xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : เรื่องของพระใบลานเปล่า (ตอนที่ ๗)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระใบลานเปล่า หมายถึง พระโปฐิละ คำว่า “โปฐิละ” แปลว่าใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉานในพระธรรมวินัยมาก เป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า “โปฐิละๆ” เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่าน ให้เต็มไปด้วยอักษรคือธรรม

๓. วิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร


คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า พวกเราจะเจริญวิปัสสนาทางมโนทวารตามคำสอนของสามเณรอรหันต์ได้อย่างไร

การที่สามเณรสอนท่านพระโปฐิละว่า ให้ปิดทวารทั้ง ๕ เสียก่อนนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก และตัดความรับรู้ทางกายจริงๆ แต่หมายความว่า

เมื่อมีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น และกายแล้ว ให้มีสติรู้เท่าทันความรู้สึกและอาการทางจิตใจของตนเอง อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์นั้นไว้เนืองๆ

คำสอนนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ ๓ ประการคือ (๑) สติเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (๒) ความรู้สึกและอาการทาง จิตใจเป็นอย่างไร และ (๓) จะรู้ความรู้สึกและอาการทางจิตใจอย่างไร จึงจะเป็นการรู้ได้ตรงตามความเป็นจริง

ประเด็นแรก ที่ว่าสติคืออะไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ ๒ แต่สรุปได้ว่า สติคือความระลึกได้ ถึงรูปนามที่กำลังปรากฏ และสติเกิดขึ้นได้เพราะจิตสามารถรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ

ดังนั้น หน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่มุ่งปฏิบัติโดยรู้อารมณ์ทางมโนทวาร ก็คือการหมั่นสังเกตและทำความรู้จักกับสภาวธรรมที่ปรากฏทางมโนทวารเนืองๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าสติจะเกิดได้อย่างไรและจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยคอยสังเกตไปอย่างสบายๆ ว่า เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูกระทบเสียง และเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์แล้ว ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกอย่างใดบ้าง และจิตมีอาการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง หรือทำงานอย่างใดบ้าง ฝึกฝนอยู่อย่างนี้ไม่นาน จิตจะจดจำสภาวธรรมได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วสติก็จะเกิดขึ้นเองเมื่อสภาวธรรมที่จิตรู้จักแล้วปรากฏขึ้น

ประเด็นที่ ๒ ความรู้สึกและอาการทางจิตใจ อันเป็นปฏิกิริยาของจิตภายหลังการกระทบอารมณ์ทางทวารต่างๆ นั้น จำแนกได้ ๒ อย่างคือ

(๑) ตัวความรู้สึกต่างๆ เช่น ความรู้สึกโสมนัส ความรู้สึกโทมนัส ความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกโลภ ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกฟุ้งซ่าน ความรู้สึกสงสัย ความรู้สึกหดหู่ซึมเซา และความรู้สึกแช่มชื่นใจในอารมณ์ที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นต้น

กล่าวโดยย่อ ความรู้สึกเหล่านี้ได้แก่เจตสิกทั้งหลาย อันได้แก่ เวทนา สัญญา และสังขารนั่นเอง

(๒) กิริยาอาการของจิต ซึ่งเมื่อกระทบอารมณ์แล้วมักจะมีอาการต่างๆ เช่น เคลื่อนไปจับอารมณ์ทางทวารต่างๆบ้าง ตั้งมั่น อยู่ด้วยการถูกกดข่มบังคับไว้บ้าง ตั้งมั่นอย่างรู้ตื่นและเบิกบานบ้าง เป็นต้น กล่าวโดยย่อก็คือการรู้เท่าทันจิตทั้งหลายนั่นเอง

สิ่งที่ควรระวังอย่างหนึ่งก็คือ อย่าไปหลงดูเรื่องที่คิด เพราะเรื่องที่คิดเป็นอารมณ์บัญญัติ แต่ให้รู้ความรู้สึกและกิริยาอาการของจิตหรือพฤติกรรมของจิต เช่น อาการที่จิตคิด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้อารมณ์ปรมัตถ์เพื่อให้จิตเกิดปัญญา ส่วนการมีสติไปรู้อารมณ์บัญญัติเป็นการทำสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบ

ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติหัดทำความรู้จักกับสภาวธรรมทางใจเหล่านี้ให้มาก เริ่มจากสิ่งที่หยาบๆก่อนก็ได้ เช่นสังเกตทำความเข้าใจลักษณะของความโกรธ เป็นต้น เมื่อหัดรู้อารมณ์ทางใจที่หยาบๆ ได้แล้ว ต่อไปจะรู้อารมณ์ทางใจที่ละเอียดได้มากขึ้นเอง ให้หมั่นเข้ามาสังเกตความรู้สึกของตนเองบ่อยๆเท่านั้น แต่อย่าพยายามสังเกตด้วยการนั่งเฝ้ารอดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทางใจ เพราะจะไม่เกิดอะไรมากกว่าการ เพ่งจิต แล้วจิตจะเกิดความหนัก ความแข็ง ความนิ่ง ความซึมทื่อ หรือความว่างๆขึ้น และไม่มีสิ่งใดจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู

รวมความแล้วก็คือ (๑) อย่าหลงเพลิดเพลินไปกับอารมณ์ ภายนอกที่ปรากฏขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น และกายจนลืมตัวเอง (๒) อย่าหลงเพลินไปในโลกของความคิด และ (๓) อย่าเพ่งจิต ความหลงเป็นการแล่นตามกิเลส ส่วนการเพ่งเป็นการกดข่มบังคับตนเอง นับเป็นความสุดโต่งสองด้านที่พวกเราควรทำความรู้จักแล้วอย่าไปหลงข้องแวะด้วย

ประเด็นที่ ๓ จะรู้ความรู้สึกและอาการของจิตได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ยากเลย คือถ้าไม่หลงไปสู่ความสุดโต่ง ๒ ฝั่งก็ง่ายที่จะรู้สภาวธรรมได้ถูกต้องแล้ว ความสุดโต่ง ๒ ฝั่งคือ กามสุขัลลิกานุโยค อันได้แก่ การปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงเพลินไปตามอำนาจของกิเลส อันเป็นการหลงความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล กับอัตตกิลมถานุโยค อันได้แก่การเพ่งจ้อง บังคับ กดข่ม ควบคุมกายและใจของตนให้อยู่ในอำนาจ อันเป็นการหลงความ ปรุงแต่งฝ่ายกุศล

ผู้ปฏิบัติพึงปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำงานไปตามหน้าที่ และปล่อยให้จิตใจเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ไปตามธรรมดา แล้วจึงมีสติตามรู้ปฏิกิริยาเหล่านั้นไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ โดย

(๑) ไม่ห้ามการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้งปวงอันเป็นการกดข่มตนเอง

(๒) เมื่อกระทบแล้วก็ไม่หลงเพลินไปกับอารมณ์จนลืมตัว คือลืมจิตใจตนเอง อันเป็นการหลงตามกิเลส

(๓) ไม่กดข่มจิตใจให้ซึมทื่อไม่รู้ร้อนรู้หนาว เมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ อันเป็นการกดข่มตนเองในอีกลักษณะหนึ่ง

(๔) ไม่เข้าไปแทรกแซงจิตและอารมณ์ด้วยประการทั้งปวงอันเป็นการกดข่มตนเองในอีกลักษณะหนึ่ง ทั้งนี้ต้องมีจิตใจที่เป็นกลางต่ออารมณ์อันเป็นธรรมคู่ทั้งหลาย เช่น ไม่รักสุขเกลียดทุกข์ ไม่รักกุศลเกลียดอกุศล ไม่รักธรรมภายในเกลียดธรรมภายนอก และไม่รักธรรมละเอียดเกลียดธรรมหยาบ เป็นต้น แต่หากจิตไม่เป็นกลางก็ไม่ห้ามจิต เพียงให้รู้ว่าจิตไม่เป็นกลาง เท่านี้จิตก็จะเกิดความเป็นกลางขึ้นเอง แต่ถ้าพยายามจะทำจิตให้เป็นกลาง จิตจะยิ่งไม่เป็นกลางและเกิดความปรุงแต่งมากยิ่งขึ้น

ความเป็นกลางของจิตดังกล่าวนี้ เป็นความเป็นกลางที่เกิดจากปัญญาซึ่งเห็นว่าความปรุงแต่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นกลางเพราะการเพ่งจ้องบังคับกดข่มจิต ซึ่งปัญญาของจิตที่ทำให้จิตเป็นกลางต่อความปรุงแต่ง ทั้งปวงเรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ จิตที่มีสังขารุเบกขาญาณเป็นจิตที่เข้ามาจ่อประตูของการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ความเป็นกลางเพราะการเพ่งหรือการบังคับกดข่มจิตและอารมณ์เป็นเครื่องกีดกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน

ผู้ปฏิบัติพึงหมั่นรู้ความรู้สึกและอาการของจิตเรื่อยไป ให้รู้เท่าที่รู้ได้ คืออย่าอยากรู้ให้ไว อย่าอยากรู้ให้มาก และอย่าอยากรู้ให้ชัด แต่เมื่อตามรู้มากเข้าต่อไปก็จะรู้ได้ไว รู้ได้มาก และรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเอง เพราะสติปัญญาจะพัฒนาแหลมคมจนรู้เท่าทัน สภาวธรรมต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

เมื่อมีสติระลึกได้ถึงสภาวะของความรู้สึกและอาการของจิตที่ปรากฏด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นความจริงว่า ตัวความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียง “ผู้เดินผ่านหน้าบ้าน” เท่านั้น ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใด ส่วนจิตที่แสดงกิริยาอาการต่างๆ นั้น ก็แสดงไปตามความเคยชิน ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ และไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเช่นกัน แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดความยินดียินร้ายต่อสภาวธรรมทั้งปวง มีการคล้อยตามบางสิ่งและต่อต้านบางสิ่ง และเห็นผิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมา

สรุปแล้ววิธีการที่สามเณรอรหันต์สอนท่านพระโปฐิละนั้น ก็คือการเจริญวิปัสสนาโดยการตามรู้อารมณ์ปรมัตถ์อยู่ทางมโนทวารที่เดียว แทนที่ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามรู้อารมณ์หรือทำกรรมฐานทางทวารทั้ง ๖ โดยเบื้องต้นก็ให้หัดรู้สภาวธรรมหรืออารมณ์ปรมัตถ์ที่เกิดขึ้นทางใจ อันเป็นปฏิกิริยาของจิตภายหลังการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ จนกระทั่งจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมของปฏิกิริยาทั้งหลายได้ แล้วสติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ยิ่งรู้จักสภาวธรรมมาก สติก็ยิ่งเกิดบ่อย เมื่อมีสติบ่อยๆ อนุสัยจะค่อยถูกละไป และคุณธรรมฝ่ายดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินทรียสังวรศีล สัมมาสมาธิ และวิปัสสนาปัญญา ย่อมเกิดตามมา จนกระทั่งจิตบรรลุถึงวิมุตติได้ด้วยปัญญาขั้นสูงสุด คืออริยมรรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันต่อไป

ท่านพระโปฐิละเจริญกรรมฐานอยู่ทางมโนทวารจนอินทรีย์แก่กล้ามาก พอได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอย่างย่นย่ออีกครั้งหนึ่ง ก็สามารถบรรลุอรหัตตผลได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงปัญญามากอีกองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น