xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : ความวิตกกังวล ทำให้แก่เร็วและอายุสั้น คนอายุยืน (ตอนที่ 17)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ ในตอนที่แล้วๆมา ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เราอายุยืน ได้แก่ การกินอาหารน้อย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การมีชีวิตแบบเรียบง่าย ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ วิบากของกรรม การฝึกจิตให้สงบโดยสมาธิและวิปัสสนา และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อื่นๆ การประพฤติพรหมจรรย์

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เราแก่เร็วอีกประการหนึ่งก็คือ ความคิดวิตกกังวล เพราะคนคิดมากจะแก่เร็ว ผมหงอกเร็ว หงอกก่อนวัย (ดูภาพประกอบ) คิดมากจะนอนไม่หลับ คิดมากจะไม่สบายใจ คิดมากจะเครียดง่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ฯลฯ

จริงๆแล้ว ธรรมดาคนเราก็ต้องคิดอยู่เสมอ ความคิดทำให้เราสร้างสรรค์งานใหม่ๆขึ้นได้ ความคิดทำให้เราหาโอกาสทำความดีเสมอๆ ความคิดแบบนี้เป็นความคิดในด้านดี หรือความคิดที่เป็นกุศล แต่ในที่นี้จะหมายถึง ความคิดที่ไม่ดี เป็นอกุศล ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราไม่สบายใจ คุณภาพจิตใจไม่ดี ทำให้อายุสั้นลง

โดยธรรมชาติจิตใจของปุถุชน ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ เรามีความหลงลืมสติอยู่เป็นนิตย์ ดังนั้น จิตใจของเราโดยปกติจึงมักจะไหลไปทางต่ำ มีความหงุดหงิด มีความซัดส่าย มีความคิดมาก ฟุ้งซ่าน ดิ้นรน กวัดแกว่ง ควบคุมยาก ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน “ขุททกนิกาย ธรรมบท” ว่า

“คนมีปัญญาย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนนายช่างศร ดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น”

คนเราจะทำอะไร จะต้องคิดก่อนเสมอ คิดดีก็จะทำดี คิดไม่ดีก็จะทำไม่ดี ความคิดจึงเป็นบ่อเกิดของการกระทำ ถ้าทำความดีอายุจะยืน พบแต่ความสุขความเจริญ ถ้าทำไม่ดีอายุจะสั้น มีแต่ความทุกข์เดือดร้อน อันนี้เป็นผลของกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ

ความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ธรรมดาคนเรามักคิดอยู่สองเรื่องคือ เรื่องของอดีตและเรื่องของอนาคต หากคิดเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เช่น คิดถึงคนที่ชอบ เรื่องความสำเร็จ ก็จะทำให้มีความสุข ดีใจ แต่เมื่อคิดถึงเรื่องที่ไม่ชอบ ผู้ที่ไม่หวังดีต่อกัน ก็จะโกรธ จะเป็นทุกข์

ส่วนการคิดถึงเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เช่น จะได้แต่งงานหรือไม่ ชีวิตครอบครัวจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ฯลฯ คิดมากๆแล้วกังวลใจ พลอยทำให้นอนไม่หลับ

ความจริงถ้าเราพิจารณาดูเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ก็แก้ไขไม่ได้แล้ว ผ่านแล้วก็ต้องผ่านไปเลย ส่วนเรื่องที่ยังมาไม่ถึงก็ยังหวังอะไรไม่ได้ คิดไปก็ทุกข์ใจเปล่าๆ ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ ท่านเรียกว่า ทุกข์กินเปล่าหรือทุกข์ล่วงหน้านั่นเอง และท่านได้ให้ข้อคิดไว้ในหนังสือ “เพื่อความสุขใจ” ไว้อย่างน่าฟังว่า

“อย่าขังหรือจองจำตัวเองไว้กับอดีตอันทรมาน ไม่มีประโยชน์และไม่ฉลาดเลย อดีตจะเป็นอย่างไรก็ตามใจ แต่ปัจจุบันและอนาคตยังเป็นของเรา ขอให้เริ่มทำใหม่ สร้างใหม่ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อนาคตย่อมจะดีเอง ปัจจุบันจะเป็นอนาคตของอดีต ปัจจุบันจะเป็นอดีตของอนาคต เขาสร้างอนาคตกันด้วยปัจจุบันนั่นเอง”

ในทางการแพทย์พบว่า คนที่คิดมาก คิดในทางลบ จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เครียดง่าย และมีอาการซึมเศร้าได้ แก่เร็ว อายุสั้นลง และทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เป็นโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ได้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราฝึกการเจริญสติ เพราะการเจริญสติทำให้เราอยู่กับปัจจุบันอารมณ์ ทำอะไรก็อยู่กับสิ่งที่เราทำ ทำให้ใจเราไม่ตกไปในอดีตและอนาคต ทำให้สุขภาพดี อายุยืน ดังที่พระพุทธองค์เคยตอบปัญหาเทวดา ที่ถามท่านว่า

“ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์สงบอยู่ในป่า บริโภคอาหารวันละมื้อ ทำไมผิวพรรณจึงผ่องใส”

พระพุทธองค์ทรงตอบว่า


“ไม่เศร้าโศกในเรื่องที่ล่วงมาแล้ว ไม่กังวลถึงเรื่องทีี่ยังไม่มา(อนาคต) มีชีวิตอยู่ด้วยขณะปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส เพราะกังวลถึงเรื่องในอนาคตเพราะเศร้าโศกถึงอดีต คนเขลาทั้งหลายจึงซูบซีด เศร้าหมอง เหมือนไม้อ้อสดที่ถูกตัดแล้ว (มีแต่จะเหี่ยวแห้งไป)”
(อรัญญสูตร เทวตาสังยุต สังยุตตนิกาย)

ในทางการแพทย์ พบว่า คนไข้บางคนมีอาการคิดมาก คิดซ้ำๆ ซากๆ คิดเรื่องเดียวนานๆ ที่เรียกว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obessive Compulsive disorders) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องการการบำบัดทางจิตเวช

นักจิตบำบัดจะสอนให้คนไข้ฝึกหยุดความคิดด้วยวิธี การต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยคิดน้อยลงๆ สำหรับพุทธศาสนา ท่านสอนให้ฝึกการเจริญสติ ให้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ ฝึกการกำหนดรู้ที่ร่างกายและจิตใจ เวลาคิดก็มีสติรู้ตัว และกำหนดว่า “คิดหนอ คิดหนอ” แล้วปล่อยวาง ไม่เข้าไปยินดียินร้าย ตัดความพอใจและไม่พอใจออกไป ดังที่ท่านกล่าวในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ”

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา จึงเป็นการฝึกการกำหนดรู้ในกายและจิต เพื่อทำลายความยินดีพอใจหรืออภิชฌา และความยินร้ายไม่พอใจคือโทมนัสเสีย วางเฉยต่อสิ่งทั้งหลาย เราก็จะไม่เป็นทุกข์ การที่เราจะทำแบบนี้ได้ก็อาศัยการฝึกฝนอยู่เสมอๆบ่อยๆเป็นประจำ จะทำให้เกิดความชำนาญ ทำให้เราปล่อยวางได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ทำให้เราได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก ดังพุทธภาษิตที่ว่า

“อกิญฺจนํ อนาทานํ เอตํ ทีปํ อนาปรํ” - ความไม่กังวล ความไม่ยึดมั่น นั่นแหละเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของบุคคล หาใช่สิ่งอื่นไม่”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ประธานาธิบดีโอบามาเข้ามาทำงาน 44 วัน ในทำเนียบขาว เขาใช้ความคิดอย่างหนักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กำลังเลวร้าย ทำให้ผมหงอกอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น