xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น (ตอนที่ ๑๐๐)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มพระต่างแคว้น คือ กลุ่มพระที่ออกบวชต่างแคว้นละ ๑ รูป (เฉพาะที่เป็นพระอสีติมหาสาวก) มี ๖ รูป คือ พระพาหิยะ พระปุณณะ พระทัพพะ พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ พระมหากัปปินะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

วาจานุสรณ์

พระโสณโกฬิวิสะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้พิจารณาดูข้อปฏิบัติของท่านเองแล้วเกิดปีติโสมนัส ท่านเปล่งอุทานออกมาในเวลานั้นว่า

คหบดีใด มั่งคั่งยิ่งใหญ่อยู่ในแคว้นอังคะ
คหบดีนั้น คือเราผู้ชื่อ “โสณะ”
บัดนี้ มายิ่งใหญ่ในธรรม เพราะสิ้นทุกข์

ภิกษุควรตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอย่างหยาบทั้ง ๕ เสียให้หมด
ควรตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอย่างละเอียดทั้ง ๕ เสียให้สิ้น
ควรเจริญอินทรีย์ ๕ ให้สูงยิ่งๆขึ้น

ภิกษุผู้ข้ามกิเลสเครื่องข้องทั้ง ๕ คือ
ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้
ท่านเรียกว่า “ผู้ข้ามห้วงน้ำคือกิเลส”

ภิกษุผู้ถือตัว ขาดสติ ยินดีต่ออารมณ์ภายนอก
ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมไม่บริบูรณ์

ภิกษุเมื่อทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ
แต่กลับไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
ย่อมถือตัว ขาดสติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญ

ส่วนภิกษุผู้ปรารภกายคตาสติป็นอย่างดีอยู่เนืองนิตย์
ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ทำสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง
มีสติสัมปชัญญะ อาสวะทั้งหลายย่อมหมดสิ้น

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางตรงไว้แล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงเดินไปเถิด อย่าถอยกลับ
จงเตือนตนด้วยตนเอง
และควรน้อมตนเข้าหานิพพาน

เราบำเพ็ญเพียรหนักไป
จนพระศาสดาต้องเสด็จมาแสดงธรรมโปรด
โดยทรงยกพิณขึ้นเปรียบเทียบ
ครั้นได้ฟังพระองค์สอน เราจึงยินดีอยู่ในพระศาสนา
เราบำเพ็ญสมถะเพื่อให้ได้บรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แล้วเราก็ได้บรรลุวิชชา ๓
นับได้ว่าได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว

จิตที่น้อมไปในเนกขัมมะ(การออกบวช)
น้อมไปในความไม่เบียดเบียน และหมดอุปาทาน
ย่อมได้ความสงัด
จิตที่น้อมไปในความหมดตัณหา
ย่อมได้ความไม่งมงาย
และเพราะเห็นทันการกระทบกันของอายตนะ
จิตจึงหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง

ภิกษุที่จิตสงบหลุดพ้นได้โดยสิ้นเชิงนั้น
ทำกรรมแล้วย่อมไม่มีผลสะสมเป็นวิบาก
กิจอื่นที่จะต้องทำอีกไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทั้งมวล
ทั้งน่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้
เช่นเดียวกับลมที่ไม่สามารถทำภูเขาหินแท่งทึบให้หวั่นไหวได้
เพราะว่า ผู้คงที่พิจารณาเห็นว่า
สิ่งเหล่านั้น แตกดับทุกขณะ


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น