โดย..จารยา บุญมาก
หากพูดถึง “ดวงตา” คนส่วนใหญ่มักรู้จักเพียงหน้าที่ที่ใช้ในการมองเห็นเท่านั้น ทว่า น้อยคนนักที่จะรู้จักวิธีถนอมดวงตาอวัยวะอันสำคัญนี้ บางคนปล่อยปละละเลยจนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำร้ายดวงตา บางคนใช้งานจนลืมพักผ่อน ฯลฯ กระทั่งรู้ตัวอีกที สายตาคู่สำคัญก็เสื่อมสภาพไปแล้ว
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัย จักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลำดับโรคที่สำคัญเกี่ยวกับดวงตาที่ต้องระวัง 5 โรค ประกอบด้วย 1.โรคต้อหิน 2.ต้อกระจก 3.กระจกตาติดเชื้อ 4.จอประสาทตาลอก และ 5.โรคตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์
1. โรคต้อหินนั้น ถือว่าเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตาบอดอันดับ 1 ในคนทั่วโลก สามารถเกิดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขั้นไป สาเหตุหลักมาจากการเกิดความดันในลูกตาสูงเกินไป ใช้ยาหยอดตาที่มีเสตียรอยด์ และบางรายเกิดจากกรรมพันธุ์ คือ มีญาติเป็นต้อหินมาก่อน ซึ่งหากเป็นแล้วแพทย์จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์ และใช้ยาหยอดตาร่วม หากอาการรุนแรงก็จะใช้วิธีการผ่าตัด เพื่อเปิดทางระบายน้ำในตาให้ความดันตาลดลง เพื่อป้องกันตาบอด สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุดได้แก่การตรวจวัดความดันตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงการซึ้อยาหยอดตามาใช้เองในกรณีเกิดอาการระคายเคืองลูกตา
2.สำหรับวัย 50 ขึ้นไป หากไม่มีประวัติการป่วยต้อหินแล้ว ก็ควรเฝ้าระวังโรคต้อกระจก เนื่องจากโรคนี้ถือได้ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตามัวแบบถาวร เนื่องจากเลนส์ตาจะเสื่อมตาจึงพร่ามีหมอก มัวบริเวณตาดำ ซึ่งพบได้บ่อยในบุคคลที่ป่วยโรคเบาความ และความดัน การรักษาทำได้วิธีเดียวคือสลายเลนส์เสียทิ้งแล้วใส่แก้วตาเทียม เพื่อให้ดวงตาใสเป็นปกติ ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจเสี่ยงเกิดต้อหินแทรกซ้อนได้ วิธีการป้องกันต้อกระจกจะคล้ายๆกับต้อหิน คือ หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสตียรอยด์ และต้องตรวจความดันตาปีละ 1-2 ครั้ง รวมทั้งป้องกันดวงตาไม่ไห้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงด้วย
3.ใช่ว่าวัยสูงอายุเท่านั้นที่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาแต่วัยรุ่นที่นิยมใช้คอนแทคเลนส์ทั้งแบบแฟชั่น หรือแบบใช้แก้ปัญหาสายตาสั้นก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระจกตาติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด ฝุ่นเข้าตาบ่อย และการเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น การเกิดใบไม้ กระดาษบาดตา ทำให้ระคายเคือง แสบ และปวดเบ้าตา บางรายจะตาแฉะมีขี้ตาสีเขียวอม เหลือง เกิดขึ้นผิดปกติ หรือตาแดง หากเกิดอาการดังกล่าวหลายวันแนะนำว่าให้รีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และรับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม ก่อนที่เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราจะลามไปทำลายเนื้อเยื่อและประสาทตามากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงตาบอดได้เช่นกัน
4.มาที่โรคจอประสาทตาลอก ซึ่งมักเกิดอาการตามัว พร่า คล้ายต้อกระจก พบมากในผู้ที่ เคยประสบอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนกับดวง ตา หรือคนที่มีสายตาสั้นมากๆ ตั้งแต่ 500-600 ขึ้นไป อาการ เตือนของโรคคือ มองเห็นเหมือนจุดหรือหยากไย่ลอยไปมา หรือเห็นเป็นแสงเหมือนฟ้าผ่า หากพบว่ามีอาการเช่นนี้แสดงว่า น้ำวุ้นลูกตาแห้ง จากนั้นวุ้นลูกตาจะเสื่อมสภาพ หากมีบริเวณที่วุ้นติดกับจอประสาทตามากกว่าปกติจะส่งผลทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาเวลาที่วุ้นตาหดตัวและดึงรั้งจอประสาทตา เมื่อมีอาการเช่นนี้ควรไปพบจักษุแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆประสิทธิภาพในการมองเห็นจะลดลง เพราะจะเริ่มมีม่านดำเป็นบางบริเวณและจะเริ่มมองไม่เห็นในที่สุด ส่วนการรักษาหากอาการยังอยู่ในช่วงเตือน รักษาได้โดยการฉายแสงเลเซอร์ แต่หากอาการถือขั้นมองไม่เห็น ก็รักษาด้วยการผ่าตัดให้กลับมามองเห็นเหมือนเดิมได้
5.ขณะที่เด็ก เยาวชน และวัยทำงานนั้น มักพบปัญหาดวงตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ เช่น อาการปวด เมื่อยดวงตา เบ้าตา เนื่องจากการเพ่งมองนานเกินไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่พบในเด็กติดเกมและติดอินเทอร์เน็ตอีกอย่างที่สำคัญ คือ ภาวะสายตาสั้นเทียม อาการเริ่มจากการเมื่อยตา และตาพร่ามัว มองไม่ชัด อาการจะเกิดค้างนานเป็นวัน ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์บ่อยๆ คือ การหยุดพักสายตาทุกๆ 30 นาที โดยพักนานประมาณ 4-5 นาทีและกระพริบตาให้สม่ำเสมอ ประมาณ 10-15 ครั้งต่อนาที เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง และจัดการสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงไม่มืด หรือ สว่างจนเกินไป และพยายามหลักเลี่ยงพื้นที่ซึ่งลมโกรกแรง
“ปัจจุบันนี้แม้จะมีคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่ผู้ผลิตพัฒนาหน้าจอที่ถนอมสายตาเป็นอย่างดีแล้ว แต่หลายคนก็เสพติดการใช้ จนมากเกินที่สายตาจะได้พัก ดังนั้นจึงควรใช้แต่พอดี เพื่อป้องกันผลกระทบอาจเกิดขึ้น อย่างน้อยสายตาก็จะมีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดีและยาวนาน” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวย้ำ