมะเขือเทศก็ต้องรับประทานอย่างจำกัด เนื่องจากมีปริมาณเกลือแร่สูง ดังนั้น การรับประทานสมุนไพรเพื่อรักษาโรคก็เช่นกัน ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มออกมาแนะนำให้ผู้ป่วยไตไม่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรคก็ค่อนข้างเห็นด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไตต้องระมัดระวังสารหลายอย่าง

ก่อนที่จะรับประทานสมุนไพร ผู้ป่วยไตควรศึกษาข้อมูลให้มากๆ ว่า สมุนไพรตัวนั้นๆมีสารอะไรและจะส่งผลอะไรต่อร่างกาย โดยสารที่ผู้ป่วยไตต้องระวังให้มากคือสมุนไพรที่มีเกลือแร่หรือโพแทสเซียมในปริมาณสูง” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น