สธ.คาดมีคนไทยป่วยเป็นต้อหินโดยไม่รู้ตัว 2 ล้านคน พบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งรณรงค์ตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
วันนี้ (9 มีนาคม) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการรู้เท่าทันต้อหิน จัดโดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในสัปดาห์วันต้อหินโลก ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับดวงตามากที่สุด 3 อันดับได้แก่ 1. โรคต้อกระจก 2. โรคเบาหวานขึ้นตา และ 3. โรคต้อหิน แต่โรคที่รุนแรงและทำให้ตาบอดโดยไม่รู้ตัวคือโรคต้อหิน เนื่องจากผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็น เป็นสาเหตุสำคัญของตาบอดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบได้ในคนที่อายุต่ำกว่านี้ หรือเป็นตั้งแต่เกิด มักเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง และไม่แสดงอาการใดๆเลย ผู้ป่วย 9 ใน 10 ราย ไม่รู้ว่าตนเองเป็นต้อหิน ในปี 2553 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยเป็นโรคต้อหิน 15,355 ราย โดยพบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,177 ราย รองลงมาคือภาคกลาง 3,908 ราย ภาคเหนือ 2,784 ราย และภาคใต้ 1,437 ราย เฉพาะใน กทม.พบ 3,049 ราย คาดว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคต้อหินโดยที่ยังไม่รู้ตัวประมาณ 2 ล้านคน
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการป้องกันตาบอดจากต้อหิน ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของโรคต้อหิน และให้ความรู้ด้านการป้องกัน รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น 1. อายุ 40 ปีขึ้นไป 2. เป็นโรคเบาหวาน 3. มีคนในครอบครัวเคยเป็นต้อหิน หากใครมีประวัติตรงกับข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมา ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวัดสุขภาพตาตั้งแต่เนิ่นๆ
ด้านรศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า โรคต้อหิน เกิดจากความดันของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาผิดปกติ โดยน้ำหล่อเลี้ยงจะถูกสร้างขึ้นภายในลูกตา และถูกขับออกมาภายนอก การสร้างและการขับออกจะต้องสมดุลกัน ความดันลูกตาจึงจะเป็นปกติ แต่ถ้าลูกตาสร้างน้ำหล่อเลี้ยงออกมามากผิดปกติหรือขับออกมาน้อยกว่าปกติ จะทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น และเกิดการเสียสมดุล ขั้วประสาทตาจะถูกทำลาย ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง โดยมักจะเกิดจากด้านข้างของลูกตาก่อน เมื่อมองไปจุดใดจุดหนึ่งจะเห็นภาพมัวที่ขอบ แต่จะเห็นชัดตรงกลาง ต่อมาจะมัวลงทั้งหมด และทำให้ตาบอดในที่สุด
โรคต้อหินที่พบบ่อยที่สุด คือ ต้อหินชนิดมุมตาเปิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในระยะแรก จะรู้ตัวว่าเป็นเมื่อสายตาค่อยๆมัวลง มองด้านข้างไม่ค่อยเห็น ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ และต้อหินที่พบได้อีกคือต้อหินชนิดมุมตาปิด มีอาการคล้ายกับต้อหินชนิดแรก แต่จะเกิดในคนที่มีมุมตาค่อนข้างแคบ ทำให้ขวางกั้นการระบายของน้ำในตา ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 48 ชั่วโมง อาจทำให้ตาบอดได้
รศ.นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวต่อว่า การรักษาโรคต้อหินในปัจจุบันมี 3 วิธีคือ 1. ใช้ยาหยอดตา หรือกินยาลดความดันในลูกตา 2. การใช้แสงเลเซอร์ 3. การผ่าตัด ซึ่งการรักษาจะใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โรคนี้ถ้าพบในระยะเริ่มเป็นใหม่ๆ คือ ระยะที่สายตาเริ่มมัว จะรักษาหายขาดได้ เพราะขั้วประสาทตายังไม่ถูกทำลาย วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้อหิน ขอให้ประชาชนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรถนอมดวงตา โดยหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนต่อดวงตา ไม่ควรหยอดตาด้วยยาใดๆ โดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ให้ตรวจสุขภาพดวงตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที