xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : เรื่องของพระใบลานเปล่า (ตอนที่ ๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๑. เรื่องราวของพระใบลานเปล่า

อรรถกถาธรรมบทได้กล่าวถึงเรื่องราวการปฏิบัติธรรมของพระเถระรูปหนึ่งชื่อพระโปฐิละ ความจริงท่านคงมีชื่ออย่างอื่น ส่วนคำว่าโปฐิละน่าจะเป็นฉายาใหม่ของท่านที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกขึ้นก่อน

คำว่า “โปฐิละ” แปลว่าใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม

พระโปฐิละเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉาน ในพระธรรมวินัยมาก ท่านเป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง คงเรียนแต่พระปริยัติธรรมเท่านั้น ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า “โปฐิละๆ” เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ธรรมดาของครูบาอาจารย์ผู้มีความกรุณาต่อศิษย์ ย่อมขวนขวายที่จะให้ศิษย์ได้ดี พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงทรงขวนขวายสั่งสอนพุทธสาวกด้วยวิธีการต่างๆ ตามจริตนิสัยและวาสนาบารมีของแต่ละคน โดยมุ่งประโยชน์ของศิษย์ผู้นั้น เป็นสำคัญ แม้บางกรณีจะต้องทรมานให้ได้อายก็ตาม

พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่านให้เต็มไปด้วยอักษรคือธรรม

ท่านมุ่งหน้าเข้าสู่วัดป่า เข้าไปขอเรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์ใหญ่ของวัดป่า ซึ่งพระอาจารย์ใหญ่ก็ปฏิเสธที่จะสอนท่าน เพื่อทรมานให้ท่านลดมานะละทิฏฐิเสียก่อน ท่านก็เข้าไปขอเรียนกรรมฐานจากพระเถระลำดับรองลงไปตามลำดับจนถึงพระหนุ่มๆ แต่ไม่มีพระป่าแม้ แต่รูปเดียวที่ยอมสอนท่าน

แล้วท่านก็ยอมลดทิฏฐิมานะจริงๆ เพราะในที่สุดท่าน ก็เข้าไปขอเรียนกรรมฐานกับสามเณรน้อยในวัดป่า

สามเณรน้อยซึ่งพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้กล่าวว่าท่านชื่ออะไร ระบุแต่ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ได้ทรมานพระโปฐิละให้สิ้นพยศ ด้วยการคาดคั้นพระเถระว่า ถ้าต้องการให้สามเณรสอนจริงๆ ท่านจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของอาจารย์เณรนะ พระเถระอยากได้ธรรมก็ยอมรับปาก แล้วทันใดนั้นสามเณรก็ออกคำสั่งที่เหมือนการกลั่นแกล้ง ท่านพระโปฐิละ ด้วยการสั่งให้ท่านลุยลงไปในสระน้ำทั้งที่ครองจีวรเนื้อดีราคาแพงอยู่ พระเถระท่านก็ลุยลงน้ำทันทีโดยไม่อิดเอื้อนเลย

นี่เป็นตัวอย่างของศิษย์กรรมฐานที่มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริงๆ พวกเรารุ่นนี้ควรดูตัวอย่างเอาไว้บ้าง การเรียนกรรมฐานเป็นการขัดเกลากิเลสตนเอง ถ้าเรียนด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยทิฏฐิคือความคิดเห็นส่วนตัว หรือเรียนด้วยมานะคือความถือตัว เรียนอย่างไรก็หวังความสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าพยายามขัดเกลาตนเองให้มาก โอกาสประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้น

พระมหาเถระลุยลงน้ำ พอชายจีวรเปียก สามเณรก็เรียกท่านให้กลับมา แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่งมีช่องอยู่ ๖ ช่อง มีเหี้ยเข้าไปอยู่ภายใน บุคคลผู้ประสงค์จะจับมัน พึงอุดช่องทั้ง ๕ ทำลายช่องที่ ๖ แล้วจึงจับเอา แม้ท่านก็จงปิดทวารทั้ง ๕ จงเริ่มตั้งกรรมฐานไว้ในมโนทวาร” สามเณรกล่าวเพียงเท่านี้ ท่านพระโปฐิละก็เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งในหนทางปฏิบัติทันที

๒. การทำกรรมฐานทางมโนทวารง่ายกว่าการทำ กรรมฐานทั้ง ๖ ทวาร

หลักของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมีอยู่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติ “มีสติรู้รูปนามตามความเป็นจริง จนเกิดความรู้ความเข้าใจรูปนามตรงตามความเป็นจริง และปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามลงได้” ท่านพระใบลานเปล่าจะต้องทราบหลักการปฏิบัติเหล่านี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะท่านแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัญหาของท่านก็คงเหมือนๆ กับปัญหาของพวกเราผู้สนใจการปฏิบัติธรรมในยุคนี้ คือ ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นการปฏิบัติได้อย่างไร เพราะมีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่อีกหลายอย่าง คือ

(๑) ที่ว่าให้มีสตินั้น สติเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ประเด็นนี้ยังเป็นปัญหากับนักปฏิบัติมาจนยุคนี้ เพราะแต่ละสำนักต่างก็มีวิธีที่แตกต่างกันในการสร้างสติ บางแห่งเน้นให้รู้ลมหายใจ บางแห่งให้รู้อิริยาบถ บางแห่งให้ทำจังหวะในการเคลื่อนไหว บางแห่งให้กำหนดอารมณ์ และบางแห่งให้ทำสมาธิอย่างจริงจังเสียก่อน เป็นต้น

(๒) รูปนามที่จะต้องรู้คืออะไร และจะรู้รูปนามใดดี เพราะรูปนามมีอยู่มากเหลือเกิน ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปัญหากับนักปฏิบัติมาจนถึงยุคนี้ ว่าควรจะเริ่มต้นปฏิบัติ ด้วยการรู้กายหรือรู้จิตดี เป็นต้น

(๓) จะรู้รูปนามได้อย่างไรจึงจะรู้ได้ตรงตามความเป็นจริง ในเมื่อรูปนามปรากฏและเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง ๖ อย่างรวดเร็วจนตั้งหลักดูไม่ทัน ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปัญหาของนักปฏิบัติมาจนถึงยุคนี้ บางแห่งก็พยายามหน่วงให้รูปนามเกิดช้าลง บางแห่งเมื่อรู้รูปนามแล้วก็ให้กำหนดรูปนามซ้ำลงไปอีกชั้นหนึ่ง และบางแห่งให้คิดพิจารณารูปนามหรือกายใจว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นต้น

ถ้าเราฟังคำสอนของสามเณรผู้เป็นพระอรหันต์ การปฏิบัติของเราจะทำได้ง่ายขึ้นมาก ไม่มีความยุ่งยากเหน็ดเหนื่อยใดๆเลย คือแทนที่จะพยายามรู้อารมณ์หรือทำกรรมฐานทางทวารทั้ง ๖ อันเป็นการพยายามจับเหี้ยหรือความปรุงแต่งโดยจ้องตะครุบอยู่ถึง ๖ ช่องทาง ก็ให้มาทำอยู่เพียงทวารเดียว คือทางมโนทวารหรือทวารใจ โดยการหัดรู้สภาวธรรมหรืออารมณ์ปรมัตถ์ที่เกิดขึ้นทางใจ อันเป็นปฏิกิริยาของจิตภายหลังการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ จนกระทั่งจิตรู้จักและจดจำสภาวะของปฏิกิริยาทั้งหลายได้ แล้วสติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ยิ่งรู้จักสภาวธรรมมาก สติก็ยิ่งเกิดบ่อย เมื่อมีสติบ่อยๆ อนุสัยจะค่อยถูกละไป และคุณธรรมฝ่ายดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินทรียสังวรศีล สัมมาสมาธิ และวิปัสสนาปัญญา ย่อมเกิดตามมา จนกระทั่งจิตบรรลุถึงวิมุตติได้ด้วยปัญญาขั้นสูงสุด คืออริยมรรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ต่อไป

การเจริญสติตามรู้ความเป็นจริงของอารมณ์ปรมัตถ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ มีข้อดีคือครอบคลุมการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ทุกอย่าง และจัดอยู่ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะสมกับผู้มีทิฏฐิจริตที่มีปัญญากล้ามากๆ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ปัญญายังไม่แก่กล้านัก การทำกรรมฐานทั้ง ๖ ทวาร จัดเป็นงานที่มาก ยากและเกินความจำเป็น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น