xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๘. ผลของการปฏิบัติธรรม (ต่อ)

๘.๕ ความสุขเมื่อละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราของเราได้


เมื่อเจริญสติจนจิตเข้าใจและยอมรับข้อเท็จจริงว่า “ตัวเราไม่มี มีแต่รูปกับนาม” ก็เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติเริ่มเข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แล้วความรู้สึกของผู้นั้นจะเปลี่ยนแปลงไป คือจะเกิดความอบอุ่นและเบิกบานใจ คล้ายกับคนที่หลงทางกลางป่าทึบแล้วได้พบทางเดินไปสู่หมู่บ้าน

ผู้นั้นมีที่พึ่งคือพระรัตนตรัย แม้ชีวิตจะประสบปัญหา ร้ายแรงเพียงใด ก็เข้าใจได้ว่า “ความทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีตัวเราผู้เป็นทุกข์” ความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์กายทุกข์ใจจะเพิ่มขึ้น รู้สึกว่าชีวิตมั่นคงขึ้น และรู้ว่าอนาคตจะต้องดีกว่าปัจจุบัน แม้จะต้องตายลงเมื่อใด ก็มีความมั่นใจว่าจะต้องมีสุคติเป็นที่ไป ไม่มีทางตกต่ำอีกต่อไป

๘.๖ ความสุขเมื่อละความยึดถือรูปนามได้

ผู้ที่ละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราได้แล้ว เมื่อตามรู้รูปนามต่อไปก็จะเกิดพัฒนาการทางปัญญาในทางที่จะละความยึดถือรูปนามไปตามลำดับ

เริ่มจากการได้เห็นความจริงว่าขันธ์ทั้งหลายเป็นตัวทุกข์ แต่ถ้าจิตไม่หลงยินดียินร้ายในขันธ์ จิตก็ไม่เป็นทุกข์ หากจิตหลงเข้าไปยึดถือขันธ์ จิตก็เป็นทุกข์ เมื่อเห็นอย่างนี้มากเข้า ในที่สุดจิตก็ถอดถอนตนเองออกจากขันธ์อื่นๆ แล้วจิตก็ทรงตัวอยู่กับจิต ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติจะคอยประคองถนอมรักษาจิต ไม่ให้เข้าไปข้องแวะกับขันธ์และอารมณ์ทั้งปวง เพราะกลัวจิตจะเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก

แต่ไม่ว่าจะพากเพียรรักษาจิตให้ดีวิเศษสักเพียงใดก็ตาม ถึงวันหนึ่งที่ปัญญาแก่รอบ ผู้ปฏิบัติก็จะสังเกตพบว่า จิตก็ยังคงตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆนั่นเอง โดยบางท่านเห็นว่าจิตนี้ไม่เที่ยง คือเศร้าหมองแล้วก็ผ่องใส ผ่องใสแล้วก็เศร้าหมอง

บางท่านเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์ จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด จะปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่ง จิตก็เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ในตัวเองอยู่แล้ว จะทำให้เป็นตัวดีไปไม่ได้เลย รวมทั้งจิตไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งได้นาน และบางท่านเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา เป็นของบังคับไม่ได้ และเป็นธรรมชาติอันเดียวกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อจิตเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตอย่างนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตจะเกิดอาการสลัดคืนจิตให้กับธรรมชาติไปอย่างฉับพลัน

เมื่อจิตสลัดจิตและขันธ์อื่นๆ คืนให้ธรรมชาติไปแล้ว นั้น จิตจะเห็นประจักษ์ว่า กายนี้ใจนี้กับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวรวด กายนี้ใจนี้หรือรูปนาม/ขันธ์ ๕ ที่ เคยยึดถือและสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราและแยกออกจากธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่นั้น แท้จริงแล้วก็คือส่วนหนึ่ง ของธรรมชาติทั้งปวงนั่นเอง แต่เพราะความเขลาแท้ๆ ทำให้ไปสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวเราแยกออกจากสิ่งอื่นๆ

เปรียบเทียบก็คล้ายกับว่ามีบุคคลคนหนึ่งเดินเข้าไปใน สวนสาธารณะ เขาจะขีดวงแยกตนเองออกจากสิ่งอื่นๆ ในสวนสาธารณะนั้น โดยรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เป็นคนละสิ่งกับคนอื่น สัตว์ ต้นไม้ เนินดิน ลำธาร ฯลฯ

แต่เมื่อเขาสามารถสลัดคืนจิตให้กับธรรมชาติได้แล้วอย่างฉับพลัน เขาก็จะพบว่า แท้จริงแล้วกายใจของเขาก็คือส่วนหนึ่งของทุกสิ่งที่แวดล้อมเขาอยู่นั่นเอง โดยกายก็เป็นวัตถุธาตุเช่นเดียวกับวัตถุอื่น และจิตก็เป็นธรรมชาติ หรือธาตุอีกชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้นเอง เท่านี้ความรู้สึกแบ่งแยกเป็นเขาเป็นเราอันเกิดจากความเขลา ก็จะหมดไป เพราะประจักษ์แล้วว่าตัวเราไม่มี มีแต่ธรรมชาติที่เป็นรูปนามล้วนๆ เท่านั้นเอง

เมื่อเห็นกายใจเป็นอันเดียวกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่แล้ว ฉับพลันนั้นผู้ปฏิบัติก็จะพบสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่งปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา ชาวเซนสมมุติเรียกสิ่งนี้ ว่ามหาสุญญตา ธรรมนี้เป็นความว่างปราศจากรูปนาม ปราศจากความปรุงแต่งและความเคลื่อนไหวใดๆทั้งสิ้น ธรรมนี้เป็นหนึ่งเดียวรวด นิ่ง เงียบสนิท และปราศจากเจ้าของ

เมื่อรู้เห็นธรรมนี้แล้วแม้จะต้องตายลงเดี๋ยวนี้ก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะรู้แล้วว่าไม่มีใครเกิดและไม่มีใครตาย มีแต่ธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ธรรมชาติคือธรรมที่เกิดตายก็เป็นไปตามสภาพของเขา ส่วนธรรมที่ไม่เกิดไม่ตาย ก็เป็นไปตามสภาพของเขา จะหาสันติสุขใดเทียบเท่าธรรมอย่างหลังนี้ไม่มีอีกแล้ว

สำหรับขันธ์ก็ยังมีอยู่ แต่ขันธ์ก็ไม่เกี่ยวข้องหรือกระทบเข้าถึงธรรมนั้นเลย และไม่ถูกถือไว้ให้เป็นภาระกดถ่วงจิตใจอีกต่อไป หมดภาระต่อขันธ์เพียงเท่านี้ ขันธ์ก็ทำหน้าที่ของเขาต่อไป และเป็นไปตามปัจจัยปรุงแต่งของเขา

และที่น่าอัศจรรย์มากก็คือตัวจิตนั้นเอง จิตก็เป็นสิ่งที่ถูกปล่อยวางไปด้วยพร้อมกับขันธ์อื่นๆ ไม่มีภาระที่จะต้องอบรมขัดเกลาหรือถนอมรักษาอีกต่อไป จะสุขจะทุกข์ จะดีจะชั่ว ก็ไม่ก่อให้เกิดความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมาถึงธรรม

จิตใจดูราวกับจะมี ๒ ลักษณะ คือจิตในส่วนของขันธ์ ก็ทำหน้าที่ของเขาในการรู้อารมณ์รูปนามและบัญญัติต่อไป แต่ใจที่ไปรู้มหาสุญญตานั้นมันเงียบสนิทและบริสุทธิ์ผุดผ่องจริงๆ ไม่มีอะไรในนั้นสักจุดสักแต้มเดียว และไม่มีการทำงานแม้แต่การหมายรู้ใจ ใจนั้นแหละทรงธรรมไว้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ธรรมนั่นแหละทรงธรรมไว้ ชาวเซนเรียกจิตหรือใจอันหลังนี้ว่าจิตเดิมแท้บ้าง จิตหนึ่งบ้าง และเมื่อมีกิจ เช่น มีความจำเป็นจะต้องสัมผัสหรือสัมพันธ์กับโลก จิตก็ทำหน้าที่รู้อารมณ์รูปนามและบัญญัติอย่างเป็นกิริยาไปอย่างนั้นเอง เป็นการอนุโลมตามโลก และเมื่อหมดกิจการงานแล้ว ใจก็รู้ธรรมไปและมีความสุขอันมหาศาลอยู่กับธรรมนั้นเอง

เมื่อปฏิบัติมาถึงจุดนี้จะพบว่า จุดหมายปลายทางของการปฏิบัติ คือความพ้นทุกข์หรือความพ้นจากขันธ์จริงๆ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะให้ได้ความสุข แต่ถ้าจะกล่าวในแง่ของความสุข ก็เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน เพราะหมดเครื่องกดถ่วงทิ่มแทงจิตใจเสียแล้ว ด้วยความไม่ถือมั่นในรูปนามตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อใกล้เวลาที่ขันธ์จะแตกดับ จิตจะไม่พะวงในขันธ์ จะปล่อยขันธ์ทิ้งแล้วหดความรับรู้เข้ามารู้เฉพาะธรรมอันไม่เกิดไม่ตาย นั้น แต่ก็ไม่ได้ยึดถือ เมื่อสิ้นชีวิตคือสิ้นความสืบต่อของขันธ์แล้ว ก็เป็นอันหมดเรื่องกันแต่เพียงเท่านี้

หมายเหตุ : ติดตามอ่าน “เรื่องของพระใบลานเปล่า” ในฉบับหน้า

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น