xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : สารพันโรคตา ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อม เมื่ออายุมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ดวงตา โรคตาบางโรคจะพบมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น จึงควรตรวจตาสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อหาความผิดปกติ เนื่องจากถ้าตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็ว ผลการรักษามักได้ผลดี

โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุได้แก่

ต้อกระจก

พบได้ทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น เกิดจากเลนส์แก้วตาภายในดวงตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ, การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตบ่อยๆ หรือแสงแดดจ้า, โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

อาการ ตามัวลง อาจเริ่มจากต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ ต่อมามัวลงมาก ปรับแว่นอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง บางคนอาจมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า

การรักษาและป้องกัน ต้อกระจกบางส่วนสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้ แต่เมื่อเป็นต้อกระจกแล้ว ไม่มียา หยอดตาหรือยารับประทานที่จะช่วยสลายต้อกระจกได้ การรักษาต้องทำการผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งในปัจจุบันใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) สลายต้อกระจก ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้อง เย็บแผล ผู้ป่วยมักจะกลับมามองเห็นเป็นปกติ ถ้าไม่มีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ตามัว

ต้อหิน

เป็นสาเหตุตาบอดถาวรที่สำคัญ เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดต้อหินเพิ่มขึ้นตามวัย ต้อหินเป็นโรคของเส้นประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสประสาทจากลูกตา ไปยังสมอง ทำให้สามารถมองเห็นภาพต่างๆ ได้

ปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความดันตาสูง กดทำลายเส้นประสาทตา ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน, อายุ 40 ปีขึ้นไป, การใช้ยาสเตียรอยด์, ได้รับอุบัติเหตุหรือผ่าตัดตามาก่อน

อาการ โดยทั่วไปช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ต่อมาจะสูญเสียการมองเห็นจากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อยๆ และตาบอดในที่สุด

อาจมีต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ที่มีอาการปวดมาก เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มัวลงมาก และตาแดง ซึ่งเป็นอาการเร่งด่วนที่ต้องรีบมาพบแพทย์

การรักษา การรักษาต้อหินส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยยาลดความดันตา หรือการยิงเลเซอร์โดยผู้ป่วยจะต้องมาตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดต่อไป

ปัจจุบันไม่มีการรักษาที่สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมาเท่าคนปกติ แต่สามารถชะลอไม่ให้โรคแย่ลงได้

จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม

เกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่บริเวณส่วนกลางของจอตา ซึ่งจุดนี้ใช้รับรู้รายละเอียดและสีของภาพ ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่ยังเห็นบริเวณรอบข้างของภาพได้เป็นปกติ

สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการสะสมของอนุมูลอิสระ และของเสียจากการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ของเซลล์รับแสง เซลล์เม็ดสีใต้จอตา และหลอดเลือดในบริเวณจุดรับภาพชัด ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ที่จุดภาพชัด

ปัจจัยเสี่ยง ปัจจุบันพบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนร่วมในการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคคือ ภาวะสูงอายุ, แสงอัลตราไวโอเลตหรือแสงอาทิตย์, การสูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง

อาการ ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด

การรักษาและป้องกัน ผู้ป่วยต้องมีความรู้และเข้าใจในโรคนี้ รับประทานยาต้านอนุมูลอิสระตามข้อบ่งชี้เพื่อชะลอการดำเนินโรคและลดโอกาสเกิดหลอดเลือดผิดปกติ ในกรณีที่มีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว จะมีการรักษาหลายวิธี ได้แก่ ฉีดยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดหลอดเลือดเข้าในวุ้นตา การใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง การใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูง บางกรณีอาจพิจารณาใช้การผ่าตัดวุ้นตาและจอตาร่วมด้วย การรักษาและติดตามผลต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง

ในด้านการป้องกัน ผู้สูงอายุควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี เมื่อมีการมองเห็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ ควรทดสอบการมองเห็นเป็นประจำด้วยตารางตรวจจุดภาพชัด หรือมองสิ่งที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตูหน้าต่าง ถ้าพบความผิดปกติควรรีบมาพบจักษุแพทย์ หยุดสูบบุหรี่ และสวมแว่นกันแดด

ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอตา ทำให้เลือดและสารต่างๆ รั่วซึมออกจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะซีด

อาการ ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจตาอาจพบจุดเลือดออกที่จอตา หากมีอาการตามัวแสดงว่าเบาหวานขึ้นจอตาเป็นมากแล้ว

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ หากพบว่า มีเบาหวานขึ้นจอตา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาต่อไป

การรักษาและป้องกัน โดยการรักษามุ่งหวังไม่ให้โรคลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ เช่นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอย่างเหมาะสม สามารถชะลอความรุนแรงของโรคได้

ในปัจจุบันการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตามี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค
ภาวะนี้สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเครื่องมือการตรวจและรักษาที่มีในปัจจุบัน

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง หากแพทย์ตรวจพบเบาหวานขึ้นจอตา แพทย์จะนัดตรวจติดตามต่อเนื่องหรือพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะโรคที่ตรวจพบ

นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย อ.นพ.พิทยา ภมรเวชวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)



กำลังโหลดความคิดเห็น