xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : เรื่องของพระใบลานเปล่า (ตอนที่ ๔)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระใบลานเปล่า หมายถึง พระโปฐิละ คำว่า “โปฐิละ” แปลว่าใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉานในพระธรรมวินัยมาก เป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า “โปฐิละๆ” เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่าน ให้เต็มไปด้วยอักษรคือธรรม

๒. การทำกรรมฐานทางมโนทวาร
ง่ายกว่าการทำกรรมฐานทั้ง ๖ ทวาร (ต่อ)


ส่วนการรู้อารมณ์ทางมโนทวารทำได้ง่ายกว่ากันมาก เพราะพวกเราไม่ค่อยสนใจที่จะรู้ความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่ค่อยได้พอกพูนความรู้ผิดเข้าใจผิดเอาไว้มากนัก เพียงแต่เมื่อพวกเราได้ยินว่าจะให้รู้นามธรรม ก็มักตีโพยตีพายว่ายากเอาไว้ก่อน เพราะเชื่อว่ารูปธรรมมองเห็นได้ง่ายกว่านามธรรม

แท้จริงอารมณ์ทางใจ เช่น ความยินดียินร้าย และกุศลกับอกุศลต่างๆ ซึ่งเกิดร่วมกับชวนจิตนั้น เกิดอยู่ได้คราวละ ๗ ขณะจิต มากกว่าจิตที่รู้รูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะ ซึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงครั้งละขณะจิตเดียว นอกจากนี้พวกเราต่างก็รู้จักอารมณ์ทางใจกันอยู่แล้ว ทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ลึกลับอะไรเลย เพียงแต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจถึงเท่านั้นเอง ในขณะที่รูปปรมัตถ์นั้นแทบไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนเลย บรรดารูปที่ว่ารู้ได้ง่ายเห็นได้ง่ายและเห็นกันดาษดื่นอยู่เสมอนั้น ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นอารมณ์บัญญัติ เช่น สิ่งที่ตามองเห็นอาจจะเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นพระ เป็นดอกไม้ และดวงดาว และเสียงที่ได้ยินก็อาจจะได้ยินเป็นเสียงพูด เสียงเพลง เสียงพระสวดมนต์ เสียงลมพัด และเสียงสุนัขเห่า แม้ร่างกายของตนก็เห็น ว่าเป็นตัวเรา เป็นมือ เท้า ท้อง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นอารมณ์บัญญัติซึ่งเราคุ้นเคยมานาน จนปิดบังรูปปรมัตถ์เอาไว้ได้อย่างมิดชิดทีเดียว

ผู้เขียนเคยถามเพื่อนนักปฏิบัติบ่อยๆ ว่า

รู้จักความโกรธไหม รู้จักความเสียใจ ความแค้นใจ ความคับข้องใจ ความอาฆาต ความกังวล ความกลัว และความอิจฉาหรือไม่

รู้จักความโลภ ความรัก ความใคร่ ความดีใจ ความห่วง ความหวง และความตระหนี่หรือไม่

รู้จักความเผลอใจลอย ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย และความซึมเซาหรือไม่ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จัก

ดังนั้น จะกล่าวว่านามธรรมเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากได้อย่างไร ถ้าใส่ใจตามสังเกตเพียงไม่นาน ก็รู้จักสภาวะของนามธรรมทั้งหลายได้แล้ว

ความจริงทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ต่างก็รู้จักนามธรรมด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติจะรู้นามธรรมได้ช้า เช่น โกรธไปเมื่อวานนี้ วันนี้จึงเพิ่งนึกได้ว่าเมื่อวานโกรธมากไปหน่อย ส่วนผู้ปฏิบัติรู้ได้เร็ว คือพอโกรธก็รู้ว่าโกรธ โดยไม่มีอารมณ์อย่างอื่นมาคั่นเสียก่อน ผู้ปฏิบัติและผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติมีความต่างกันเพียงเท่านี้เอง

ดังนั้น การตามรู้นามธรรมซึ่งปรากฏทางมโนทวาร จึงไม่มีเรื่องยุ่งยากหรือมีกรรมวิธีพิเศษพิสดารใดๆ หากนามธรรมใดปรากฏ ก็ตามรู้ไปตามนั้นได้เลย

ประการที่สอง ยากที่จะอบรมให้เกิดสติระลึกรู้ได้ทันอารมณ์ที่ปรากฏทางทุกๆทวาร การจะให้สติเกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจะต้องหัดตามรู้สภาวธรรมมากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒.๑ เพื่อว่าเมื่อสภาวธรรมใดที่จิตรู้จักแล้วปรากฏขึ้น สติจะได้เกิดขึ้นระลึกรู้สภาวธรรมนั้นโดยไม่ต้องจงใจทำให้สติเกิดขึ้น ในขณะที่การตามรู้อารมณ์ที่เกิดทางมโนทวารที่เดียวเป็นงานที่น้อยกว่ากันมาก และไม่ก่อความสับสนให้จิตที่จะต้องคอยเปลี่ยนไปตามรู้อารมณ์ทางทวารนั้นที ทางทวารนี้ที จิตจึงมีโอกาสรู้จักและจดจำสภาวะของอารมณ์ได้ง่าย แล้วสติก็จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องจงใจทำสติให้เกิดขึ้น เช่น เมื่อจิตรู้จักว่าความใจลอยเป็นอย่างไร ต่อมาพอใจลอย สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องจงใจ คือระลึกได้ว่าความใจลอยเกิดขึ้นและดับไปแล้ว แล้วจิตจะเกิดความรู้ ตื่น และเบิกบานขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

การตามรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ก็คล้ายกับการที่พนักงานของศูนย์การค้า จะต้องจำสินค้าให้ได้ทั้งศูนย์การค้า เผื่อลูกค้าถามถึงสินค้าใดก็จะระลึกได้ว่าวางขาย อยู่ที่ไหน นี้เป็นงานที่ยากกว่าการจำของในบ้านตนเอง หรือในห้องนอนของตนเอง หรือบนโต๊ะทำงานของตนเอง ซึ่งมีสิ่งของไม่มากนัก จึงสามารถระลึกได้โดยง่ายว่าของสิ่งไหนอยู่ที่ไหน

ขอขยายความเรื่องสติสักเล็กน้อย คือสตินั้นเป็นสภาวธรรมในฝ่ายกุศลก็จริง แต่สติก็มี ๒ ประเภท คือมิจฉาสติหรือสติธรรมดา กับสัมมาสติ

มิจฉาสติเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์อันเป็นบัญญัติ เช่น มีสติไม่หลงลืมคำบริกรรมภาวนา มีสติไม่หลงลืมการยกเท้าย่างเท้า มีสติไม่หลงลืมงานที่กำลังทำอยู่ มีสติในการอ่านหนังสือ และมีสติในการขับรถ เป็นต้น

ส่วนสัมมาสติเป็นความระลึกได้ถึงอารมณ์ปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏอยู่ ไม่ประมาทหลงลืมปล่อยให้อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นโดยไม่รู้เท่าทัน

สติธรรมดาใช้ประโยชน์ในการทำงานที่เป็นกุศลและใช้ในการทำสมถกรรมฐาน ส่วนสัมมาสติใช้ประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สติธรรมดาเกิดขึ้นโดดๆได้ แต่สัมมาสติต้องเกิดร่วม กับองค์มรรคทั้ง ๗ ที่เหลือเสมอ

สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำสติให้เกิดขึ้นได้ และไม่มีใครรักษาสติเอาไว้ได้ตามใจปรารถนา

สติที่อยากให้เกิดแล้วพยายามทำให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจงใจกำหนดรู้อารมณ์ ไม่ใช่สติจริงๆ เพราะในระหว่างที่จงใจทำสติอยู่นั้น ตัณหายังแทรกอยู่ในจิต จิตจึงเป็นอกุศลจิตซึ่งจะมีสติไม่ได้เลย

ดังนั้น ไม่ต้องพยายามกำหนดรู้อารมณ์เพื่อให้เกิดสติ แต่ควรหมั่นทำเหตุใกล้ของสติ คือหมั่นตามรู้กายหมั่นตามรู้จิตอยู่เนืองๆ จนจิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ แล้วสติจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีความอยากเป็นตัวนำหน้า

สติเป็นธรรมชาติที่เกิดดับๆ พร้อมกับจิตเป็นขณะๆ จึงไม่มีใครสามารถรักษาสติให้ตั้งอยู่นานๆได้ ดังนั้น ไม่ต้องพยายามทำสติให้เกิดขึ้นนานๆ เพียงให้สติเกิดบ่อยๆ ก็พอแล้ว ยิ่งบ่อยมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ทั้งนี้สติจะเกิดได้บ่อย ถ้าจิตรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้มากและแม่นยำ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น