xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ต้อหิน วายร้ายที่ทำลายการมองเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวรที่พบมากที่สุดจากทั่วโลกก็คือ “โรคต้อหิน”

โดยส่วนใหญ่เมื่อเป็นในระยะแรกๆ มักไม่ทราบว่าตนเป็นโรคนี้ กว่าจะทราบก็เกือบถึงขั้นตาบอดแล้ว

ในประเทศไทย ผู้ป่วยต้อหินโดยส่วนใหญ่จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่วัยรุ่นทั้งหลายก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ทางที่ดีควรป้องกันการสูญเสียสายตาแต่เนิ่นๆ ด้วยการไปทำความรู้จักโรคนี้กันครับ

โรคต้อหิน คือ กลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของขั้วประสาทตา เกี่ยวข้องกับความดันตาหรือการสูญเสียลานสายตา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ กรรมพันธุ์ ได้แก่

- มีญาติสายตรงเป็นต้อหิน
- มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ
- เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป)

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่อาจทำให้เกิดต้อหินชนิดทุติยภูมิ ได้แก่

- ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งชนิดหยอด ยารับประทาน ยาฉีด หรือยากิน
- โรคต้อกระจกที่ปล่อยทิ้งไว้จนเลนส์ตาสุก
- อุบัติเหตุทางตาต่างๆ อาทิ ถูกชก หรือถูกสารเคมี
- การติดเชื้อ หรือ การอักเสบในตา เป็นต้น

ส่วนการใช้สายตามากๆ หรือต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นเวลาติดต่อกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคต้อหินโดยตรง แต่ถ้าสายตาสั้นหรือยาวมากๆอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินได้เช่นกัน

โดยสรุป ยิ่งมีอายุมากก็มีโอกาสเป็นโรคต้อหินมากกว่าคนอายุน้อย ส่วนมากพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป

• สาเหตุของโรคต้อหิน

1. มีความดันตาสูง


เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคต้อหิน ความดันตาถูกควบคุมโดยสารน้ำในตา ถ้าอัตราการสร้างสารน้ำสมดุลกับการระบายออก ความดันตาก็จะปกติ

แต่หากความสมดุลนี้เสียไป เนื่องจากการระบายออกของน้ำในตาอุดตัน ก็จะทำให้ความดันตาสูง ส่งผลให้เส้นประสาทตาค่อยๆถูกทำลาย ลานสายตาแคบลง และตามัวได้

2. ลานสายตาผิดปกติ

ผู้ป่วยต้อหินบางรายอาจสังเกตพบความผิดปกติของลานสายตาได้ด้วยตนเอง ส่วนมากจะเสียรอบนอก ทำให้มองไม่เห็นด้านข้างก่อนแล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นเข้าสู่ตรงกลาง

ผู้ป่วยต้อหินทุกรายจึงสมควรได้รับการตรวจลานสายตาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยและติดตามการรักษา

• ประเภทของต้อหิน

ต้อหิน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ต้อหินชนิดมุมตาเปิด
2. ต้อหินชนิดมุมตาปิด
3. ต้อหินในเด็ก

• อาการ


ผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังทั้งชนิดมุมตาเปิดและมุมตาปิดในระยะแรกมักจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆในการมองเห็น จึงเป็นการยากที่คนที่เป็นโรคต้อหินจะรู้ด้วยตัวเอง

แต่เมื่อโรคดำเนินต่อไปจะทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลงจนตาบอดได้ในที่สุด

โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้อหินมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจตาทั่วไปโดยจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตา ปวดศีรษะร่วมกับอาการตาแดงหรือตามัวเป็นครั้งคราว ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคต้อหินชนิดมุมตาปิด ซึ่งถ้าเกิดภาวะ “ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน” ก็จะมีอาการปวดตา ตาแดง และตามัวอย่างรวดเร็ว

• การวินิจฉัยโรคต้อหิน


จะใช้การตรวจหาความผิดปกติของขั้วประสาทตา ร่วมกับการตรวจวัดความดันตา หรือตรวจพบความผิดปกติของลานสายตา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

• การรักษา

ทำได้โดยการลดความดันตา ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าสามารถควบคุมโรคต้อหินได้ การรักษาประกอบด้วย

1. การใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาหยอด ยารับประทาน และยาฉีด

การใช้ยาหยอดตารักษาต้อหิน เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด เพราะสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาทุกวันไปตลอดชีวิต

ปัจจุบันมียาหยอดตารักษาโรคต้อหินหลายชนิด ผู้ป่วยอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้

บางรายจำเป็นต้องใช้ยารักษาต้อหินชนิดกินหรือฉีดร่วมด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะใช้รักษาโรคต้อหินในระยะสั้นเพื่อเตรียมผ่าตัดเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง

2. การใช้แสงเลเซอร์

มีการยิงเลเซอร์เพื่อเจาะรูที่ม่านตาในคนที่มีมุมตาแคบ สำหรับรักษาหรือป้องกันโรคต้อหินเฉียบพลัน

สำหรับผู้ป่วยต้อหินชนิดมุมตาเปิด อาจยิงเลเซอร์ที่มุมตาเพื่อลดความดันตาร่วมกับการใช้ยาหยอดตา

นอกจากนี้ ยังมีการจี้เลเซอร์เพื่อลดความดันตา (cyclophotocoagulation) ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาได้

3. การผ่าตัด

มุ่งเน้นที่การทำช่องเพื่อระบายน้ำภายในลูกตา ความสำเร็จของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของต้อหิน อายุ เพศ และการหายของแผลผ่าตัด

การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น trabeculectomy, การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ระบายน้ำสำหรับต้อหิน (glaucoma drainage device) เป็นต้น

ต้อหินเป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียสายตาแบบถาวรที่พบได้บ่อย แต่สามารถควบคุมรักษาโรคทำให้ผู้ป่วยยังคงมีสายตามองเห็นอยู่ได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีระหว่างผู้ป่วย และแพทย์ผู้รักษา

มีผู้ป่วยหลายรายที่ตรวจพบว่าเป็นต้อหินโดยบังเอิญจากการตรวจตาทั่วไปโดยไม่มีอาการอะไร ดังนั้น การตรวจวัดความดันตาในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว จึงมีความสำคัญมากในการค้นหาผู้ป่วยโรคต้อหิน

การวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น รวมทั้งการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะสามารถป้องกันการสูญเสียสายตาได้ครับ

เมื่อไหร่จึงจำเป็นต้องผ่าตัดต้อหิน?

1. ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาและเลเซอร์อย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้

2. แม้จะได้รับการรักษาโดยการใช้ยาและเลเซอร์ จนความดันตาอยู่ในระดับปกติ แต่ยังไม่ปลอดภัยมากพอ โดยยังคงมีการสูญเสียลานสายตา หรือเส้นใยประสาทตาอย่างต่อเนื่อง

3. ไม่สามารถใช้ยาสำหรับควบคุมความดันตาได้ หรือใช้ได้แต่ไม่สม่ำเสมอ


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)




กำลังโหลดความคิดเห็น