xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : เรื่องของพระใบลานเปล่า (ตอนที่ ๒)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๒. การทำกรรมฐานทางมโนทวาร
ง่ายกว่าการทำกรรมฐานทั้ง ๖ ทวาร (ต่อ)

๒.๑ การทำกรรมฐานทางทวารทั้ง ๖ เป็นงานมาก

ที่กล่าวว่าเป็นงานที่มากก็เพราะ

๑. ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษา ทำความรู้จัก และทำความเข้าใจสภาวธรรมเป็นจำนวนมาก ได้แก่
(ก) อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์
(ข) อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
(ค) สังโยชน์ ๑๐ ประการ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในและภายนอก

๒. ต้องมีสติมีปัญญาตามรู้เท่าทันความเกิดดับของ รูปนามทางทวารทั้ง ๖ อันได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอกและสังโยชน์ด้วย ซึ่งในเวลาที่ปฏิบัติจริง สติปัญญาจะต้องหมุนจี๋อยู่รอบตัว นับว่าเป็นงานที่หนักมากทีเดียว

มีข้อน่าสังเกตว่า คำสอนเรื่องการเจริญวิปัสสนาด้วยการตามรู้การกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ซึ่งปรากฏอยู่ในอายตนบรรพ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้หยุดการรับรู้อารมณ์ หรือให้พยายามหยุดการทำงานของจิตภายหลังการกระทบอารมณ์ทางตาและทางหูเป็นต้น แต่ท่านทรงสอนให้รู้ถึงกิเลสหรือสังโยชน์ที่เกิดตามมาภายหลังการกระทบนั้นด้วย

เพื่อนนักปฏิบัติที่สนใจจะเจริญวิปัสสนาด้วยการตามรู้การกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ จึงควรทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ครบถ้วน คือ ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ และเมื่อกระทบอารมณ์แล้วก็กำหนดกดข่มหรือคิดพิจารณา เช่นพิจารณาว่า “สีเป็นรูป รู้เป็นนาม” ฯลฯ เพื่อทำจิตให้นิ่งเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันเป็นกิเลสต่างๆได้ เพราะนั่นน่าจะเป็นการเพ่งอารมณ์หรือเพ่งจิต มากกว่าการรู้รูปนามตามความเป็นจริงไปตามธรรมชาติธรรมดาของเขา

การเจริญสติด้วยการรู้การกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ เป็นงานมาก ในขณะที่การตามรู้สภาวธรรมอยู่ทางมโนทวารทางเดียวดังที่เณรสอนท่านพระโปฐิละ เป็นงานที่น้อยกว่ากันหลายเท่า เพราะเป็นการตามรู้อารมณ์ในที่เดียว คือเมื่อมีการรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายแล้ว (สัมปฏิจฉันน) จิตจะรับอารมณ์นั้น แล้ว(สันตีรณจิต)พิจารณาอารมณ์นั้น จากนั้น (โวฏฐัพพนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต) จึงตัดสินให้เกิดกุศลหรืออกุศล เกิดความยินดีหรือความยินร้าย เกิดโสมนัส โทมนัส หรืออุเบกขาเวทนาขึ้นที่จิตที่เดียวเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติพึงสนใจตามระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นกับจิต เท่านี้ก็พอแล้ว แต่ระวังอย่าให้เกิดการเพ่งหรือถลำรู้ดังที่ได้กล่าวมาในที่ต่างๆ หลายคราวแล้ว

เปรียบเสมือนมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง บ้านหลังนี้มีประตูเข้าออกเพียงทางเดียว แต่บ้านหลังนี้มีรั้วกว้าง มีประตูรั้ว ถึง ๕ ทาง ถ้าเจ้าของบ้านมัวแต่ระวังตัวคอยดูคนที่จะผ่านประตูรั้วเข้ามาทั้ง ๕ ทาง รวมทั้งต้องระวังคนจะผ่านเข้าประตูบ้านมาด้วย เจ้าของบ้านก็จะเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง

แต่ถ้าเจ้าของบ้านใจเด็ด ก็ไม่จำเป็นต้องระวังตัวจนเคร่งเครียดคอยเหลียวซ้ายแลขวาดูประตูรั้วอยู่ตลอดเวลา เพียงคอยชำเลืองดูแค่ประตูบ้านที่เดียว และชำเลือง เป็นครั้งคราวก็พอแล้ว อย่าทำตัวเป็นยามเฝ้าประตูกรมทหาร ที่เฝ้ายามอย่างเคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย แต่พึงทำตัวเป็นเจ้าของบ้าน คือทำงานอื่นไปด้วย หรือพักผ่อนไปด้วย แล้วคอยชำเลืองดูประตูบ้านเป็นครั้งคราวก็พอแล้ว

ดังนั้น เมื่อตาเห็นรูป แทนที่จะพยายามวิเคราะห์รูป ก็ให้กลับมารู้ทันจิตตนเอง เมื่อหูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส และกายกระทบสัมผัสที่เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว หากเกิดปฏิกิริยาหรือความรู้สึกใดๆขึ้นที่จิต ก็ให้มีสติรับรู้ปฏิกิริยาหรือความรู้สึกนั้นเร็วๆ หน่อย หรือถ้าจิตเกิดกิริยาอาการอย่างใด ก็ให้รู้ทัน กิริยาอาการของจิตนั้นด้วย

ด้วยวิธีการนี้จิตจะมีสติรู้อารมณ์ด้วยความตั้งมั่น รู้อย่างสบายๆ ไม่เคร่งเครียด จิตใจเบาสบาย อ่อนโยนนุ่มนวล คล่องแคล่วว่องไว เปิดทางให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของจิตและอารมณ์ได้ตามความเป็นจริง

พระใบลานเปล่าท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ไม่นานก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ส่วนผู้ที่ตะลุมบอนปฏิบัติโดยคอยส่งสติไปแช่อยู่ทางทวารทั้ง ๖ ก็คงจะต้องเหน็ดเหนื่อยต่อไปอีกนาน พร้อมกับคิดว่าเรามีบารมีน้อย คงต้องปฏิบัติอีกเป็นแสนๆชาติจึงจะบรรลุธรรมได้

พระใบลานเปล่า หมายถึง พระโปฐิละ คำว่า “โปฐิละ” แปลว่าใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉานในพระธรรมวินัยมาก เป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า “โปฐิละๆ” เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่าน ให้เต็มไปด้วยอักษรคือธรรม

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น