xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ (ตอนที่ ๘๐)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นวังสะโดยกำเนิดมี ๒ รูป คือ พระพากุละ และพระปิณโฑลภารทวาชะ แต่ละรูปมีประวัติน่าศึกษา ดังนี้

สถานะเดิม

พระพากุละ เกิดในวรรณะไวศยะ ตระกูลคหบดี
พระปิณโฑลภารทวาชะ เกิดในวรรณพราหมณ์ เป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน มีชื่อเดิมว่า “ภารทวาชะ”

ชีวิตฆราวาส

พระพากุละ หลังจากเกิดได้ ๕ วัน พวกพี่เลี้ยงได้นำไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา เพื่อความเป็นสิริมงคลและความไม่มีโรค ขณะที่พี่เลี้ยงกำลังอาบน้ำให้ท่านอยู่นั้น ปลาใหญ่ตัวหนึ่งได้มาฮุบท่านไปจากมือพี่เลี้ยง ครั้นฮุบเข้าไปแล้ว ปลาใหญ่ตัวนั้นก็เกิดอาการเร่าร้อนทุรนทุราย แหวกว่ายลงมาทางใต้จนมาถึงแม่น้ำคงคาแล้วถูกชาวประมงจับได้ และขาดใจตายในเวลาต่อมาไม่นาน หัวหน้าชาวประมงเห็นว่าเป็นปลาใหญ่ จึงนำไปขายให้แก่ภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี โดยหวังจะได้ราคาดี ภริยาเศรษฐีให้ชำแหละปลา ทันทีที่ผ่าท้องปลา ทุกคนในที่นั้นก็ต้องตกตะลึง เพราะเห็นเด็กชายตัวน้อยนอนอยู่ในท้องปลา ผิวพรรณผุดผ่องน่ารักและยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเศรษฐีเห็นแล้วก็เกิดความรักจึงรับเป็นลูกและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

ข่าวคราวเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีได้เด็กจากท้องปลาแพร่สะพัดไปทั่ว มารดาบิดาที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่เมืองโกสัมพีได้ทราบข่าวก็ดีใจมาก จึงรีบเดินทางมาพบภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ครั้นสอบถามถึงรายละเอียดแล้วจึงแจ้งว่า นั่นคือลูกชายของตนและจะขอรับกลับไปเลี้ยงดู

ฝ่ายภริยาเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีก็ไม่ยอมให้ เพราะเกิดความรักใคร่ในตัวเด็ก ในที่สุดเมื่อตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายจึงพากันไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี แล้วกราบทูลให้ช่วยตัดสิน พระเจ้าพาราณสีทรงวินิจฉัยแล้ว จึงตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์เท่ากันในตัว เด็ก เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายตกลงใจผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงดูเด็ก เพราะเหตุที่เติบโตอยู่ใน ๒ ตระกูล ต่อมาเด็กนั้นจึงชื่อว่า “พากุละ” แปลว่า “คน ๒ ตระกูล”

ท่านใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลทั้ง ๒ อย่างมีความสุขจนกระทั่งอายุถึง ๘๐ ปี

พระปิณโฑลภารทวาชะ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาจบไตรเพท เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน แต่ต่อมาถูกมาณพเหล่านั้นทอดทิ้งเพราะเป็นคนกินจุ จึงไปเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ และสอนมนต์อยู่ที่นั่น เนื่องจากเมืองราชคฤห์มีเจ้าลัทธิมาก ท่านในฐานะเป็นเจ้าลัทธิใหม่จึงไม่ใคร่ได้รับความนับถือ เป็นเหตุให้ได้ลาภสักการะน้อยและเลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง

การออกบวช

พระพากุละ ออกบวชเมื่ออายุได้ ๘๐ ปี เนื่องจากได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส

พระปิณโฑลภารทวาชะ เมื่อไปอยู่ในเมืองราชคฤห์แล้ว เห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก มีความประสงค์จะได้ลาภสักการะเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

การบรรลุธรรม

พระพากุละ ครั้นบวชแล้วเจริญวิปัสสนาอยู่ ๗ วัน รุ่งเช้าของวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระปิณโฑลภารทวาชะ เนื่องจากฉันอาหารจุอันเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า “ปิณโฑลภารทวาชะ” (ภารทวาชะ ผู้แสวงหาก้อนข้าว) ในเวลาต่อมาท่านได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ พระพุทธเจ้าทรงทราบความจริง จึงทรงใช้อุบายแนะนำให้ท่านรู้จักประมาณ ในการเที่ยวบิณฑบาต และการฉันอาหาร ท่านเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำแล้วเกิดความสลดใจ จึงเริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ

พระพากุละ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งใน ๕๐๐ รูปที่ร่วมทำปฐมสังคายนา

พระปิณโฑลภารทวาชะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้ทำงานสำคัญไว้หลายอย่างด้วยกัน เท่าที่ปรากฏหลักฐาน คือ รับคำท้าประลองฤทธิ์ ช่วยเพื่อนให้เป็นสัมมาทิฎฐิ และแสดงธรรมโปรดพระเจ้าอุเทน

- รับคำท้าประลองฤทธิ์ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ เศรษฐีคนหนึ่งมีความประสงค์จะทราบว่า มีพระอรหันต์อยู่ในโลกหรือไม่ จึงนำบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้ในที่สูงแล้วท้าว่า หากพระอรหันต์มีอยู่ในโลกจริง ให้เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์นั้นลงมา เศรษฐีเมืองราชคฤห์กำหนดเวลาไว้ ๗ วัน พระมหาโมคคัลลานะเห็นว่า ๖ วันแล้ว ยังไม่มีใครเหาะขึ้นไปนำบาตรลงมาตามคำท้า ท่านเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ด้วยโดยคนทั่วไปจะเข้าใจผิดได้ว่าไม่มีพระอรหันต์อยู่ในโลกจริง และวันนั้นเป็นวันที่ ๗ ซึ่งครบกำหนดตามที่เศรษฐีเมืองราชคฤห์ขีดเส้นตายไว้ จึงบอกพระปิณโฑลภารทวาชะ ซึ่งกำลังยืนห่มจีวรอยู่ด้วยกันเพื่อออกบิณฑบาต ให้เหาะขึ้นไปนำบาตรไม้จันทน์ลงมา พระปิณโฑลภารทวาชะทำตามที่พระมหาโมคคัลลานะบอก โดยท่านได้เข้าจตุตถฌาน พอออกจากฌานแล้วก็อธิษฐานให้ตัวเบาจนเหาะได้ ท่านเอานิ้วเท้าคีบหินแผ่นใหญ่เหาะเวียนรอบเหนือเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ จากนั้นจึงทำลายก้อนหินให้แหลกละเอียด แล้วไปยืนอยู่บนยอดเรือนของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ เศรษฐีเห็นแล้วเกิดศรัทธายอมรับว่า ท่านเป็นพระอรหันต์จริง จึงคว่ำหน้านอนราบกับพื้น แล้วอ้อนวอนให้ท่านลงมาจากยอดเรือน ผลของการแสดงฤทธิ์ของท่านครั้งนั้น ทำให้เศรษฐีเมืองราชคฤห์เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

- ช่วยเพื่อนให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่เช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า พระปิณโฑลภารทวาชะมีความประสงค์จะช่วยเพื่อนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เห็นประโยชน์ของการให้ทาน จึงกล่าวแนะนำ ครั้งแรกเพื่อนของท่านไม่เห็นด้วย เพราะสำคัญไปว่า ท่านต้องการจะให้ตนเสียทรัพย์ ท่านเองก็ไม่ละความพยายามที่ จะอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ เหตุที่เพื่อนของท่านไม่ยอมเข้าใจเพราะยังฝังใจอยู่กับความรู้สึกเก่าๆ ที่ว่าท่านเป็นคนกินจุ จึงทำให้เขาเห็นไปว่า การที่ท่านมาบอกให้เขาให้ทาน ก็เพราะเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง แต่ในที่สุดด้วยความปรารถนาดีของท่าน จึงทำให้เพื่อนเข้าใจ เกิดความเลื่อมใส คลายจากความเห็นผิด ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

- แสดงธรรมโปรดพระเจ้าอุเทน เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองโกสัมพี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า ในฤดูร้อนวันหนึ่ง พระปิณโฑลภารทวาชะได้ไปพักกลางวันที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนได้เสด็จมาพบและได้ตรัสสนทนากับท่านดังนี้

พระเจ้าอุเทน : พระคุณเจ้าภารทวาชะ เหตุใดพระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนองจึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรัก

พระปิณโฑลภารทวาชะ : เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มองดูหญิงเป็นเหมือนมารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว

พระเจ้าอุเทน : ขึ้นชื่อว่า จิตเป็นธรรมชาติโลเล แม้จะมองดูหญิงเป็นเหมือนมารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว แต่บางครั้งเราก็ยังรัก แต่เหตุใดพระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนองจึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์ตลอดชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรัก

พระปิณโฑลภารทวาชะ : เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาดูร่างกายเป็นของไม่สะอาด

พระเจ้าอุเทน : พระคุณเจ้าภารทวาชะ พระที่อบรมกาย จิต และปัญญามาดีแล้ว จึงจะนึกตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนได้ แต่พระที่ไม่ได้อบรมกาย จิต และปัญญา ยากที่จะนึกตามได้ เพราะบางคราวเราอยากนึกว่าไม่สวย แต่กลับเห็นไปว่าสวย แต่เหตุใด พระหนุ่มๆ ที่อยู่ในวัยคะนอง จึงประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

พระปิณโฑลภารทวาชะ : ขอถวายพระพร เพราะพระเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกายและนึกคิดเรื่องราวต่างๆ โดยมิให้ยึด ถือ มิให้กำหนดหมาย มิให้เกิดความยินดียินร้าย

คำสอนนั้นมีผลทำให้พระเจ้าอุเทนเข้าใจถึงชีวิตของพระในพระพุทธศาสนา แล้วเกิดความเลื่อมใสประกาศพระองค์นับถือพระรัตนตรัย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น